ประธานทีดีอาร์ไอ หวั่น สังคมสูงอายุ-ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซ้ำเติมเศรษฐกิจ กระทบระบบสุขภาพ เสนอทางออก เร่งปั๊มกำลังซื้อ-เพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บรรยายพิเศษหัวข้อ “ทิศทางและอนาคตประเทศไทย” ภายในการประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับคลื่นลูกใหญ่ 2 ลูก ได้แก่
1.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภายในปี 2568 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ และจะทำให้ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น
2.การขาดแคลนแรงงานในการสร้างเศรษฐกิจ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา จำนวนคนงานไทยที่เข้าสู่แรงงานได้ลดลงเรื่อยๆ ทั้งที่ประชากรเพิ่มมากขึ้น และจะมากสุดในปี 2565 คืออยู่ที่ 67.9 ล้านคน
“ความหมายก็คือรายจ่ายกำลังจะเพิ่มอย่างเห็นได้ชัดภายใน 10 ปี ส่วนรายรับกำลังจะลดลงเพราะว่าเรามีประชากรเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อย อัตราการเจริญเติบโตก็จะต่ำลง” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตก็มีแนวโน้มลดลง โดยธนาคารการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในระยะเวลา 5 ปี จะเติบโตเพียง 3% แต่จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสังคมผู้สูงอายุจะทำให้อัตราการเติบโตเหลือแค่ 2.6% เท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและบริการสาธารณสุขด้วย
“11 ปีที่ผ่านมา ค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราเงินเฟ้อถึง 2 เท่า โดยในปี 2557 หากคิดรวมทั้ง 3 ระบบประกันสุขภาพ คือบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ จะพบว่าสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ผลการศึกษาของ วิลเลียม บอร์มอล (William Baumol) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ชี้ว่า สาเหตุที่ค่ารักษาพยาบาลแพงเนื่องจากเป็นบริการหัตถกรรมที่ต้องใช้แรงงานคน และทักษะเฉพาะด้านในการประดิดประดอย ไม่ใช่การผลิตแบบอุตสาหกรรม จึงมีแนวโน้มค่าใช้จ่ายสูงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
“มีการสันนิษฐานถึงสาเหตุที่ทำให้บริการหัตถกรรมมีต้นทุนสูง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเทคโนโลยีมีราคาแพง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นโยบายเมดิคัล ฮับ ทุรเวชปฏิบัติ รวมทั้งการผูกขาดในวิชาชีพ แต่ในมุมมองของศาสตราจารย์บอร์มอล สิ่งเหล่านี้มีส่วนให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นจริง แต่ก็ยังไม่ใช่สาเหตุหลักของราคาแพง ต้นตอของปัญหาเป็นเพราะบริการหัตถกรรมจะมีผลิตภาพเท่าเดิม (การผลิตเท่าเดิม) ในขณะที่ต้นทุนด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ไม่มีวิธีการใดจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็พอจะมีทางชะลอปัญหาได้ เช่น เทคโนโลยีราคาแพงก็ต้องประเมินความคุ้มค่า หรือทบทวนนโยบายเมดิคัล ฮับ เพื่อลดอุปสงค์ ส่งเสริมการใช้ยาราคาถูก ลดทุรเวชปฏิบัติ และลดการผูกขาดในวิชาชีพ ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ค่าใช้จ่ายต่ำลง แต่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ต้นตอ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วเพื่อสร้างกำลังซื้อ
“สรุปในเบื้องต้นก็คือประเทศไทยจะเหมือนกับหลายประเทศ ที่ต้นทุนในการรักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นสูงเร็วกว่าเงินเฟ้อ แต่ประเทศไทยมีส่วนที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นตัวสำคัญก็คือการเข้าสู่สังคมสูงอายุ รัฐและประชาชนต้องเข้าใจกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นและเตรียมการแก้ไขปัญหา” นายสมเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ วิธีการที่จะอยู่รอดกับต้นทุนที่สูงขึ้นมีวิธีเดียว คือการสร้างเศรษฐกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง เพิ่มกำลังซื้อของคน ประชาชนจะมีกำลังซื้อพอแม้ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น ประชาชนมีเงินไปซื้อบริการสุขภาพได้ ประชาชนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงต้องควักจากกระเป๋าตัวเอง แต่หมายถึงสังคมนั้นจะมีกำลังทรัพย์พอ และจะต้องปฏิรูปบริการสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดความยั่งยืนในการเงิน
- 6 views