หลังจากรัฐบาลได้มีคำสั่งฟ้าฝ่าโดยใช้ ม.44 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 58 ระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นการชั่วคราวและไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งประจำสำนักงานปลัดกระทรวงที่สังกัดและให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐมนตรีเจ้าสังกัดมอบหมาย นั้น หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามกับความพยายามในครั้งนี้ของรัฐบาลว่า เป็นเพียงแค่ความต้องการทำให้สมดุลกัน หลัง นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 58 หรือต้องการส่งสัญญานบางอย่างเกี่ยวกับการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือไม่
สำนักข่าว Health Focus ได้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับคอลัมนิสต์ชื่อดังที่เกาะติดความเคลื่อนไหวทางด้านสาธารณสุขมาอย่างคร่ำหวอดโดยใช้นามปากกาว่า “ใบตองแห้ง” ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่คิดที่จะล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เพียงแต่ว่า ความไม่เข้าใจในหลักคิดในการจัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะทำให้จัดการกับปัญหาไม่ตรงจุด สิ่งที่รัฐบาลในปัจจุบันกำลังคิดหนักอยู่ก็คือ การใช้งบประมาณ เนื่องจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และรัฐบาลหนักใจว่าทำอย่างไรที่จะทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่เป็นภาระมากที่สุด เพียงแต่ว่าความกลัวที่ว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะเป็นภาระงบประมาณระยะยาวและจะพอกพูนขึ้นสูงมาก
“หากมองอีกแง่หนึ่งก็เป็นความตั้งใจดี แต่พอผสมเข้ากับความไม่เข้าใจว่าหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคืออะไร และหากเชื่อว่า มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นการไปรับความเชื่อของกลุ่มประชาคมสาธารณสุขว่า ถ้ามีการเปลี่ยนระบบบริหารจัดการจากที่ สปสช.ทำอยู่อาจจะดีกว่านี้ ซึ่งเชื่อว่ามันจะมีความเชื่อนี้อยู่ และความเชื่อนี้มันเข้าถึงฝั่งของคนมีอำนาจมากกว่า”
สำหรับการใช้คำสั่งตาม ม.44 ย้าย เลขาธิการ สปสช.นั้น คอลัมน์นิสต์ท่านนี้วิเคราะห์ว่า หากย้อนกลับไปก็มีมุมสะท้อนอยู่ 2 มุม คือมุมหนึ่งคล้ายๆ กับว่า วิน วิน เท่ากันหรือเปล่า ไหนๆ ก็ย้าย นพ.ณรงค์ ไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็เลยย้าย นพ.วินัย ไปด้วย จะได้ไม่มีใครรู้สึกว่า ใครได้ใครเสียซึ่งเป็นการจัดการแบบนักการเมือง
แต่สิ่งสำคัญที่จะตามมาหลังจากการย้าย นพ.วินัย ไปแล้วนั้น ในทัศนะของ ‘ใบตองแห้ง” เห็นว่า ต้องประเมินว่าทิศทางต่อไปของการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคืออะไร และรัฐบาลจะเลือกทางไหน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คล้ายกับว่าเป็นความพยายามที่ต้องการจะรื้อระบบ แล้วหาทางที่จะทำให้ประหยัดงบประมาณลง ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คิดแบบนี้หรือไม่ แต่คาดว่าจะเป็นแบบนี้ ซึ่งอาจจะรับฟังจากกลุ่มที่เชื่อว่า ถ้ากลับเอาไปให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเองจะดีกว่า แนวคิดนี้ก็เข้าไปสู่สายผู้มีอำนาจบางส่วนใน คสช.เหมือนกันว่า หากให้กระทรวงสาธารณสุขทำดีกว่าไหม มันก็ตามมาด้วยแนวคิดหลายๆ อย่าง
“ซึ่งตอนนี้ผมมองว่ามันยังสับสน ยังสรุปอะไรไม่ได้หลายอย่าง ทั้งการร่วมจ่าย และวิธีการร่วมจ่าย ซึ่งมันเป็นการแสดงความรู้สึกว่าเป็นภาระมาก ที่จะต้องหาทางลดภาระงบประมาณตรงนี้ ซึ่งเป็นความรู้สึกของฝั่งผู้มีอำนาจที่รู้สึกกันค่อนข้างมากและค่อนข้างกว้างด้วย”
และจากทัศนะที่มองว่าต้องรื้อระบบ และหาทางประหยัดงบประมาณในระบบ 30 บาทนั้น ‘ใบตองแห้ง’ วิเคราะห์ว่า เป็นความเข้าใจเรื่องนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มองจากฝั่งข้าราชการ
“คือ คนที่เป็นข้าราชการจะรู้สึกว่า มันเป็นความสิ้นเปลืองโดยพื้นฐาน และมีภาระจำเป็นอย่างอื่นของประเทศมากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับทัศนะของคนชั้นกลางที่มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของภาษี ทำไมต้องแบกรับภาษีให้กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้คนจนไม่รับผิดชอบตัวเอง และกลายเป็นสิทธิขึ้นมา แถมถ้ามีอะไรเสียหายยังฟ้องร้องได้อีกต่างหาก ซึ่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยหลักการคือเรื่องของสิทธิ แต่ตอนนี้มีมุมมองจากฝั่งข้าราชการและชนชั้นกลางมองว่าเป็นการสงเคราะห์ ทำไมรัฐบาลต้องมารับผิดชอบงบประมาณส่วนนี้ แถมยังต้องดูแลแบบถ้วนหน้า และดูแลให้ดีด้วย
และทัศนะตรงนี้มันขึ้นมาสูงมาก หลังจากการต่อต้านประชานิยม อย่างการต่อต้านโครงการจำนำข้าว และทัศนะเหล่านี้มันมีส่วนเข้ามากระทบโดยตรงที่ทำให้การเคลื่อนไหวของประชาคมสาธารณสุขได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างกว้าง โดยเฉพาะจากกลุ่มที่ไล่รัฐบาล นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือ กลุ่มชนชั้นกลางระดับบน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ใช้บริการจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้จะมีสิทธิ์ 30 บาทก็ตาม เพราะส่วนใหญ่ไปใช้โรงพยาบาลเอกชนอยู่แล้ว และจากตรงนี้จะเห็นว่า หากเรียกร้องทำอย่างไรให้ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนมีราคาถูกลง กลุ่มคนชั้นกลางจะมีอารมณ์ร่วมมากกว่า แต่เรื่อง 30 บาท อาจรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบอยู่ ดังนั้นกระแสนี้มันถึงได้ขึ้นมา”
จากสถานการณ์ตรงนี้ นั่นหมายความว่า ขณะนี้ทิศทางของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่ชัดเจนว่าจะเดินหน้าไปในทางใด และยังวนอยู่กับเรื่องแนวคิดว่าเป็นสิทธิ หรือจะเป็นการสงเคราะห์กันแน่ แต่จากการที่ระบบเดินหน้ามาได้ 14 ปี แน่นอนว่าต้องมองถึงทิศทางที่ควรจะไปต่อในอนาคต ซึ่ง ‘ใบตองแห้ง’ เห็นว่า เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ คนที่พูดได้ดีคือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมช.สธ. สมัยรัฐบาล พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งบอกว่า ควรพัฒนาไปเป็นแบบโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ไปสู่ลักษณะคล้ายกับโรงพยาบาลของชุมชนหรือเป็นโรงพยาบาลที่ไม่ใช่เฉพาะท้องถิ่น แต่ทำให้เป็นภูมิภาคและมีลักษณะเป็นองค์การมหาชน
“โดยรับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวไป เกือบหมดเลยก็ได้ และ สปสช.ก็รับผิดชอบแค่บางส่วน หรือโรคราคาแพงบางอย่างเท่าที่จำเป็น โดยให้บริหารตัวเอง ซึ่งให้ชุมชนมีส่วนร่วมมีความเป็นเจ้าของ โดยให้อยู่ได้ด้วยตัวของหน่วยงานเอง ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีกว่าจะขึ้นอยู่กับใคร ทำให้ สปสช.มีบทบาทเป็นบริษัทประกันที่ควรตรวจสอบคุณภาพและบริการ มีกองทุนสำรองส่วนหนึ่งสำหรับค่าใช้จ่าย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ดูงานในภาพกว้างทั้งในเรื่องการป้องกันโรค ปัญหาสาธารณสุขของประเทศและงานวิชาการ เป็นต้น”
เมื่อถามถึงความขัดแย้งในระบบสาธารณสุข ที่ตอนนี้มี 2 ฝ่ายหลักๆ คือ สายแพทย์ชนบท และสายประชาคมสาธารณสุขนั้น ‘ใบตองแห้ง’ มองว่า สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มแพทย์ชนบทและกลุ่มผู้สนับสนุนแพทย์ชนบท รวมทั้งเอ็นจีโอบางส่วนที่ผ่านมานั้น เห็นว่า เป็นการใช้วิธีการที่มองว่ารัฐบาลไหนก็ได้ ที่จำเป็นต้องต่อรองและสร้างความมั่นคงด้านความนิยมกับประชาชนก็เสนอเข้าไปว่าจะทำอะไร และมีความรู้สึกว่าได้ทุกอย่างในแต่ละช่วง ได้มาตลอดตั้งแต่สมัยรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน จนกระทั่งรัฐประหารในปี 2549 เครือข่ายแพทย์ชนบทก็มีบทบาทสูงมาก และเมื่อเห็นว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สามารถต่อรองได้ และดูโอกาสแล้วว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์พังแน่ๆ ก็เลยกระโดดไปทางฝั่งที่ต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์
“แต่ตรงนี้มันก็เป็นทัศนะของบางคนด้วย ซึ่งมันก็ต่างกันและส่วนใหญ่ก็ไปทางไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และมีความเชื่อมั่นว่า เมื่อถึงยุครัฐประหาร อาจจะได้อะไรเพิ่มขึ้นหรือเสนออะไรได้เพิ่มขึ้น แต่พอดีมันผิดแผน ตรงที่กลุ่มประชาคมสาธารณสุขก็กระโดดไปทางไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วย ซึ่งไม่เหมือนปี 2549 ที่ครั้งนั้นกลุ่มประชาคมสาธารณสุขเองก็ไม่ได้ชื่นชมในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็ไม่ได้กระโดดเข้าไปร่วมกับกลุ่มพันธมิตร แต่ครั้งนี้ นพ.ณรงค์ ปลัด สธ.ซึ่งเคยยืนอยู่กับ นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ เมื่อครั้งเป็น รมว.สธ. และรบกับกลุ่มแพทย์ชนบท แต่อยู่ๆ ก็กระโดดมาเป็นผู้นำกลุ่มประชาคมสาธารณสุขและไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และกลายเป็นพลังที่ใหญ่กว่าแพทย์ชนบท และมีอำนาจต่อรองสูง แม้ยกแรกมีการย้าย นพ.ณรงค์ แต่พอมารอบนี้มีการย้าย นพ.วินัย มันก็เหมือนกับว่า เป็นการเล่น เกมส์ วิน วิน กันหรือเปล่า แต่ไม่รู้ว่าใครจะโดนหนักกว่า และอะไรจะเกิดขึ้นกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ไม่รู้”
ท้ายสุด ‘ใบตองแห้ง’ มองว่าสำหรับเครือข่ายแพทย์ชนบทนั้น จากท่าทีการเคลื่อนไหวในรอบนี้ และจากสถานการณ์ระบบสุขภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้ บอกได้ว่า เครือข่ายแพทย์ชนบทนั้น คิดผิด นั่นเพราะ “มันเป็นทัศนะของความคิด ความเชื่อ ที่มองว่า นักการเมืองทุจริต และอำนาจรวมศูนย์ของกองทัพมันสามารถที่จะคุยกันง่ายกว่า และสามารถผลักดันอะไรได้ดีกว่า แต่มันผิดไป และสิ่งที่คิดผิดถนัดเลยสำหรับแพทย์ชนบทคือ ตอนนี้มันเป็นการต่อสู้ทางสังคมระหว่างชนชั้น ซึ่งพลังที่สนับสนุนรัฐประหารขณะนี้เป็นพลังของชนชั้นกลาง คนมั่งมีระดับบนไม่ได้ต้องการนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและมองว่าเป็นภาระด้วยซ้ำ”
- 50 views