นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสาธารณสุข (ประเทศไทย) กล่างถึงผลการศึกษาการวางแผนกำลังด้านสุขภาพของประเทศไทยในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2560-2569) ที่คณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ว่า การที่แพทย์ออกมาวิจัยแทนนักสาธารณสุขว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าคนจะล้นงาน ถือเป็นการตั้งธงว่าวิชาชีพนี้จะไม่ขาดแคลน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของหลายวิชาชีพที่คัดค้านการมีวิชาชีพสาธารณสุขมาก่อนหน้านี้หลายสิบปีที่ผ่านมาแล้ว อย่างไรก็ตามงานวิจัยดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน เพราะอัตรากำลังตามภาระงานของ รพ.สต.ยังขาดแคลนอีกมากมายหลายแห่ง

ทั้งนี้เมื่อนำข้อมูลเทียบคียงในสัดส่วนของวิชาชีพแพทย์เอง คงไม่ต้องมองถึง 10 ปีข้างหน้า เพราะในปัจจุบันแพทย์ที่รัฐใช้งบผลิตจนล้นตลาด แต่สุดท้ายกลับเป็นการผลิตป้อนเอกชนแทน ภาพที่ปรากฏให้เห็นแพทย์ส่วนใหญ่ยังคงละทิ้งชนบทไปกระจุกในเมืองใหญ่จนล้น หรือไปศึกษาต่อเฉพาะทาง จนอัตรากำลังในชนบทขาดแคลน และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่จำเป็นจะต้องจัดสรรค่าตอบแทนให้แพทย์ในราคาแพง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แพทย์ไม่ทอดทิ้งชนบท

นายริซกี กล่าวต่อวว่า เรื่องกำลังคนของวิชาชีพการสาธารณสุข โดยมุมมองคนสาธารณสุขเอง คือการอภิบาลระบบที่คำนึงถึงผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชาชน โดยควรจัดสรรกำลังคนในสายงานวิชาชีพสาธารณสุขที่เป็นธรรมเหมาะสม เพื่อดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง และสามารถส่งมอบบริการให้ประชาชนได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุข นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึงความเจริญก้าวหน้าของบุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ที่อยู่ในระบบและถือเป็นกำลังคนด้านสุขภาพที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน รวมถึงบุคลากรสาธารณสุขที่ยังค้างท่อไม่ได้รับการบรรจุและกำลังทำงานอยู่ในระบบ ควรหาทางช่วยเหลือสนับสนุนให้ได้รับการบรรจุตามกรอบโครงสร้างอัตรากำลังใหม่ของ รพ.สต.

“ดังนั้นอย่าเอาธง 10 ปีข้างหน้ามาเป็นข้อจำกัด สิทธิและ ความก้าวหน้าหมออนามัยหรือกลุ่มวิชาชีพสาธารณสุขเหล่านี้เลย” นายริซกี กล่าวและว่า ส่วนที่กำลังทำการศึกษาอยู่ในปัจจุบัน และการควบคุมการผลิตของสถาบันการศึกษาต่างๆ ในอนาคตคงเป็นหน้าที่สภาการสาธารณสุขชุมชนในอนาคตอันใกล้นี้ที่จะต้องมาดูแลเรื่องนี้กันต่อไป

ด้านนางทัศนีย์ บัวคำ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย (สคสท.) กล่าวว่า งานวิจัยอาจตอบโจทย์เจ้าของทุนที่สนับสนุนงานวิจัย ตราบใดที่เจ้าภาพหลักคือกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ยอมทำการเปิดตลาดสร้างสุขภาพเป็นด้านหลัก และงานวิจัยชิ้นใหม่อาจต้องให้นิยามขอบเขตของคำว่า “วิชาชีพขาดแคลน” และคำว่า “ล้นตลาด” กันใหม่ ตราบใดที่ยังวางกรอบแนวคิดที่แคบเหมือนเช่นเคย โดยยึดติดกับวิธีคำนวณสัดส่วนแบบเดิมๆ คือ อ้างอิงเฉพาะพื้นที่ Population Ratio แต่ไม่ได้นำภาระงาน Workload ค่างาน FTE ไปคำนวณอย่างเป็นธรรม จึงไม่ต้องแปลกใจว่า คำตอบที่ได้รับจากงานวิจัยที่ออกมา วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนยังคงล้นตลาด และไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มวิชาชีพที่ขาดแคลน 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ผลศึกษาชี้ 10 ปีข้างหน้า วิชาชีพสาธารณสุข ‘คนจะล้นงาน’ เหตุไม่วางแผนผลิต

สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ยื่นหนังสือ สช.ทบทวนผลศึกษากำลังคนสุขภาพทศวรรษหน้า

ชี้ผลศึกษา 10 ปีนักสาธารณสุขจบใหม่ล้นงาน เพื่อวางแผนผลิต ไม่สร้างทรัพยากรที่สูญเสีย