ประกันสังคมออกมาตรการช่วยเหลือนายจ้างลูกจ้างที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดภาคใต้ ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนลง 2% เป็นเวลา 3 เดือน ม.ค.-มี.ค. พร้อมเสนอร่างกฎกระทรวงรับประโยชน์ทดแทนกรณีเหตุสุดวิสัย มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 180 วัน
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม เปิดเผยว่าคณะกรรมการประกันสังคมในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 มีมติให้ลดอัตราเงินสมทบและขยายเวลาการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้กับนายจ้างลูกจ้างที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดภาคใต้ ดังนี้
1. ลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง ลูกจ้าง ในเขตพื้นที่อุทกภัย 12 จังหวัดภาคใต้ ฝ่ายละร้อยละ 2 (จากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 3) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2560
1.1 นายจ้าง/ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จ่ายฝ่ายละร้อยละ 3
1.2 ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จ่ายเดือนละ 288 บาท
2. ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนของเดือนมกราคม – มีนาคม 2560 โดยไม่เสียเงินเพิ่ม
หมายเหตุ 12 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง และประจวบคีรีขันธ์
3. สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ.2560 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวัน ทั้งนี้ไม่เกิน 180 วัน โดยสำนักงานประกันสังคมจะได้เร่งดำเนินการเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามในกฎกระทรวง ฯ ดังกล่าวต่อไป
หมายเหตุ “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย หรือธรณีพิบัติภัย ตลอดจนภัยอื่น ๆอันเกิดจากธรรมชาติ ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนและถึงขนาดผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ
- 144 views