จพ.สธ.รพ.สงขลา เผย ได้รับขึ้นทะเบียนสมาชิกสภาการสาธารณสุขชุมชนแล้ว หลังเช็คสิทธิ 8 ก.ย. แต่ยังไม่ได้รับสิทธิเลือกตั้ง พร้อมเดินหน้าเรียกร้องต่อ เหตุควรยึดนับวันตราประทับไปรษณีย์ตามสากล ด้าน จพ.สธ.สุคิริน ระบุยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนสมาชิก วอนตรวจสอบ เหตุยื่นออนไลน์ 15 มิ.ย. ส่งเอกสาร 21 มิ.ย. แถมเช็กไปรษณีย์มีผู้รับ 23 มิ.ย. ขณะที่ สคสท.ยืนยันข้อร้องเรียนเป็นข้อเท็จจริง จี้ตรวจสอบดำเนินการถูกต้อง เพื่อภาพลักษณ์สภาฯ  

น.ส.สิริเพ็ญ อัคคะเมธี เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่ รพ.สงขลา ในฐานะผู้ที่ประสบปัญหาการยื่นสมัครสมาชิกสภาการสาธารณสุขชุมชน เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยัง รมว.สาธารณสุข ในฐานะนายกสภาพิเศษแล้ว และที่มีการนำเสนอเป็นข่าวพร้อมกันคนอื่นๆ ที่รายชื่อตกหล่น ล่าสุดได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสภาฯ เรียบร้อยแล้ว โดยเพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อวานนี้ แต่ที่ผ่านมามีการชี้แจงโดยสภาฯ ว่า ได้ขึ้นทะเบียนสมาชิกให้กับตนตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคมแล้ว ซึ่งต้องบอกว่าที่ผ่านมาตนได้ติดตามต่อเนื่อง แต่ข้อเท็จจริงคือเพิ่งได้รับสิทธิการขึ้นทะเบียนเมื่อวานนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

น.ส.สิริเพ็ญ กล่าวว่า สำหรับในส่วนของสิทธิ์เลือกตั้งนั้น แม้มีการขึ้นทะเบียนสมาชิกแล้ว แต่ยังคงถูกตัดสิทธิ์นี้อยู่ โดยสภาการสาธารณสุขชุมชนให้เหตุผลว่าเป็นเพราะหลักฐานการสมัครที่จัดส่งไม่ถึงสำนักงานสภาฯ ภายในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 นั้น มองว่าแม้จะมีการระบุในประกาศ แต่ตามหลักสากลโดยทั่วไปจะต้องยึดตามวันที่ประทับตราไปรษณีย์ เพราะระยะเวลาการจัดส่งไปรษียณ์แต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน การกำหนดหลักเกณฑ์แบบนี้จึงไม่เป็นไปตามสากล และแม้ว่าตนเองจะอ่านในประกาศแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจว่าที่ระบุการส่งหลักฐานภายในวันที่ 23 มิถุนายน นั่นหมายถึงวันที่ส่งไปรษณีย์ และไม่คิดว่าทางสภาฯ จะไม่ใช้หลักสากล จึงส่งผลให้ตนเองและอีกหลายคนกลายเป็นผู้ตกหล่นและไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งที่อยากจะใช้สิทธินี้

“การที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง จากการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ไม่เป็นสากลนี้ จะยังคงมีการเรียกร้องสิทธิต่อไป ไม่แต่เฉพาะเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 3 คนใน รพ.สงขลาที่ถูกตัดสิทธิ์ แต่จะเรียกร้องรวมถึง 3,000 คนที่ถูกตัดสิทธินี้ด้วย” น.ส.สิริเพ็ญ กล่าวและว่า ขณะนี้มีการแจ้งยอดสมาชิกสภาฯ จำนวนกว่า 20,000 คนแล้ว แต่มีผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกแค่ 17,000 คน ตกหล่นค้างท่อถึง 3,000 คน สะท้อนถึงความไม่โปร่งใสและทำให้ต้องเสียสิทธิ์ และเมื่อถูกตัดสิทธิ์ไปแล้ว ค่าสมัครสมาชิกที่ได้มีการจ่ายไปทางสภาฯ จะมีการคืนให้หรือไม่อย่างไร 

ด้าน นางสุพรรณา เสือกลับ เจ้าพนักงานสาธารณสุข รพ.สุคิริน จ.นราธิวาส กล่าวว่า ตอนแรกไม่ได้ติดตามข่าวการรับสมัครสมาชิกสภาการสาธารณสุขชุมชน แต่มาทราบในวันสุดท้ายที่มีการขยายการสมัครสมาชิกผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรอบที่ 2 คือภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2559 จึงได้สมัครทางออนไลน์ และได้ส่งเอกสารหลักฐาน โดยส่งที่ไปรษณีย์ในวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ซึ่งหลังจากนั้นได้ทำการตรวจสอบผ่านระบบพบว่ายังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนสมาชิก เพราะเมื่อคีย์เลข 13 หลักลงไป จะปรากฎข้อความว่าไม่มีข้อมูลทั้งที่ได้สมัครไปแล้ว และจากการตรวจสอบเมื่อ 2 วันที่แล้วก็ยังปรากฎข้อความไม่มีข้อมูลเช่นเดิม

นางสุพรรณา กล่าวว่า ในการสมัครสมาชิกครั้งนี้ ตั้งใจอยากให้มีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการสภาฯ เพราะมีหัวหน้าที่ได้ยื่นสมัครไปพร้อมกัน โดยตนได้รับมอบให้เป็นคนส่งเอกสารหลักฐานไปยังสำนักงานสภาการฯ แต่ก็ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเหมือนกัน ทั้งนี้กรณีที่มีข้อถกเถียงถึงการนับวันการรับเอกสารหลักฐาน ที่มีการท้วงติงว่าควรเป็นการนับวันที่ประทับตราไปรษณีย์นั้น ส่วนตัวก็เห็นด้วยเพราะในการสมัครอื่นๆ ก็ให้นับวันประทับตราไปรษณีย์เช่นกัน อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบกับทางไปรษณีย์ แจ้งว่าได้มีผู้รับเอกสารแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2559 ซึ่งอยู่ในวันที่กำหนด ดังนั้นในกรณีของตนก็น่าจะอยู่ในเกณฑ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย  

นายสุริยะ ธัญญศิรินนท์ สมาชิกสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวว่า ตามประกาศของสภาการฯ ในการรับสมัครสมาชิกฯ กรณีผู้ยื่นสมัครที่ไม่ได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียน สภาฯ ต้องให้แจ้งทราบโดยเร็ว แต่กรณีที่เกิดขึ้นต้องถามว่าสภาฯ ได้ดำเนินการตามหรือไม่จึงทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น และหากไม่มีการตรวจสอบและร้องเรียนที่ดำเนินอยู่นี้ คงไม่ทราบว่ามีผู้ตกหล่นในการสมัครสมาชิก ขณะเดียวกันกรณีที่ระบุว่ามีการตัดสิทธิเนื่องจากไม่ส่งเอกสารตามกำหนดหรือเอกสารไม่ครบถ้วนหรือขาดคุณสมบัติ ต้องถามว่าจะมีสักกี่คนที่ได้รับการแจ้งตามระเบียบดังกล่าว ที่ผ่านมาจึงมีการออกมาให้ข้อมูลเพื่อทักท้วงกระบวนการที่เกิดขึ้น ซึ่งการที่มีสมาชิกสภาฯ ออกกล่าวหาผู้ที่ออกมาให้ข้อมูลเหล่านี้ว่ากำลังดำเนินการให้เกิดความเข้าใจผิดและสร้างความสับสนจึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง  

นอกจากนี้เมื่อดูการกำหนดกรอบเวลาการรับสมัครสมาชิกที่มีสิทธิรับเลือกตั้งกรรมการสภาฯ นั้น โดยประกาศฉบับที่ 1 ที่ ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 กำหนดให้ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกซึ่งจะมีสิทธิเลือกและสมัครกรรมการฯ วาระปี 2559-2562 ต้องยื่นใบสมัครภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2559 และต้องส่งเอกสารไปยังสภาฯ ภายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ในทางไปรษณีย์หรือไปส่งด้วยตนเอง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ถกเถียงกัน เนื่องจากมีการให้เวลาเพียงแค่ 8-9 วันเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนการรับสมัครมีทั้งแบบฟอร์มและขั้นตอนที่ไม่สามารถทำได้นอกเวลาราชการ หรืออยู่สถานที่ห่างไกล และเมื่อมีผู้คัดค้านจึงได้มีการออกประกาศฯฉบับใหม่ในวันที่ 1 มิถุนายน 2559 กำหนดให้หมดเขตรับสมัครภายใน 15 มิถุนายน 2559 ประเด็นที่ผิดปกติคือ เมื่อกำหนดระยะเวลาแบบนี้จะมีกระบวนการในการตรวจสอบ พิจารณา และอนุมัติให้ได้มาอย่างถูกต้องได้อย่างไร

ขณะที่ นางทัศนีย์ บัวคำ ประธานสถาบันเครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย (สคสท.) กล่าวว่า ปัญหาการรับสมัครสมาชิกสภาการสาธารณสุขชุมชนและผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งที่นำเสนอนั้น เป็นข้อเท็จจริงโดยมีผู้ร้องเรียนและหลักฐานที่ชัดเจน ซึ่งการที่มีคนทักท้วงและตรวจสอบไม่ได้เป็นการทำลายสภาฯ อย่างที่มีการระบุ แต่ในทางตรงกันข้ามเป็นการทำให้สภาฯ มีการดำเนินการอย่างถูกต้อง และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อสภาฯ เอง ซึ่งควรที่จะเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว  

 ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โวยยอดสมาชิกสภาสาธารณสุขชุมชนตกหล่น 3 พัน ด้านสภาฯ ยันไม่มีค้างท่อ ย้ำโปร่งใส

เปิดรับสมัครเลือกตั้งเป็น กก.สภาการสาธารณสุขชุมชน 12-23 ก.ย. ยันกระบวนการโปร่งใส

ผู้ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง กก.สภาการสาธารณสุขชุมชน ทำหนังสือขอความเป็นธรรมถึง รมว.สธ.

เรียกร้อง ยุติให้ข้อมูลไม่จริง ชื่อสมาชิกสภาการสาธารณสุขตกหล่นมีส่วนน้อย แก้ไขแล้ว