กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการพัฒนาระบบบริการสาขาอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เพิ่มช่องทางด่วนผู้ป่วยบาดเจ็บ โดยเฉพาะบาดเจ็บสมองและบาดเจ็บหลายระบบ ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดได้ภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากส่งผู้ป่วยถึงห้องผู้ป่วยฉุกเฉินได้กว่าร้อยละ 80 มีศัลยแพทย์ที่สามารถผ่าตัดสมองในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในส่วนภูมิภาค 51 แห่ง
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2558 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดอาคารอุบัติเหตุ โรงพยาบาลบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ได้รับงบประมาณ 25 ล้านบาทเศษจากกระทรวงสาธารณสุขก่อสร้าง แบ่งพื้นที่เป็นห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ห้องตรวจโรค ห้องรังสีวิทยา ห้องชันสูตรโรค ห้องประชุมและจุดบริการประชาชน เพื่อให้บริการตรวจรักษาประชาชนในอำเภอบางน้ำเปรี้ยวและใกล้เคียงเกือบ 1 แสนคน รวมทั้งรองรับผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เนื่องจากตั้งอยู่ในเส้นทางที่รถขนส่งสินค้าจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมายังภาคตะวันออก ปริมาณรถหนาแน่น เกิดอุบัติเหตุค่อนข้างบ่อย โดยในปี 2557 มีผู้เข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอก 1.3 แสนกว่าครั้ง
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า งานบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน เป็นด่านหน้าที่มีความสำคัญของโรงพยาบาล ทุกแห่ง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤติรวดเร็ว ปลอดภัยลดความพิการ ข้อมูลจากศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉินในปี 2555 พบผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินเข้ารักษาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศจำนวน 24 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2544 ที่มีเพียง 12 ล้านครั้ง และข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขในปี 2556 มีผู้ป่วยอุบัติเหตุจากการขนส่งเข้ารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก 1 ล้านกว่าคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุบัติเหตุยังคงเป็นปัญหาสำคัญของไทย โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางจราจรที่มีอัตราการเสียชีวิต 38 ต่อประชากรแสนคน สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เร่งพัฒนาระบบบริการ สาขาอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ดังนี้ 1.มีระบบจัดเก็บข้อมูลผู้บาดเจ็บ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและอัตราการตาย 2.จัดตั้งเครือข่ายการให้บริการผู้บาดเจ็บระดับจังหวัด เขตสุขภาพและประเทศ 3.จัดระบบการดูแลผู้บาดเจ็บก่อนถึงโรงพยาบาล(Pre-hospital)ดูแลผู้บาดเจ็บที่จุดเกิดเหตุ ให้ผู้บาดเจ็บฉุกเฉินได้รับการช่วยเหลือโดยระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้น และนำส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลอย่างปลอดภัยด้วยรถพยาบาลที่มีมาตรฐาน 4.จัดระบบเครือข่ายการให้บริการผู้บาดเจ็บสมองที่มีความรุนแรงระดับปานกลางถึงรุนแรงและผู้บาดเจ็บหลายระบบ 5.จัดระบบเครือข่ายการดูแลฟื้นฟูผู้บาดเจ็บเมื่อพ้นภาวะวิกฤต ระดับจังหวัดและเขตสุขภาพ โดยทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลจังหวัด
นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบบริการในโรงพยาบาล(In-hospital)จัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำห้องฉุกเฉิน และระบบการให้คำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ช่วยให้ผู้บาดเจ็บได้รับการดูแลรวดเร็ว จัดช่องทางด่วนรองรับโรคที่เร่งด่วนเช่นโรคหัวใจ บาดเจ็บรุนแรง ผลการดำเนินการสามารถเพิ่มระบบช่องทางด่วนสำหรับผู้ป่วยบาดเจ็บ(Trauma Fast Track) ในสถานบริการทุกเครือข่าย โดยเฉพาะผู้บาดเจ็บสมอง( Head Injury) และบาดเจ็บหลายระบบ ( Multiple Injury) ทำให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากส่งผู้ป่วยถึงห้องผู้ป่วยฉุกเฉินได้กว่าร้อยละ 80 รวมทั้งได้เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในภูมิภาค โดยมีศัลยแพทย์ที่สามารถผ่าตัดสมองได้ 51 แห่ง
- 163 views