กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม แจงผลงานคณะกรรมการประกันสังคม ปี 59 1.ปรับปรุงบริการทางการแพทย์ เช่น ทำฟันไม่ต้องสำรองจ่าย 2.ปฏิรูปการลงทุน 3.พัฒนาสิทธิประโยชน์ เช่น คนพิการ ปรับปรุงบัญอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดโรคจากเดิม 31 รายการเป็น 95 รายการ 4.ขยายความคุ้มครองประกันสังคมให้ลูกจ้างส่วนราชการ คืนสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 39
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานคณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของคณะกรรมการประกันสังคม และที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ซึ่งผลการดำเนินงานของคณะกรรมการประกันสังคมที่ผ่านมาในปี 2559 มีดังนี้
1. การปรับปรุงบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนสามารถใช้บัตรประชาชน (Smart Card) ในการรับบริการประกันสังคม (นำร่องกรณีทันตกรรม) โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินโดยให้ผู้ประกันตน หรือสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรม สำหรับรายการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุดในอัตราที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตรา ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์
และให้สถานพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม เบิกค่าบริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤต (สีแดง) กับสำนักงานประกันสังคม โดยตรงในช่วงระยะเวลา 7 วันอันตราย ในเทศกาลประจำปี โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และอัตรา ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์
รวมถึงกำหนดแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และหลักเกณฑ์และอัตราค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ให้แก่ผู้ประกันตนโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาเป็นต้นไปที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ และตรวจได้เฉพาะรายการตามความเหมาะสมของอายุและรายการที่จำเป็น
2. ปฎิรูปการลงทุน ได้มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์ด้านการทุน ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2557-2561) ปรับสัดส่วนการลงทุน 2560-2561 กำหนดกรอบความเสี่ยง เพิ่มทางเลือกในการลงทุน ขยายผลการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในต่างประเทศเพื่อเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาวให้แก่กองทุน
ทั้งนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไขการนำเงินลงทุนไปจัดหาผลประโยชน์ ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรด้านการลงทุน แยกส่วนงานหน้าที่ความรับผิดชอบปฏิบัติการลงทุน (Operator) พร้อมกำหนดกรอบนโยบายยุทธศาสตร์ และแนวทางการลงทุน (Regulator)ให้มีความชัดเจนนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุน โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยนำเงินที่ได้ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานประกันสังคมไปลงทุน ซึ่งมีผลตอบแทน ระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม 2559 เป็นจำนวนเงิน 52,000 ล้านบาท
3. การพัฒนาสิทธิประโยชน์ ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์คนพิการ และปรับปรุงหลักเกณฑ์และบัญชีประเภทและอัตราอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดโรคกรณีสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะ หรืออวัยวะบางส่วนจากเดิม 31 รายการเป็น 95 รายการ เพิ่มสิทธิประโยชน์ค่ารักษาพยาบาล กรณีการให้ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วย Stroke และ STEMI กรณีผ่าตัดใส่อุปกรณ์เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ ปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน
และการปรับปรุงประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่องราคากลางยา Erythropoietin ปรับปรุงหลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และผู้ประกันตนที่เป็นโรคเอดส์ ปรับปรุง หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีผู้ประกันตนที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี จ(2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต
ปรับปรุงอัตราการจ่ายประโยชน์กรณีทันตกรรมสำหรับรายการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด ในอัตราที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 900 บาท/ราย/ปี มีผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ประมาณ 1 ล้านคน
ขยายสิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพ ระดับความสูญเสียไม่รุนแรงให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 30 ของค่าจ้างรายวันตามมาตรา 57 ไม่เกินระยะเวลา 180 เดือน หากผู้ทุพพลภาพยังทำงานได้แต่รายได้ลดลงจากเดิมให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในส่วนที่ลดลง แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของค่าจ้างตามมาตรา 57 ไม่เกินระยะเวลา 180 เดือน
เพิ่มสิทธิประโยชน์มาตรา 40 ได้มีการปรับเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย ประเภทผู้ป่วยในให้มากกว่าวันละ 200 บาท เพิ่มกรณีแพทย์มีความเห็นให้หยุดพักรักษาตัว เพิ่มค่าเดินทางกรณีผู้ประกันตนไปพบแพทย์ เพิ่มประโยชน์ทดแทนกรณีตาย เป็นเงินสงเคราะห์กรณีตาย จำนวน 3,000 บาท ฯลฯ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนออกพระราชกฤษฎีกา
4. ขยายความคุ้มครองประกันสังคม ให้ลูกจ้างส่วนราชการ เกษตร/ประมง/ป่าไม้ ฯลฯ ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คนขึ้นไปอยู่ภายใต้ความคุ้มครองประกันสังคม และขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่พ้นสภาพไปแล้วกลับมาเป็น ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 อีกครั้ง คาดว่าจะมีผู้ประกันตนมาตรา 39 เดิม ที่จะได้รับประโยชน์มากกว่า 900,000 ราย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 คณะกรรมการประกันสังคม และที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ยังคงมุ่งมั่น และทุ่มเทการทำงาน โดยยึดหลักการดำเนินงานภายใต้แนวทางของ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งการทำงานต้องปฏิบัติด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม ไม่แสวงหาผลประโยชน์ รวมถึงต้องปฏิรูประบบให้บริการทางการแพทย์ ลดความเลื่อมล้ำ บูรณาการงานด้านบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม อย่างเท่าเทียมมีคุณภาพ รวมถึงปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน เพื่อให้ผู้ประกันตนทุกคนในระบบประกันสังคมให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับแรงงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศอย่างยั่งยืน
- 36 views