คนดีตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ เป็นข่าวได้ไม่ทันนกกระจอกกินน้ำ ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะให้กองทุน "ภาษีบาป" ต้องของบประมาณผ่านรัฐสภา ก็โดนภาคีเครือข่ายหมื่นล้านรุมด่า จนกรรมาธิการถอยกรูด
ถอยโดยอ้างว่ากรรมาธิการ "โง่" เพิ่งรู้นะ "ภาษีบาป" ไม่ได้หักจากภาษีส่งคลัง แต่เป็นการเก็บเพิ่มจากบริษัทเหล้าบุหรี่ คือภาษีสรรพสามิตหักเต็ม 100 แล้วยังตามไปเก็บเพิ่ม 2% ให้ สสส. 2% ให้กองทุนกีฬา และ 1.5% แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านให้ไทยพีบีเอส ฉะนั้นถึงยกเลิกไปก็ไม่ได้เงินเข้าคลังเพิ่ม แต่จะกลับเข้าบริษัทเหล้าบุหรี่ฟรีๆ
ซตพ.อธิบายง่ายดี แต่อธิบายอย่างนี้หนีคำว่า "เงินภาษีประชาชน" พ้นหรือเปล่า พูดราวกับว่าเป็นเงินที่ปล้นมาจากโจร จะเอาไปใช้อย่างไรก็ได้ ไม่ต้องบันยะบันยังไม่ต้องมีการตรวจสอบควบคุม
"โจร" ที่ว่ารวมโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ด้วยนะครับ แล้วภาษีทั้งหมดก็ผลักสู่ผู้บริโภค หรือจะบอกว่า ผู้บริโภคเหล้าบุหรี่เป็นคนเลว สมน้ำหน้าที่เสียสตางค์ อย่ามาอ้างสิทธิตรวจสอบควบคุมการใช้เงินของคนดีของภาคีเครือข่ายภาคประชาชนสี่หมื่นห้าพันแปดร้อยเก้าสิบหกองค์กร ที่รับตังค์ สสส.
ถ้าไม่มีภาษีบาปสี่พันล้าน การทำความดีเห็นทีจะชะงักงัน ถ้าไม่มีเงินให้ใช้ฟรี 2 พันล้าน ไทยพีบีเอสก็ไม่สามารถผลิตรายการดีๆ โดยไม่ต้องสนใจเรตติ้ง (จะมีคนดูหรือไม่ก็ช่าง เรามีสภาผู้ชม)
หรือถ้าไม่มีกองทุนพัฒนากีฬา 4 พันล้าน คนไทยจะ เหลืออะไรให้ภาคภูมิใจ ในเมื่อจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทีไร ประเทศไทยก็แพ้เพื่อนบ้านลงไปทุกวัน เหลือแต่ไทยเจ้าซีเกมส์ ไทยเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ และเหรียญทองโอลิมปิกเท่านั้น ที่เชิดหน้าชูตาได้ นี่คนไทยนะเว้ย ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร เราอัดฉีดเหรียญทองไม่แพ้ชาติใดในโลก
พูดอย่างนี้ไม่ใช่จะบอกว่าหั่นทิ้งให้หมด แต่อะไรคือ การใช้เงินอย่างพอเหมาะ บรรลุเป้า เข้าคุณภาพ และประเมินผลได้
ซึ่งต้องให้องค์กรภายนอก ให้สาธารณชนตรวจสอบ ประเมินผล โดยวิถีสากลคือผ่านรัฐสภา อย่าเอาแต่โวยว่า "นักการเมืองชั่ว" กระบวนการรัฐสภาคือกระบวนการสาธารณะ เปิดเผยให้ทุกฝ่ายโต้แย้งแสดงเหตุผล ถ้าคุณทำงานโปร่งใสได้คุณภาพ จะกลัวนักการเมืองทำไม
ถามจริง คนที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ไม่ใช่นักการเมืองหรือ คุณก็เล่นการเมืองระบบสรรหา ได้เก้าอี้มาจาก "การเมือง" เหมือนกัน แต่เป็นการเมืองอีกแบบที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนโดยตรง เป็นการสรรหาคนจากเครือข่ายเดียวกัน
การทำงานถึงได้เป็นปัญหา เช่นทีวีสาธารณะ เริ่มแรกก็ฝันว่าจะเป็น BBC เป็น NHK ซึ่งสร้างหนังอย่าง "โอชิน" เป็น MBC ของเกาหลีที่สร้าง "แดจังกึม" แต่สุดท้ายได้ทีวี NGO ทีวีของคนชายขอบที่คนในขอบไม่ดู เพราะกระบวนการสรรหาได้ "คนดี" ที่ทำทีวีไม่เป็น ทำสื่อไม่เป็น เข้าไปเป็นบอร์ด แถม "คนดี" ยังมีปัญหาจุดยืนในวิกฤตการเมือง เพราะคนดีเลือกข้างจนทำให้สื่อสาธารณะไม่เป็นกลาง
สสส. ซึ่งตามรายงานประจำปี 2556 ได้งบทั้งสิ้น 3,842.41 ล้านบาท (ปี'57 ยังไม่รายงาน) ใช้เป็นทุนสนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพ 2,639 โครงการ 3,628.72 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายสำนักงาน เงินมากขนาดนั้น ไม่ว่ากันถ้ารณรงค์งดเหล้าเลิกบุหรี่สำเร็จ แต่เอาเข้าจริง เงินมากไปจน สสส.ใช้ไม่อั้น ดูกันง่ายๆ โฆษณาในสื่อต่างๆ การจัดงานอีเวนต์ ซึ่งไม่โกงหรอกแต่เกินจำเป็นหรือเปล่า
เงิน สสส.ยังใช้สร้าง "เครือข่ายความดี" ที่เมื่อผนวกกับเงินโฆษณาสื่อ ก็สามารถสร้างกระแสด้านเดียว ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ยาสูบ ห้ามขายเหล้าข้างมหา'ลัย 300 เมตร (ใครค้านคือรับเงินเหล้าบุหรี่) ไปจนถึงการเลือกข้างทางการเมือง
คำถามก็คือ ถ้า สสส. ไทยพีบีเอส ซึ่งมีที่มาจาก "ภาคประชาสังคม" ยังมีปัญหาการใช้เงิน แล้วกองทุนกีฬาล่ะ องค์กรกีฬา สมาคมกีฬา สังคมเชื่อถือในความโปร่งใสแค่ไหน เพราะมองๆ ไปก็หนีไม่พ้นนักการเมือง นักธุรกิจ ทหาร ตำรวจ หรือผู้มีอิทธิพล
สังคมไทยจะปล่อยให้มีการใช้เงิน "ภาษีประชาชน" โดยไม่อั้นอย่างนี้ต่อไปหรือ อย่างน้อยถ้าไม่ตัดก็ควรจำกัดลงมา เช่น สสส.ไม่เกิน 2 พันล้านบาท กองทุนกีฬา 500 ล้านบาท แล้วเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า เช่น เอาไปสอนเด็กประถม มัธยมให้รู้จักเล่นกีฬา มีน้ำใจนักกีฬา รู้จักเคารพกติกา ไม่ใช่คิดแต่จะภูมิใจได้เหรียญทอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด 7 สิงหาคม 2558
- 24 views