ทีดีอาร์ไอชี้ค่ารักษาพยาบาลเป็นบริการหัตถกรรมที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรมาทดแทนได้ โดยธรรมชาติจะต้องแพงขึ้น แจง สังคมสูงวัย ยาใหม่ การตรวจโรคที่ไม่จำเป็น และเมดิคอลฮับ เป็นความจริงส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่ารักษาแพงขึ้น แต่ผู้ร้ายตัวจริงคือการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ พบข้อมูลค่ารักษาแพงขึ้น จากสังคมผู้สูงอายุ 2% อีก 6% การเพิ่มขึ้นเงินเดือนบุคลากรการแพทย์ ทางแก้ทำได้แค่ชะลอปัญหา
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ 'ทีดีอาร์ไอ' กล่าวในรายการคิดยกกำลังสอง “เมื่อบริการสุขภาพ...ป่วยเสียเอง” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันจันทร์ที่ 21 กันยายน 2558 (ดูที่นี่)ว่า ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยสูงขึ้น จนแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็เริ่มตั้งคำถามกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการของบประมาณด้านการรักษาว่า ทำไมค่ารักษาแพงจัง จนทำให้มองว่าบริการรักษาพยาบาลป่วยเสียเอง จากการที่มีต้นทุนสูงขึ้น เพราะหากรวมงบประมาณที่รัฐบาลจ่ายเพื่อการรักษาทั้ง 3 กองทุน ในปี 2557 คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม พบว่ามีงบประมาณรวมกันสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท และปัญหาไม่ใช่แค่ค่ารักษาสูงอย่างเดียว แต่รวมถึงอัตราการเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาลในช่วง 11 ปีที่ผ่านมาสูงขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศด้วย
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ศ.วิลเลี่ยม บอร์มอล (William Baumol) ได้ตั้งทฤษฎีว่าค่ารักษาพยาบาลแพง เนื่องจากเป็นหนึ่งใน “บริการหัตถกรรม” ซึ่งเป็นบริการที่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน ใช้ฝีมือ ไม่สามารถใช้เครื่องจักรมาทดแทนได้ เช่นเดียวกับบริการด้านการศึกษา ดนตรี ซึ่งโดยธรรมชาติบริการหัตถกรรมจะต้องแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแพทย์ตรวจคนไข้ได้ไม่มากไปกว่าเดิม แต่ทุกปีจะมีรายได้เพิ่มขึ้น งบประมาณที่เพิ่มจากค่ารักษาพยาบาลจะกลายเป็นปัญหาทางการเมืองในอนาคต เห็นได้ชัดว่าปัจจุบันก็เป็นปัญหาไปทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ไทย ผู้ป่วยเริ่มบ่นเรื่องค่ารักษาแพงขึ้น
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า คนมักจะเข้าว่าการที่สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย ยาใหม่ๆ การตรวจโรคในส่วนที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงนโยบายการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ที่ดึงคนต่างชาติมาใช้ทรัพยากรของไทย ทำให้ค่ารักษาแพงขึ้น ซึ่งก็เป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่ผู้ร้ายตัวจริงคือการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งในประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลของ ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่าค่ารักษาของไทยแพงขึ้นทุกปี โดยมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 2% และอีก 6% เกิดจากการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเรื่องค่ารักษาแพงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทำได้เพียงแค่การชะลอปัญหา ด้วยการ 1.ประเมินเทคโนโลยีที่จะใช้ในการรักษาพยาบาล ต้องเลือกเทคโนโลยีที่ได้ผลมากที่สุดในราคาที่จ่ายได้ 2.ปรับนโยบายเมดิคอลฮับลดการดึงผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารับการรักษาพยาบาล 3.ส่งเสริมการใช้ยาราคาถูกที่มีประสิทธิภาพ 4.ลดทุรเวชปฏิบัติ หรือลดการตรวจรักษาที่เกินความจำเป็นลง 5.ลดการฉ้อโกง การผูกขาดในการรักษาพยาบาล
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า วิธีการอยู่รอดในยุคค่ารักษาแพงนั้น รัฐจะต้องสร้างเศรษฐกิจของไทยให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างรวดเร็ว ให้มีการกระจายรายได้ เพื่อให้ทุกคนมีกำลังจ่ายค่ารักษา และต้องปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ให้มีความยั่งยืนทางการเงินให้มากขึ้น พร้อมทั้งต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่าต้นทุนค่ารักษาพยาบาลจะสูงขึ้นเสมออย่างไม่มีทางเลี่ยงได้.
- 220 views