ปลัด สธ.เผย “เครือข่ายบริการที่ไร้รอยต่อ”เขตสุขภาพ เชื่อมโยงบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิเข้าด้วยกัน ผลพัฒนารอบ 2 ปี ช่วยผู้ป่วยโรคซับซ้อน โรคอัตราการตายสูงในภูมิภาคทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ เข้าถึงบริการมากขึ้น อัตรารอดชีวิตสูงขึ้น ขณะนี้โรงพยาบาลศูนย์ 18 แห่งผ่าตัดหัวใจและสวนหัวใจได้ คิวรอผ่าตัดหัวใจสั้นลงเฉลี่ย 3.07 เดือน โรงพยาบาลผ่าตัดสมองได้ 51 แห่ง ฉายแสงรักษาโรคมะเร็ง 11 แห่ง โรงพยาบาลชุมชนให้ยาละลายลิ่มเลือด เคมีบำบัดแบบระยะสั้น ผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าคลอดได้
วันนี้ (20 สิงหาคม 2558) ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ประจำปี 2558 เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจำนวน 1,500 คน จากส่วนกลางและภูมิภาค แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงาน
นพ.ณรงค์ ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาบริการสุขภาพตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) ในรูปแบบเครือข่ายแทนการขยายโรงพยาบาลเป็นรายแห่ง จัดบริการแบบเขตสุขภาพ 12 เขต ดูแลประชาชนเขตละประมาณ 5-6 ล้านคน ให้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง โดยใช้หลักการ “เครือข่ายบริการที่ไร้รอยต่อ” เชื่อมโยงบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิเข้าด้วยกัน มีเป้าหมาย 6 ประการ คือ ลดอัตราตาย อัตราป่วย ลดระยะเวลารอคอย มาตรฐานการบริการ การเข้าถึงบริการ และลดค่าใช้จ่าย ในระยะแรกกำหนดแผนพัฒนาใน 10 สาขาหลัก เริ่ม1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมา
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า จากการประเมินผล พบว่าโรงพยาบาลทุกระดับในภูมิภาค ได้รับการพัฒนาขีดความสามารถตามแผน ช่วยให้ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคซับซ้อน อัตราการตายสูง เข้าถึงบริการมากขึ้น ดังนี้
1.สาขาหัวใจและหลอดเลือด มีบริการผ่าตัดหัวใจและสวนหัวใจในโรงพยาบาลศูนย์ 18 แห่ง โรงพยาบาลชุมชนให้ยาละลายลิ่มเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเลือดได้ 460 แห่ง คิวรอผ่าตัดหัวใจสั้นลง เฉลี่ย 3.07 เดือน อัตราตายผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลดลงเหลือร้อยละ 11.94 ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 สามารถทำผ่าตัดหัวใจได้ 1,606 ราย สวนหัวใจ11,128 ราย รักษาด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ผ่าตัดใส่โครงลวดถ่างขยายหลอดเลือด 22 ราย ผ่าตัดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดซับซ้อน 25 ราย
2. สาขามะเร็ง โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลมะเร็งให้บริการฉายแสงรักษา 11 แห่ง โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ให้เคมีบำบัดแบบระยะสั้น 14 แห่ง
3. สาขาทารกแรกเกิด มีเตียงไอซียูรองรับทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยและป่วยวิกฤติ 850 เตียง อัตราตายทารกอายุน้อยกว่า 28 วัน ลดลงเหลือ 3.7 ต่อ 1,000 การเกิดมีชีพ
4.สาขาอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ผู้ป่วยเร่งด่วนและฉุกเฉินวิกฤตมาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉินภายใน 10 นาทีหลังได้รับแจ้งเหตุร้อยละ 76 มีช่องทางด่วนผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมอง และบาดเจ็บหลายระบบ สามารถทำการผ่าตัดภายใน 2 ชั่วโมง หลังจากส่งผู้ป่วยถึงห้องผู้ป่วยฉุกเฉินร้อยละ 80 โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป มีศัลยแพทย์ผ่าตัดสมองได้ 51 แห่ง ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดสมอง 9,286 ราย มีระบบการสั่งการและแผนบริหารจัดการสาธารณภัยในทุกเขตสุขภาพ ทำให้อัตราการรอดชีวิตผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราตายผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมองลดลงจากร้อยละ8.46 ในปี 2557เป็นร้อยละ 6.77 ในปี 2558
5.สาขาสุขภาพช่องปาก ปัจจุบันมีทันตบุคลากรประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 3,528 แห่ง และหมุนเวียนออกไปบริการ รพ.ที่ไม่มีทันตบุคลากรประจำทุกสัปดาห์ การรอคอยทำฟันเทียม ในโรงพยาบาลทุกระดับน้อยกว่า 6 เดือน
6.สาขาจักษุ จัดบริการตรวจคัดกรองสายตาผู้ป่วยอายุ 60 ปี ผ่าตัดต้อกระจก ใน 3 เดือนแรกของปี 2558 ได้ 26,863 ข้าง และเตรียมจัดตั้งศูนย์รักษาจอประสาทตาประจำเขตสุขภาพ
7.บริการ 5สาขาหลัก ได้แก่ สูติ-นรีเวชกรรม, ศัลยกรรม, อายุรกรรม, กุมารเวชกรรม, กระดูก โรงพยาบาลระดับอำเภอ และโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย ให้บริการผ่าตัดไส้ติ่งร้อยละ 85 ผ่าตัดคลอดได้ร้อยละ 86 ทำหมันได้ 88 แห่ง โรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย ดูแลผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจได้ 67 แห่ง
8.สาขาไต โรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลอำเภอล้างไตทางช่องท้องได้ โรงพยาบาลศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนไตได้ 8 แห่ง โดยโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี สามารถทำผ่าตัดปลูกถ่ายไขกระดูกได้แล้ว
9.สาขาสุขภาพจิต จิตเวชและยาเสพติด มีหอผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป 12 แห่ง และมีเตียงฉุกเฉินจิตเวชให้การดูแลผู้ป่วยภายใน 3-5 วันในโรงพยาบาลศูนย์ 32 แห่ง ผู้ป่วยโรคจิตเข้าถึงบริการ ร้อยละ 51 และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการร้อยละ 39 ผู้ติดยาเสพติดมีอัตราการหยุดเสพสูงถึงร้อยละ 90
และ 10.สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรงพยาบาลประจำจังหวัดรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้ทุกแห่ง และจัดช่องทางด่วนรับผู้ป่วยโรคนี้ 86 แห่ง และเพิ่มหอดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในโรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่ง ได้ประชาสัมพันธ์ความรู้อาการของโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องรีบนำส่งแก่ประชาชนทุกพื้นที่
ทั้งนี้ ได้เพิ่มสาขาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานอีก 1 สาขา โดยจัดบริการผู้ป่วยนอกแพทย์แผนไทยคู่ขนานกับบริการปกติในโรงพยาบาล 594 แห่ง จะเพิ่มให้ครบ 883 แห่ง สนับสนุนงบประมาณผลิตยาสมุนไพรตามมาตรฐานจีเอ็มพีให้โรงพยาบาล 15 แห่ง สนับสนุนการเพิ่มการใช้ยาสมุนไพรในสถานพยาบาล และเพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติมากขึ้น
- 459 views