เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : อดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุชของสหรัฐลงนามในกฎหมายว่าด้วยชาวอเมริกันผู้พิการ (เอดีเอ) หรือ Americans with Disabilities Act (ADA) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2533 ตามเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม ซึ่งนับจากที่กฎหมายเอดีเอมีผลบังคับใช้มาแล้ว 25 ปีก็เห็นถึงผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญต่อการแก้ปัญหาการกีดกันและอุปสรรคนานับประการเพื่อช่วยให้คนพิการมีอิสรภาพในการดำรงชีวิต
กฎหมายว่าด้วยชาวอเมริกันผู้พิการจะช่วยลดการกีดกันผู้พิการลงได้ ภาพประกอบจาก IIP Photo Archive, CC BY-NC
ปัจจุบันประเมินกันว่าสหรัฐอเมริกามีจำนวนคนพิการซึ่งสามารถอยู่ร่วมในสังคมกระแสหลักราว 56.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากร ขณะเดียวกันก็มีนักศึกษากว่า 700,000 คนในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะบกพร่องด้านการเรียนรู้ สมาธิสั้น/ไฮเปอร์ ภาวะบกพร่องของประสาทการรับรู้และการเคลื่อนไหว ตลอดจนภาวะบกพร่องทั้งทางกายและทางจิต ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่าเป้าประสงค์ของกฎหมายเอดีเอจะไม่สามารถบรรลุได้หากประชาชนทั่วไปยังคงละเลยต่อการแก้ไขปัญหาการกีดกันคนพิการ
จากการทำงานของผู้เขียนในฐานะนักการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษทำให้ได้พบเห็นการสร้างเครือข่ายสำหรับคนพิการทั้งในระดับนักศึกษา คณะวิชา และผู้บริหารซึ่งตระหนักถึงบทบาทของตนในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาการกีดกันคนพิการด้วยแนวทางต่างๆ รวมไปถึงผลักดันการเป็นองค์กรที่เปิดกว้าง จัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการพิเศษ และกำหนดนโยบายของสถานศึกษาให้มีความเท่าเทียมยิ่งขึ้น
ดั่งประกาศเลิกทาส
กฎหมายเอดีเอมีขึ้นเพื่อประกันโอกาสอันเท่าเทียมของคนพิการต่อการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนของสังคม การดำรงชีวิตโดยอิสระ และการพึ่งตนเองในด้านการเงินผ่านการยกเลิกอุปสรรคที่ขัดขวางการร่วมจรรโลงสังคม กฎหมายเอดีเอมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการกีดกันและแบ่งแยกคนพิการซึ่งเกิดขึ้นมายาวนานและแพร่สะพัดในสังคมอเมริกัน โดยก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายดังกล่าวนั้นคนพิการมักถูกมองในฐานะวัตถุน่าเวทนาที่ไม่สามารถทำงาน ไปโรงเรียน หรือมีชีวิตอยู่ด้วยตนเอง ซึ่งกฎหมายเอดีเอได้เข้ามาพลิกทัศนคตินี้ด้วยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาคาร ขนส่งมวลชน และการบริการเพื่อให้คนพิการสามารถเข้ามามีส่วนร่วม
กฎหมายเอดีเอ จะช่วยลดการแบ่งแยกและการกีดกันผู้พิการ ภาพประกอบจาก กรมการขนส่ง เมืองนิวยอร์ค, CC BY-ND
อดีตวุฒิสมาชิกทอม ฮาร์กิน ผู้เป็นแกนนำผลักดันกฎหมายเอดีเอในสภาคองเกรสกล่าวถึงกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็น “ประกาศเลิกทาสแห่งศตวรรษที่ 20 เพื่อคนพิการ” และการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเอดีเอเมื่อปี 2551 ก็ได้ขยายนิยามของความพิการและการปกป้องให้ครอบคลุมถึงบุคคลที่มีภาวะบกพร่องในการทำกิจกรรมสำคัญต่างๆ รวมถึงการอ่าน การตั้งสมาธิ และการทำงาน นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงผู้ที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น ผู้ป่วยฝังประสาทหูเทียม ใช้เครื่องช่วยฟัง และใส่กายอุปกรณ์เทียม จึงอาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่ากฎหมายเอดีเอไม่เพียงมุ่งช่วยเหลือคนพิการ หากยังครอบคลุมถึงสังคมส่วนรวม โดยถือว่าความเท่าเทียม การเข้าถึง และการเปิดกว้างเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน
การเปลี่ยนแปลงในสถานศึกษา
แล้วเราเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมทุกวันนี้อย่างไรบ้าง... สำหรับผู้เขียนนั้นได้พบเห็นการเปลี่ยนแปลงในสถาบันอุดมศึกษาเป็นประจำทั้งนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ซึ่งนั่งวีลแชร์ การเข้าถึงหนังสือเสียงสำหรับผู้มีภาวะบกพร่องด้านการมองเห็น ล่ามภาษามือ ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นสำหรับให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนและการทำงาน และในฐานะที่เป็นอาจารย์ผู้เขียนเองก็ได้ประโยชน์จากการใช้บริการศูนย์ทรัพยากรเพื่อคนพิการของสถาบันเพื่อเตรียมแนวทางการสนับสนุนการเรียนการสอนที่เหมาะสมในชั้นเรียน เช่น การทวนคำหรือชี้แจงคำสั่ง หรือเตรียมเครื่องจดบันทึกสำหรับนักศึกษาที่จำเป็น
นักศึกษาระดับปริญญาตรีในยุคหลังกฎหมายเอดีเอนั้นเติบโตขึ้นมาในสังคมที่คนพิการได้รับการคาดหวังในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมในรั้วมหาวิทยาลัย อีกทั้งการที่หลายคนเคยเรียนร่วมกับเพื่อนคนพิการมาแล้วทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จึงทำให้คุ้นเคยกับการมีปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน ชมรม และกิจกรรมชุมชนร่วมกับเพื่อนคนพิการ โดยมองว่าความพิการเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิต ประสบการณ์ในการเรียนร่วมกับเพื่อนคนพิการในช่วงวัยเด็กนี้เองจะเป็นการตระเตรียมบรรดาหนุ่มสาวสำหรับการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนคนพิการจำนวนมากขึ้นในระดับอุดมศึกษา
อนึ่ง ประเมินว่า นักศึกษาผู้พิการมีสัดส่วนราวร้อยละ 11 ของนักศึกษาทั้งหมด โดยมีสถิติการศึกษาในหลักสูตรเต็มเวลาสูงขึ้นร้อยละ 45 และหลักสูตรล่วงเวลาสูงขึ้นร้อยละ 26 ในระหว่างปี 2543 และ 2553 ขณะที่บุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นคนพิการนั้นก็มีจำนวนสูงถึงราว 250,000 คน
ที่ผ่านมาผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาได้อาศัยแนวทางต่างๆ รวมไปถึงการออกแบบเพื่อมวลชนและการศึกษาสำหรับคนพิการเพื่อป้องกันการแบ่งแยกนักศึกษาและบุคลากรผู้พิการ ซึ่งแนวคิดของการออกแบบเพื่อมวลชนนั้นก็อยู่ที่การออกแบบสิ่งของให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงมากที่สุด เช่น พื้นลาดของทางเท้าสำหรับคนพิการที่ใช้วีลแชร์ซึ่งคนทั่วไปก็สามารถใช้เดินขึ้นลงได้ แนวคิดนี้ยังนำไปใช้ในการออกแบบหอพักนักศึกษา ห้องเรียน และห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนนำไปใช้ปรับสื่อประกอบหลักสูตรและวิธีการสอน เช่น ปรับการนำเสนอเนื้อหา และสนับสนุนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและโต้ตอบด้วยวิธีการต่างๆ
สาขาวิชาด้านการศึกษาเพื่อคนพิการหรือทุพพลภาพศึกษา มุ่งเน้นการสร้างเสริมความตระหนักในประสบการณ์ของคนพิการและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งสาขาวิชาดังกล่าวได้เปิดการเรียนการสอนแล้วในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ตามเป้าหมายเพื่อลดอคติต่อความพิการ สำหรับมหาวิทยาลัยฟลอริดาซึ่งผู้เขียนสอนอยู่นั้นมีนักศึกษาจากหลายสาขาวิชารวมถึงธุรกิจ การออกแบบ วิศวกรรมศาสตร์ การพยาบาล ศึกษาศาสตร์ พื้นฐานนิติศาสตร์ และแพทยศาสตร์ที่ศึกษาวิชาโททุพพลภาพในสังคม (Disabilities in Society) เพื่อที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์อันราบรื่นกับเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า และเพื่อนบ้านผู้พิการในภายหน้า
จุดหมายยังอีกไกล
แม้เราได้ผลักดันกันมาตลอด 25 ปีแต่ความเท่าเทียมและการเปิดกว้างยังคงเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมสำหรับคนพิการจำนวนมาก และต้องทุ่มเทความพยายามให้มากกว่านี้เพื่อที่จะสามารถตอบสนองตามเป้าประสงค์ของกฎหมาย นอกจากนี้อคติและทัศนคติเชิงลบต่อครพิการก็ยังคงสะพัดอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ดังจะเห็นได้จากการที่นักศึกษาผู้พิการมักเลิกเรียนหลังปีสองและมีอัตราสำเร็จการศึกษาเพียงครึ่งหนึ่งของเพื่อนร่วมชั้น เช่นเดียวกับอัตราการจ้างงานซึ่งอยู่ที่ครึ่งหนึ่งเทียบกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ปราศจากความพิการ
จนทุกวันนี้เห็นได้ว่าการกีดกันยังคงเป็นประสบการณ์ร่วมที่คนพิการส่วนใหญ่ล้วนพบพาน ดังนั้นการยุติปัญหาการกีดกันคนพิการไม่ให้เรื้อรังไปถึงภายหน้าจึงอาจหมายถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่สุดของกฎหมายเอดีเอก็เป็นได้
เกี่ยวกับผู้เขียน
จีน คร็อคเก็ต ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการ The School of Special Education, School Psychology, & Early Childhood Studies จากมหาวิทยาลัยฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา
ขอบคุณที่มา : www.theconversation.com
- 182 views