กระทรวงสาธารณสุข จัดยุทธศาสตร์เชิงรุก คุ้มครองสุขภาพประชาชนที่เกิดจากการประกอบอาชีพและจากมลพิษสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เสี่ยง พ.ศ.2558-2567 หน่วยงานในพื้นที่บังคับใช้กฎหมายจัดการปัญหาได้ ในระยะเร่งด่วน 3 ปีแรก เน้นพื้นที่ 36 จังหวัด ที่มีกิจการเหมือง/ขยะอิเล็คทรอนิกส์ มลพิษทางอากาศ เขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรม เตรียมเสนอครม.เร็วๆ นี้
วันนี้ (7 สิงหาคม 2558) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค นายพิษณุ แสนประเสริฐ รองอธิบดีกรมอนามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเขตสุขภาพที่ 6 และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลระยอง โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ระยอง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และบริษัท ปตท.โกลบอล เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านสุขภาพ การจัดบริการด้านอาชีวอนามัย ประชาชนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า การลงพื้นที่ที่จังหวัดระยองครั้งนี้ เป็นการติดตามการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งระยองเป็นพื้นที่กำลังเติบโต มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ มีประชาชนที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและใหญ่ประมาณ 4 แสนกว่าคน และชุมชนที่อยู่โดยรอบรวม 1 ล้านกว่าคน จะต้องวางแผนดูแลสุขภาพทั้งการจัดบริการรักษาโรคจากการประกอบอาชีพ การเฝ้าระวังป้องกันผลกระทบสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงพยาบาลระยองและโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติฯได้พัฒนาความเชี่ยวชาญในด้านจัดบริการ สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งการทำงานเชิงรุก การวิจัย เฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุกต่อเนื่อง พัฒนาศักยภาพกำลังคนทั้งจำนวนและองค์ความรู้ด้านอาชีวอนามัย ฝึกอบรมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ พยาบาลและบุคลากรในสถานบริการทุกระดับ ร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งมาตรการสร้างความปลอดภัย ลดผลกระทบสุขภาพนี้ต้องดำเนินการควบคู่กับภาคอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข เร่งผลักดันทางนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ คือ การจัดทำยุทธศาสตร์คุ้มครองสุขภาพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เป็นแผน 10 ปี พ.ศ. 2558-2567 มี 6 กลยุทธ์ คือ 1.จัดกลไกบูรณาการทุกภาคส่วน 2.พัฒนาระบบการเฝ้าระวัง สื่อสารเตือนภัย ตอบโต้ในภาวะฉุกเฉิน 3. สร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชน 4.ผลักดันนโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่างๆ ให้มีการบังคับใช้ในพื้นที่อย่างจริงจัง 5.พัฒนาความรู้ มาตรฐานด้านการป้องกัน ควบคุมโรคและห้องปฎิบัติการเพื่อการตรวจวินิจฉัย และ 6.พัฒนาระบบบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ทั่วประเทศมีคลินิกรักษาโรคจากการทำงาน 92 แห่ง ส่วนในพื้นที่มีปัญหามลพิษมีโรงพยาบาลชุมชน จัดบริการ 12 แห่ง และ รพ.สต.2,738 แห่ง ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้จะพัฒนาให้โรงพยาบาลทุกระดับจัดบริการได้ และมีศูนย์เชี่ยวชาญ มีทีมหมอครอบครัว อสม.เชี่ยวชาญ ขยายในหน่วยงานสังกัดอื่นๆ ด้วย โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์นี้จะทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยอย่างชัดเจนตั้งแต่เนิ่นๆ และหน่วยงานในพื้นที่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งดำเนินการ 2 ระยะ ระยะ 3 ปีแรก พ.ศ.2558-2560 จะเน้นใน 3 พื้นที่เร่งด่วน ซึ่งระยองเป็น 1 ใน จังหวัดเป้าหมายซึ่งมี 36 จังหวัด ได้แก่ 1.พื้นที่มลพิษสารเคมีและสารอันตราย เช่นเหมืองเก่า เหมืองทองคำ เช่น พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก รวมทั้งพื้นที่ที่มีขยะอิเล็คทรอนิกส์ เช่นกาฬสินธุ์ 2.พื้นที่มลพิษ ฝุ่นละอองทางอากาศ เช่นที่สระบุรี และจากหมอกควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งในปี 2558 นี้ มีผู้ป่วยกว่า 50,000 คน และ 3. พื้นที่ที่คาดว่าจะมีปัญหาสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ เช่นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และนิคมอุตสาหกรรมซึ่งปัจจุบันกระจายทั่วประเทศ 59 แห่ง ปัญหาที่พบเช่นมีการรั่วไหลสารเคมี เป็นต้น และขยายครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดเมื่อสิ้นแผน
เรื่องที่ 2 คือ การเสนอจัดตั้งกองทุนเพื่อแก้ไขผลกระทบสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเริ่มที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมาเป็นเวลา 30 ปี จากรายงานตั้งแต่พ.ศ. 2542-2558 มีปัญหาสารเคมีจากภาคอุตสาหกรรม รั่วไหล ระเบิด เกิดขึ้นในพื้นที่ 39 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 1.000 กว่าราย และมีเหตุร้องเรียนกลิ่นเหม็นจากสารเคมีอยู่เนืองๆ ซึ่งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ยังไม่มีเรื่องของสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กองทุนนี้จะใช้ส่งเสริมสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ป้องกันการเจ็บป่วย รวมทั้งการรักษาฟื้นฟู โดยเสนอให้ภาคอุตสาหกรรมร่วมจ่ายเงินเข้ากองทุนตามความเสี่ยง และบริหารร่วม หรือเรียกว่ากองทุน พีพีพี (Polluter Pay Principle : PPP)ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข
- 8 views