“นิมิตร์” ค้านข้อเสนอทีดีอาร์ไอให้ผู้ป่วยนอกบัตรทองร่วมจ่าย ชี้งบประมาณระบบสุขภาพไม่มีปัญหา แต่ 3 กองทุนสุขภาพมีความเหลื่อมล้ำ ไม่กระจายทรัพยากรต่างหาก
นายนิมิตร์ เทียนอุดม อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน แสดงความเห็นถึงข้อเสนอของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งเสนอให้ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพร่วมจ่ายกรณีเป็นเป็นผู้ป่วยนอก เนื่องจากค่าใช้จ่ายของระบบหลักประกันสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นถึงปีละ 5% ขณะที่เศรษฐกิจไทยในอนาคตอาจจะโตต่ำกว่า 3% อีกนาน ส่งผลให้เกิดปัญหาทางการเงินจนกระทบต่อคุณภาพการบริการ ซึ่งนายนิมิตร์ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวว่า งบประมาณโดยรวมของระบบสุขภาพทั้งระบบถือว่าไม่มีปัญหา งานศึกษาหลายชิ้น เช่น ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ซึ่งมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน ก็มีความเห็นว่างบประมาณโดยรวมของระบบสุขภาพโดยรวมไม่เป็นปัญหา ไม่มีความจำเป็นต้องร่วมจ่ายในกองทุนสุขภาพใดกองทุนหนึ่ง หรือข้อเสนอจากคณะกรรมการประสานงานระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมี ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน ก็ไม่มีข้อเสนอที่แข็งกร้าวว่าต้องร่วมจ่าย แต่เห็นว่ารัฐบาลต้องคิดให้ดีว่าเรื่องนี้ควรทำหรือไม่ โดยเสนอว่าไม่ต้องร่วมจ่าย หรือถ้าร่วมจ่ายก็ต้องจ่ายก่อนป่วย แล้วไปเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี หรือการบริหารงบประมาณในทุกกองทุนสุขภาพ
“เพราะฉะนั้น ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอว่าจะต้องดึงคนชั้นกลางเข้าร่วม แล้วให้ร่วมจ่ายกรณีผู้ป่วยนอก ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่มีเหตุผล ไม่ได้ดูบริบทการบริหารจัดการหรือรากเหง้าปัญหาที่แท้จริงของระบบสุขภาพในประเทศ แล้วงานศึกษาของทีดีอาร์ไอก็ไม่ใช่งานที่อาจารย์สมเกียรติศึกษาเอง แต่เป็นงานที่อาจารย์วรวรรณ (ชาญด้วยวิทย์) ศึกษา ซึ่งอาจารย์วรวรรณก็อยู่ในกรรมการหลายชุดที่ศึกษาเรื่องนี้ และพบว่ามันไม่ได้มีวิกฤติด้านงบประมาณถึงขั้นที่ต้องไปเรียกร้องให้คนร่วมจ่าย” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า รากเหง้าของปัญหานี้ อยู่ที่ความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ เพราะงบประมาณตั้งต้นที่รัฐจ่ายให้แต่ละระบบสุขภาพก็ไม่เท่ากันอยู่แล้ว เช่น จ่ายบัตรทองประมาณ 3,000 บาท/หัว จ่ายราชการ 12,000 บาท/หัว ส่วนประกันสังคมรัฐก็จ่ายสมทบบ้างไม่จ่ายบ้าง แต่เวลาพูดถึงภาระด้านงบประมาณกลับมองเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่สวัสดิการราชการ มีผู้ใช้สิทธิประมาณ 6 ล้านคน แต่ใช้เงิน 7 หมื่นล้านบาท เงินขนาดนี้คือ 50% ของเงินที่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งดูแลคน 48 ล้านคน
“นี่คือรากเหง้าปัญหาว่าเราจะกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร การลดความเหลื่อมล้ำในที่นี้คือการกระจายทรัพยากรให้ทุกกองทุนสุขภาพได้รับสิทธิประโยชน์ที่เสมอภาคและมีคุณภาพ ทั้งหมดทั้งมวลของงานศึกษาทุกชุดไม่มีใครแตะรากเหง้าของปัญหานี้ นักวิชาการหรือกลไกที่มาจากภาครัฐ ไม่แตะรากเหง้าของปัญหานี้ แล้วก็มีทัศนะที่โทษแต่ประชาชน แล้วก็จะไปผลักให้ประชาชนร่วมจ่าย” นายนิมิตร์ กล่าว
- 5 views