นสพ.ไทยรัฐ : “ปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย” ทั้งภาพใหญ่...ภาพย่อย เป็นปัจจัยสะท้อนการขับเคลื่อนที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่วิกฤติใหญ่ทั้งระบบ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ไวรัสสัตว์สู่คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ปัญหาร้ายแรงขณะนี้ต้องจับมือร่วมกันทุกฝ่าย นับตั้งแต่ผู้ให้บริการ ประชาชน รวมทั้งโรงเรียนแพทย์ โดยต้องเข้าใจตรงกันว่า...
“ป้องกัน...ต้องมาเป็นอันดับแรก มิฉะนั้นต่อให้ประเทศรวยแค่ไหนก็ต้องล่มจม และคุณภาพคนในประเทศ จะแย่หมดเพราะสุขภาพบกพร่องทำงานไม่เต็มที่ แล้วจะเหลือใครมาชูชาติไทย”
ประเด็นต่อมา...เงินก้อนเดียวต้องช่วยทั้งประเทศ
ดังนั้น “ยา”...ต้องพิจารณาที่ผลิตในประเทศที่ตรวจสอบคุณภาพแล้ว ไม่มีการอ้างยานอกดีกว่า เช่นยาไขมันนอก เม็ดละ 60 บาท ของไทยผลิตเองเพราะเมืองนอกหมดสิทธิบัตรแล้ว 5 บาท
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
“ยาผีบอก”...ไม่ได้มีข้อมูลว่าดีจริง แต่หลุดมาได้อย่างไรจาก อย. ต้องกำจัดออก ทั้งนี้รวมถึงยาที่ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ประโยชน์ ไม่รักษาต้นเหตุ ชะลอโรคไม่ได้ ช่วยกระตุ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างใกล้ตัวหมอก็เช่น ยาอัลไซเมอร์ทั้งหลาย
และเรื่องสำคัญที่ต้องกล่าวถึง “คนที่มีฐานะต้องช่วยจ่าย ไม่ใช่รวยเป็น 100 ล้าน แต่เบียดเบียนชาวบ้าน ขอฟรี...นี่เป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่”
ประเด็นที่สาม...การรักษาคนไข้เริ่มเป็นหรือยังไม่หนัก ต้องให้ความสำคัญสูงสุด คนไข้เหล่านี้จะเหมือนคนปกติไปนานเท่านาน การรักษาเมื่อป่วยต้องนอนโรงพยาบาลแล้ว หมายความว่าอวัยวะเริ่มเสีย ถดถอยด้วยความเร็วสูง แม้จะกลับคล้ายดูดี เครื่องในก็หาเหมือนเดิมไม่
ประเด็นที่สี่...คนป่วยต้องเข้าใจอย่าตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อ ทุกโรครักษาได้ แถมยังฟรี ความคาดหวังสูงเหล่านี้ทำให้ไม่เคยสนใจตนเอง ไม่ใส่ใจการป้องกันตนจากโรค รักษาไม่หาย ตาย หมอรับเละ
“ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้...ต่อไปหาหมอไม่ได้แล้วครับ จะมีก็เป็นคุณหมอโรงพยาบาลเอกชนหมด แล้วจะเหลือใครมารักษาคนส่วนใหญ่ในประเทศ”
ประเด็นที่ห้า...การสร้างแพทย์ต้องเตรียมให้เผชิญกับความจริง ตรวจคนไข้นอกวันละ 60...คนไข้ในอาการหนักวันละ 30 ตามสภาพโรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลศูนย์ หนำซ้ำต้องรับย้ายจากโรงพยาบาลชุมชนหมด เพราะคนไข้จะฟ้องท่าเดียวถ้าเกิดผิดพลาด
“โรงเรียนแพทย์ต้องสอนให้กระชับรวบรัด คิดเองเป็น รู้ว่าจะหาความรู้เพิ่มเติมที่ไหน อาจารย์ทุกคนเป็นซุปเปอร์สเปเชียลลิสต์ (super specialist)...ในด้านลึก แต่ต้องไม่จับลูกเด็กเล็กแดง มารู้ลึกเท่ากันหมด รู้ตามมาตรฐานในการช่วยชีวิต รู้ว่าเมื่อไรต้องหาความช่วยเหลือ รู้ขอบเขตความสามารถ และต่อยอดได้ในอนาคต”
ประเด็นที่หก...การประเมินคุณภาพโรงพยาบาลของระบบในพื้นที่ ไม่ใช่ประเมินกระดาษ การประเมินว่าดี เพราะมีคนไข้ล้นหลามมีผ่าตัดเละเทะ ใส่ขดลวดเส้นเลือดหัวใจเป็นว่าเล่น ถือว่าเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของการป้องกันตั้งแต่ระดับชุมชน...พื้นที่...การชะลอโรค
“เมื่อคนไข้เริ่มป่วย ระบบดี...ต้องคนไข้น้อย...ป่วยน้อย”
ประเด็นที่เจ็ด...ระบบประกันสุขภาพขณะนี้ดี แต่ไม่รอดในอนาคต
“ถ้าไม่คิดองค์รวม คนจะเป็นหมอต้องรู้การกำเนิดของโรค รักษาและป้องกันต้องไปด้วยกัน ห้ามฝ่ายป้องกันและรักษาทะเลาะกันเด็ดขาด ถ้าตายก็ตายด้วยกันหมดแหละครับทั้งประเทศ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ว่า
ประเด็นที่แปด...การสร้างแพทย์
“ต่างประเทศขณะนี้เริ่มเล็งเห็นความสำคัญในการเรียนวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานกำหนดให้ผ่านปริญญาตรีก่อนอย่างน้อย 3-4 ปี และต้องมีงานวิจัย...ที่ต้องทำ หลังจากนั้นเข้าเรียนแพทย์ 5 ปี แต่ละปีนอกจากจะมีรูปแบบของการผสมผสานศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ยังเป็นในรูปของการแก้ปัญหามีโจทย์เป็นตัวตั้ง...ตั้งแต่ปีแรกและปีที่สอง ช่วงบ่ายต้องอยู่กับหมอที่ทำงานในชุมชน เรียนรู้ความสำคัญของคนไข้เชื้อชาติต่างๆ”
นอกจากนี้ยังต้องแนะนำวิธีการปรับตัวของคนไข้เมื่ออยู่ในสภาพไม่ปกติ...ต้องเข้าใจกองทุนของประเทศซึ่งต้องช่วยคนส่วนใหญ่ เลือกยาถูกที่ดี...มีผลกระทบในการชะลอ ป้องกันโรค ไม่ใช่เพียงบรรเทาอาการ
ช่วงปีที่ 3...4...5 เรียนและขึ้นหอผู้ป่วย โดยมีความรู้สึกของการที่ต้องเข้าใจทั้งตัวมนุษย์...ตัวโรค และมีปัญญาพอที่จะตัดสินใจ หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ด้วยตัวเอง
ก้าวต่อจากนั้น ก็ไปเป็นแพทย์ฝึกหัดอีก 2 ปี ค่อยเลือกว่าจะเป็นอะไรในการต่อยอด แต่ไม่ว่าจะเลือกทางสายไหนก็ยังคงมีปัญญาที่จะติดตามวิชาการ และพอเข้าใจความสำคัญที่ต้องมีการวิจัย...การแปลผลการวิจัย (แม้ไม่ได้ทำวิจัยเอง) การรับรู้ยากลุ่มใหม่ๆ ที่เข้าตลาดว่า ตัวไหนมีความเก่งจริงหรือผลข้างเคียงสูง ที่สำคัญ...ยังรับรู้สถานการณ์ทางสาธารณสุขของประเทศได้
จุดสำคัญมีว่า การสร้างแพทย์เป็นปัญหาที่หมักหมมมานับ 10 ปีตั้งแต่ลดตัดการเรียน เพราะคิดว่าไม่ได้ใช้ ไม่ได้ประโยชน์ แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อช่วยในการยืนด้วยขาตัวเองของประเทศในอนาคต
ตัดตอนทัศนะคุณหมอที่ฝากไว้ในเว็บไซต์ Hfocus.org เกี่ยวกับทางออกระบบสุขภาพ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ชี้ว่า...ที่ชัดเจนและต้องแก้ไขก็คือเรื่องกำลังคนที่ทำงานในโรงพยาบาลต่างๆ ของรัฐยังไม่เพียงพอกับภาระงาน ขณะที่งบประมาณนอกจากไม่เพียงพอต่อภาระงานแล้ว ยังมีการเบิกจ่ายที่ยังวุ่นวาย ต้องเขียนรายงานเบิกจ่ายตามโรค
“เสียงบ่นกรณีผู้บริหารลงพื้นที่ดูงาน ต้องเสียเวลาในการต้อนรับ...ชี้แจง หากต้องการเห็นปัญหา ผู้บริหารตั้งแต่รัฐมนตรีลงมาควรลงมาเพื่อดูสภาพจริงในเวลาปกติ ซึ่งผู้บริหารเองก็เป็นหมอ...จึงมีการพูดคุยมาตลอดว่า อยากให้ลองมานั่งตรวจผู้ป่วยดู เฉพาะผู้ป่วยนอกวันละ 50 ราย...จะทำได้หรือไม่”
ทั้งยังต้องดูแลผู้ป่วยใน...ผู้ป่วยไอซียู และยังอยู่เวรอีก แต่ละเดือนแทบไม่ได้พักผ่อน
“สถานการณ์ในระบบสุขภาพขณะนี้ ผมมองว่าเป็นระบบที่คัดกรองคนดีออกจากระบบ...คนที่ออกไปเพราะทนไม่ไหว คนที่อยู่ในระบบก็อยู่แบบตายซาก ดังนั้นจะมาหวังคุณภาพอะไรต่างๆคงไม่ได้ ซึ่งผู้บริหารต้องรับทราบปัญหาและแก้ไข โดยเฉพาะรัฐมนตรีหากยังปล่อยให้เป็นอยู่แบบนี้ ไม่ต้องมีก็ได้”
เหลียวไปมองงานด้านป้องกันโรค ก็ยังมีปัญหาทำได้ไม่สำเร็จ เพราะหากป้องกันได้จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ แต่วันนี้ยังมีคนไข้ที่มีภาวะป่วยเป็นโรคเต็มขั้นเข้ารักษาเป็นจำนวนมาก
รายละเอียดปลีกย่อยยังมีหลายประเด็นชวนให้ติดตาม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ฝากความหวังทิ้งท้าย หวังว่า...น่าจะมีการทำความเข้าใจและทราบปัญหาที่หลากหลายที่มีอยู่มากมายในขณะนี้อยู่แล้ว ซึ่งทำให้เราด้อยกว่าประเทศอื่นๆ และจะยิ่งหมักหมมปัญหามากขึ้นในอนาคต.
ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 22 กรกฎาคม 2558
- 16 views