สมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขฯ พร้อมเครือข่าย เผยความคืบหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือน ขรก. หลังยื่นหนังสือรองนายกวิษณุ ขอความเป็นธรรม เตรียมตั้ง คกก.พิจารณาปรับโครงสร้างเงินเดือนและค่าตอบแทน ขรก. พร้อมเปิดช่องทาง ขรก.ร่วมโหวตสนับสนุนผ่าน www.change.org เผย 2 วัน มีผู้ร่วมโหวตแล้วกว่า 600 คน หลังรณรงค์ ขรก.ร่วมส่งโปสการ์ดตรงถึงนายกฯ ร้องแก้ปัญหา
นางทัศนีย์ บัวคำ ประธานก่อตั้งสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย (สคสท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอัตราเพดานเงินเดือนของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และข้าราชการกระทรวงอื่นๆ ทั่วประเทศว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตัวแทนสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย รวม 32 องค์กร และเครือข่ายสมาชิกจาก ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) (ชวส.), ชมรมเจ้าพนักงานอาวุโส (ประเทศไทย) (ชอส.), ชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุข, ชมรมทันตาภิบาล 77 จังหวัด และเครือข่ายสาธารณสุขอื่นๆ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยมีเจ้าหน้าที่นิติกรสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับมอบหนังสือแทน
ทั้งนี้ในการเข้ายื่นหนังสือครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่ได้ยื่นหนังสือต่อรองนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ได้รับคำตอบว่ารองนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาปรับโครงสร้างเงินเดือนและค่าตอบแทนใหม่ พร้อมมอบให้เลขาธิการสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นเลขาธิการคณะกรรมการชุดนี้และคงต้องใช้เวลา เพราะเป็นเรื่องที่ต้องปรับทั้งระบบ ซึ่งหลังจากนี้เพื่อความชัดเจนคงต้องรอดูหนังสือคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ก่อน และหากมีคำสั่งการจริงภายใน 2 สัปดาห์ก็น่าจะมีการเคลื่อนไหวเพิ่มเติม
“เรื่องนี้อยากให้รัฐบาลเร่งให้ความสำคัญเพราะส่งผลกระทบต่อข้าราชการระดับปฏิบัติงานทั่วประเทศประมาณ 2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข 2-3 แสนคน ซึ่งยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรมและมีความเหลื่อมล้ำเรื่องเงินเดือนที่ชัดเจนมาก หากไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้จะมีผลต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะกำลังคนด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพประชาชน ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิ์ข้าราชการเหล่านี้ รวมถึงการเยียวยาข้าราชการที่ได้รับผลกระทบ”
นางทัศนีย์ กล่าวย้ำต่อว่า ปัญหาความไม่เป็นธรรมนี้ ก.พ.เองก็ทราบปัญหาดีและปล่อยทิ้งไว้นานเกือบ 10 ปี จึงควรรีบแก้ปัญหา แม้แต่นายวิษณุเองซึ่งเป็นประธานกรรมาธิการพิจารณา พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เองก็รับรู้ปัญหาเพราะมีการตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ในช่วงพิจารณากฎหมาย นอกจากนี้ในวันดังกล่าวทางสมาพันธ์ฯ และเครือข่ายยังได้เข้ายื่นหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ช่วยผลักดันลดความเหลื่อมล้ำให้ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข
นอกจากการเคลื่อนไหวของสมาพันธ์ฯ และเครือข่ายที่ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลแล้ว นางทัศน์ย์ กล่าวว่า ยังมีความเคลื่อนไหวจากข้าราชการระดับปฏิบัติงานทั่วประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขในการร่วมส่งโปสการ์ดที่ส่งตรงถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเป็นธรรมจากความเหลื่อมล้ำเงินเดือนในระบบ ก.พ.นี้ ซึ่งเท่าที่ทราบในบางจังหวัดมีข้าราชการในทุกอำเภอที่รวมส่ง นอกจากนี้ทางสมาพันธ์ฯ ยังได้มีการเปิดให้ร่วมโหวตเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหานี้ ผ่านทาง www.change.org ที่เป็นการร้องทุกข์ “ชวน ขรก.สังกัด กพ.ส่งไปรษณีย์ร้องทุกข์แก้เงินเดือนเหลื่อมล้ำ ขอเทียบเท่าครู ตำรวจ ทหาร ซึ่งจากการเปิดเพียงแค่ 2 วัน มีผู้ร่วมโหวตแล้ว 607 คน ซึ่งจะเป็นกำลังหนึ่งในการผลักดันเรื่องนี้ต่อไป
นางทัศนีย์ กล่าวต่อว่า ในการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเงินเดือนนี้ สมาพันธ์ฯ และเครือข่ายยังได้มีข้อเสนอ 3 ข้อ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้คือ 1.ให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานเจ้าภาพเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากข้าราชการทุกกลุ่ม/ฝ่ายที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อรับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนความต้องการที่แท้จริงในการร่วมกันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
2.เร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับอัตราขั้นต่ำขั้นสูงของเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบในทุกกลุ่ม ทุกเหล่า อาทิ ข้าราชการครู ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร โดยให้มีความเป็นธรรม โดยใช้ฐานอัตราเงินเดือนขึ้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการในทุกกลุ่มเป็นฐานเดียวกัน และ 3.เสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างและระบบเงินเดือนของข้าราชการใหม่เป็นระบบเดียวกัน หลังพบว่ามีปัญหาต่อกาพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพ โดยการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสามัญ พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะประเด็นการยกเลิกระบบการเข้าแท่ง เปลี่ยนเป็นระบบที่มีดุลยภาพอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ขอยืนยันว่าเรื่องนี้ทางสมาพันธ์ฯ และเครือข่ายจะเกาะติดและติดตามต่อเนื่องอย่างแน่นอน
- 18 views