คนดีตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ไม่ได้มีแค่ไทยพีบีเอส กับ สสส. แต่ยังมีหมอณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ที่ได้กลับไปเป็นปลัดสาธารณสุข ขณะที่หมอวินัย สวัสดิวร เลขาฯ สปสช.ยังโดน ม.44 ไม่รู้ใครหัวเราะทีหลังดังกว่า
หมอณรงค์กลับมา แม้อยู่ไม่ถึง 2 เดือนก็สั่นสะเทือน อันดับแรกคือขวัญกำลังใจ "ประชาคมสาธารณสุข" มอบ ช่อดอกไม้ล้นหลาม ให้รู้เสียบ้างว่าหมอณรงค์ก็มี Power เหมือนกัน ฝ่ายทหารใช่จะฟังแต่รัฐมนตรี ปรับ ครม.ครั้งนี้เผลอๆ มีหมอตกเก้าอี้ หรือถ้าไม่ปรับเดี๋ยวมีไล่ แค่ 1-2 วันนี้ก็เริ่มปลุกกระแสทวง ไหนใครว่าถ้าปลัดได้กลับจะ ลาออกยกพวง ทั้งหมอรัชตะ รัชตะนาวิน หมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และรองนายกฯ ยงยุทธ ยุทธวงศ์
ต่อให้ 2 รัฐมนตรียังเกาะเก้าอี้ 2 เดือนนี้ก็สนุก ใครว่ามีสัญญาห้ามย้ายข้าราชการ อ้าว ก็ฤดูแต่งตั้งพอดี ปลัดมีอำนาจย้ายจะห้ามได้ไง แม้ปลัดใหม่อธิบดีใหม่ต้องให้รัฐมนตรี นำเข้า ครม. แต่ซี 9 ลงไปใครห้ามได้ เดี๋ยวก็มีม็อบต้าน "การเมืองแทรกแซงข้าราชการประจำ"
แน่ละ เวลาสั้นๆ หมอณรงค์คงไม่ทันรุกไล่ สปสช. แต่ประชาคมสาธารณสุขก็ได้ใจ และได้กระแสหนุนเนื่อง ไม่เห็นหรือ นายกฯ ยังบ่นว่างบ 30 บาทเป็นภาระ ต้องหาวิธีให้คนรวยสละสิทธิ์หรือให้ร่วมจ่าย สื่อทั้งหลายที่เคยเห็น สปสช.หมอชนบท เป็นพระเอกแต่ฝ่ายเดียว ตอนนี้กลับไล่บี้ สปสช.เอาเป็นเอาตาย
สถานการณ์นี้ต่างกับรัฐประหาร 2549 ที่แพทย์ตระกูล ส. ได้อำนาจเบ็ดเสร็จ หมอมงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรี หมอวิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัช ร่วมกับหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.ทำ CL หักคอบริษัทข้ามชาติจนยาละลายลิ่มเลือดเม็ดละ 80 บาทเหลือ 1.50 บาท ประกาศคุณงามความดีของการ "ร่วมมือกับรัฐประหาร" จนถึงวันนี้
นี่คือวิถีแพทย์ตระกูล ส. เครือข่ายหมอประเวศ วะสี ซึ่งรวบรวมแพทย์ชนบทผู้มีอุดมการณ์ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา มารวมกลุ่ม "หมอสามพราน" วางยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา เอากับอำนาจทุกขั้ว ไม่สนว่าเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ขอเพียงได้สร้างองค์กรขับเคลื่อนสุขภาพนอกระบบราชการ (ซึ่งก็ทำให้ขัดแย้งกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข)
ตั้งแต่ยุคอานันท์ก็ได้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ยุคชวนได้ สสส.ภาษีบาป 2% เป็น "ท่อน้ำเลี้ยง" สร้างเครือข่ายใหญ่โต เลี้ยงไปถึง NGO และสื่อ (สถาบันอิศราได้งบ 8 ปี เกือบ 100 ล้าน) ยุคทักษิณได้ 30 บาทรักษาทุกโรค ยุค พล.อ.สุรยุทธ์ได้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และได้ไทยพีบีเอสแถมพก
แต่รัฐประหารครั้งนี้เปลี่ยนไป แน่ละ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะหมอณรงค์นำประชาคมสาธารณสุขเป่านกหวีด ทำเอาแพทย์ชนบทหงายเงิบ ทั้งที่ขับรถฉุกเฉินเข้า กปปส.มาก่อน แต่ประชาคมสาธารณสุขมีพลังกว่า
กระนั้นยังไม่สำคัญเท่ารัฐประหารครั้งนี้คือการกลับมา มีอำนาจของรัฐราชการเทคโนแครต ซึ่งคิดตรงข้ามเครือข่ายหมอประเวศ พูดง่ายๆ ทัศนะรัฐราชการ 30 บาท "เปลืองงบ" ทำไมรัฐจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายรักษาทุกโรคทุกคน แค่รักษาข้าราชการก็พอ
ทัศนะนี้ไม่ใช่กระทบแค่เครือข่ายสุขภาพ แต่รวม NGO ภาคประชาสังคม ทั้งเรื่องป่าไม้ ที่ดิน เขื่อน โรงไฟฟ้า ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ฯลฯ รัฐราชการไม่สนว่าเป่านกหวีดมาหรือไม่ รสนา สารี ได้เป็น สปช.แต่ก็ค้าน พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับราชการไม่ไหว สมานฉันท์แรงงานไทยเป่าปี๊ดไล่ "อีปู" ขึ้นค่าแรง 300 บาทวันนี้เป็นไง จะเลิกค่าแรงขั้นต่ำ
พลังทางสังคมที่หนุนรัฐประหารต่างไป ปี 49 NGO เสียงดังในพันธมิตร แต่ปี 57 พวก คปท.เป็นแค่ทัพหน้าม้าใช้ กำลังหลัก กปปส.คือคนชั้นกลางอนุรักษนิยม ซึ่งเกลียดประชานิยม "คนจนเอาเปรียบสังคม" ทักษิณเอาเงินภาษีเราไปใช้หาเสียง คนจนเครียดกินเหล้าสูบบุหรี่ ป่วยแล้วรักษาฟรีไม่รับผิดชอบตัวเอง
สิบกว่าปีผ่านไป องค์กรตระกูล ส.ยังเผยจุดอ่อน คือทำตัวเป็น "อำมาตย์ใหม่" คนดีมีแต่พวกเรา ความถูกต้องมีแต่พวกเรา ทำตัวเป็น NGO แต่มีเงินมากมายให้ใช้ แพทย์ชนบท แค่อยู่ชุมแพได้เงินเพิ่มหลายหมื่น กระแสจึงตีกลับเรียกร้องให้จำกัดงบ สสส. ลามไปถึงตรวจสอบ สปสช.
พูดอย่างนี้คงมีคำถามว่าเข้าข้างไหนกันแน่ อ้าว ยังไงก็ต้องปกป้อง 30 บาทสิครับเพราะเป็นผลประโยชน์ประชาชน แต่ตัวคนไม่เกี่ยว และยังไงก็ขอหัวเราะให้สะใจซะก่อนสักยกใหญ่ กับวิบากกรรมของเครือข่ายประชาสังคมที่เรียกหารัฐประหาร เป็นไงล่ะ มีเสรีภาพมีประชาธิปไตยแล้วไม่พอใจ เจอผู้ว่าฯ ขู่ฆ่า NGO สมมั้ย
ที่มา : นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 8 ส.ค. 2558
- 67 views