นสพ.โพสต์ทูเดย์ : ปัญหาสำคัญที่ถูกบดบังอยู่ภายใต้ความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็คือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในยุคแห่งการปฏิรูป เพราะแม้รัฐบาลชุดนี้จะบริหารประเทศมานาน 1 ปีเศษ นโยบายการปฏิรูประบบหลักประกันฯ ก็ยังไม่คงที่ และยังถูกเจือปนด้วยการเมือง โดยสัญลักษณ์ของความเป็น "ประชานิยม" สร้างภาระงบประมาณ ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนจากการบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังทับซ้อนกับการเป็น "รัฐสวัสดิการ" ที่ดูแลคนไทย 48 ล้านคน อย่างเลี่ยงไม่ได้

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ไม่ว่าจะขัดแย้งอย่างไร ก็ต้องรักษาระบบไว้สำหรับคนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนจน เพราะสังคมปัจจุบันสะท้อนว่า คนรวยสามารถเปลี่ยนเป็นคนจนได้ในเวลารวดเร็ว และคนรวยก็ไม่ได้รวยพอที่จะแบกรับค่ารักษาที่แพงเกินไปได้

คุณหมอธีระตีโจทย์การปฏิรูปตามหลักการ 6 Building Blocks ขององค์การอนามัยโลก คือ

1.หมอบุคลากร ต้องดูแลให้ดี ให้มีค่าตอบแทนที่เพียงพอ และงานเอกสาร ต้องให้กลุ่มนี้ทำน้อยที่สุด

2.ระบบข้อมูลรัฐต้องทำให้ทุกโรงพยาบาลได้รับเท่าเทียมกัน

3.เวชภัณฑ์ ยา และเทคโนโลยี ต้องควบคุมให้ไม่ใช้มากเกินความจำเป็น และต้องสร้างระบบ "เน็ตเวิร์ก" ส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลเล็ก-ใหญ่

4.การให้บริการ ต้องยอมรับว่า ความต้องการบริการมีมากกว่าที่รัฐจะรองรับได้ เพราะฉะนั้นหากงบประมาณหรือบุคลากรต้องผลิตเพิ่ม ก็ต้องเพิ่ม และต้องแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชนเพิ่มเช่นกัน เช่น การผ่าตัดบางอย่าง สามารถไปใช้บริการของภาคเอกชน

5.ภาวะผู้นำ ความทับซ้อนระหว่าง สธ.และ สปสช. ยังมีต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งต้องหาคนกลางมายุติความขัดแย้ง และประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม

6.การเงิน นพ.ธีระ บอกว่า เห็นด้วยกับการระดมภาษีสุขภาพจากประชาชนทั้งประเทศมาสนับสนุนโครงการหลักประกันสุขภาพ โดยต้องตกลงว่าจะครอบคลุมโรคอะไรบ้าง รวมถึงต้องยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ เขายังเสนอแนะด้วยว่า ควรเพิ่มแรงจูงใจในด้านบวก หากประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตัวเอง เช่น ควบคุมน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก็ควรได้รับการลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตประกันภัยรถยนต์ เพราะการรักษาสุขภาพคน ก็คือเรื่องเดียวกับการเพิ่มความสามารถในการผลิตให้กับประเทศ

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า ปัญหาสำคัญคือ "งบประมาณ" ในระบบหลักประกันสุขภาพ ถูกจำกัดโดยระบบงบประมาณของประเทศว่า มีเงินอยู่เท่านี้จะต้องบริหารให้พอ เมื่อไม่พอก็ทำให้ต้องไปลดค่าใช้จ่ายต่างๆ นอกจากนี้อัตราค่าบริการที่ต่างกันระหว่าง โรงพยาบาลเล็ก-โรงพยาบาลใหญ่ รวมถึงแต่ละเขตที่ไม่เท่ากัน ก็ทำให้ความซับซ้อนของระบบกลายเป็นความขัดแย้ง

"ประเด็นสำคัญคือต้องมีหลักประกันให้มั่นใจได้ว่า หากเสนองบเหมาจ่ายรายหัวขึ้นไป จะต้องไม่ถูกปรับลด ปรับวิธีการจ่าย ให้ทุกฝ่ายรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม ให้กระทบกับบุคลากรทุกระดับน้อยที่สุด เพราะระบบเราเป็นอย่างนี้ ทุกคนเหนื่อยหมด" นิมิตร์ แสดงความคิดเห็น

ส่วนปัญหาความแออัดสถานพยาบาล และคิวการรักษานั้น เขาบอกว่าไม่ใช่ปัญหาพื้นฐานของหลักประกันฯ แต่คือปัญหาของระบบสาธารณสุข ที่ไม่สามารถกระจายบุคลากร เครื่องมือ ลงไปยังสถานบริการระดับปฐมภูมิ หรือระดับโรงพยาบาลอำเภอได้ ซึ่งหากไม่สามารถแก้ปัญหาให้คนสามารถเข้ารับบริการในสถานบริการตามลำดับขั้น ก็ไม่สามารถแก้โรงพยาบาลใหญ่แออัดได้อยู่ดี

นิมิตร์ บอกว่า ทั้ง สปสช.และ สธ.จะต้องสำรวจตัวเองครั้งใหญ่ว่า แต่ละพื้นที่มีโรงพยาบาลกี่แห่ง มีแพทย์-บุคลากรกี่คน และในพื้นที่ควรมีกี่คน เพื่อหาวิธี "กระจายบุคลากร" ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่สุด และหากพยายามแล้ว แต่บุคลากรยังกระจุก ก็ต้องเติมงบประมาณลงไป เพื่อให้การรักษาตามลำดับขั้น

ขณะที่การ "ร่วมจ่าย" นั้น เขาเห็นว่า อาจเป็นรูปแบบภาษีสุขภาพ หรือจัดระบบภาษี โดยแบ่งหมวดหมู่เป็นค่าใช้จ่ายว่าด้วยสุขภาพก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตามต้องไม่เป็นระบบที่ร่วมจ่ายเมื่อรักษาตัว หรือร่วมจ่ายโดยซื้อประกันล่วงหน้า แต่ควรเป็นสิทธิที่ประชาชนได้อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ถูกจำกัดด้วยเบี้ยประกันว่าใครมากกว่าหรือน้อยกว่า

นิมิตร์ กล่าวอีกว่า เขาเห็นความพยายามที่ดีในการดัน พ.ร.บ.สภาประกันสุขภาพแห่งชาติ และตั้งบอร์ดสุขภาพระดับชาติ โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อเสนอของบประมาณ และกำหนดสิทธิประโยชน์ร่วมกันทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่แตะเรื่องที่มาของงบประมาณในแต่ละกองทุน และต้นทุนในการรักษาโรคต่างๆ ที่ไม่เท่ากัน ก็อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาอะไร

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 สิงหาคม 2558