สพฉ. จับมือ 10 ประเทศอาเซียน จัดทำแผนพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ เตรียมเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนกันยายนนี้ ตั้งเป้าสร้างมาตรฐานการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดประชุมการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในภาวะปกติและภัยพิบัติ ระหว่างประเทศอาเซียน กับประเทศญี่ปุ่น ที่โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท โดยมีตัวแทนจากประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ประเทศละ 3 คน และ ทีมแพทย์ฉุกเฉินจากประเทศญี่ปุ่น ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ฉุกเฉินจาก JICA (Japan International Cooperation Agency) 15 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนและสรุปผลการศึกษาระบบการแพทย์ฉุกเฉินและระบบการการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติของ 10 ชาติอาเซียนด้วย
นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ภายใต้โครงการ "การจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติของอาเซียน" ( Disaster Health Management ) ซึ่งประเทศไทยได้รับมอบหมายจากที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนให้เป็นแกนนำในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในอาเซียนให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โดยจะมีการจัดทำแผน 3 ปี ระหว่างปี 2559-2561 เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินและการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติในกลุ่มอาเซียน สำหรับกิจกรรมในการประชุมครั้งนี้จะเป็นการสรุปบทเรียนในการทำงานร่วมกันของ 10 ประเทศอาเซียนในการรับมือภัยพิบัติ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เนปาล การเสวนาระดมความคิดเรื่องการปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกันระหว่างทีมแพทย์ของประเทศต่างๆ ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับภูมิภาค
รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวถึงผลสรุปของการประชุมในครั้งนี้ว่า ที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันในหลายเรื่องดังนี้ 1.ประเทศอาเซียนจะจัดประชุมการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในภาวะปกติและภัยพิบัติ ระหว่างประเทศอาเซียนอย่างน้อยปีละ1 ครั้งเพื่อทบทวนถึงแนวทางและมาตรการที่ 10ประเทศจะปฏิบัติร่วมกันหากเกิดภัยพิบัติขึ้นในแต่ละประเทศ 2. จะมีการซ้อมแผนเพื่อรับมือภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียนร่วมกันอย่างน้อยปีละครั้ง และจะมีการจัดทำมาตรฐานของทีมแพทย์ฉุกเฉินและมาตรฐานของบุคลากรทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสภาวะภัยพิบัติที่จะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งอาเซียนโดยจะมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี
3.ประเทศสมาชิกจะร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลของทีมแพทย์ฉุกเฉินและบุคลากรทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินของแต่ละประเทศว่าในแต่ละพื้นที่มีทีมที่ทำงานมากน้อยเท่าไหร่และบทบาทการทำงานของทีมแพทย์ฉุกเฉินในแต่ละประเทศเป็นแบบไหนลักษณะใดและมีศักยภาพในการทำงานมากน้อยแค่ไหนอย่างไรบ้าง และหากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติในและประเทศเราจะสามารถติดต่อทีมแพทย์ฉุกเฉินในประเทศสมาชิกที่เกิดเหตุได้ในรูปแบบไหนอย่างไร 4.การจัดทำข้อมูลการประเมินสถานการณ์และประเมินความต้องการช่วยเหลือทางการแพทย์ของพื้นที่ประสบภัย และ 5. จัดให้มีการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับในภูมิภาคอาเซียนเพื่อให้เตรียมพร้อมกับการรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย โดยข้อสรปุทั้ง 5 ข้อจะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนเห็นชอบต่อไป ในเดือนกันยายนนี้
ทั้งนี้ระหว่างการประชุมผู้เข้าร่วมงานยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช อาทิ ระบบการฝึกอบรมบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน การเรียนรู้ประสบการณ์การรับมือมหาอุทกภัยในปี 2554 เพื่อให้แต่ละประเทศในอาเซียนนำไปปรับใช้อีกด้วย
- 22 views