นสพ.ข่าวสด : สสส. Vs คตร.& สตง. คุณเลือกใคร ผมเลือก สสส.แต่สะใจที่โดนตรวจสอบเสียบ้าง อ้าว ไหงพูดงั้น ในด้านแรก ความไม่พอใจ สสส.มาจาก "รัฐราชการ" ที่มองว่า สสส. "แย่งงาน" เช่น รณรงค์ความปลอดภัยบนท้องถนน กิจกรรมทางสังคม สวดมนต์ข้ามปี ฯลฯ  หลายเรื่องไม่เกี่ยวกับเหล้าบุหรี่ ทำไมไม่ปล่อยให้ราชการทำ

ฟังเหมือนมีเหตุผล แต่พูดกันตรงๆ งานเหล่านี้ถ้าราชการจัด นอกจากเปลืองงบประมาณ ยังออกแนว "ล้าหลัง" "สั่งการ" เข้าไม่ถึงชาวบ้าน ขาดการมีส่วนร่วม ต่างกันสิ้นเชิงกับการใช้เงินผ่าน NGO หรือเครือข่ายจิตอาสา

ขณะเดียวกัน การตรวจสอบ สสส.โดย สตง. ที่สรุปมาราวกับ "ร้ายแรง" หรือ "ผิดมหันต์" ต้องเข้าใจก่อนว่านี่คือการตรวจสอบคนทำงานภาคประชาสังคมโดย "นักบัญชีระเบียบราชการ" ซึ่งไม่มีทาง tune กันได้ ยกตัวอย่าง สตง.อ้างว่า สสส.จ่ายเงินอุดหนุนโครงการเป็นค่าจ้างบุคคลโดยไม่ผ่านการสรรหาตามระเบียบ (ราชการ)

ถามว่าจัดงานถนนคนเดิน คอนเสิร์ตปลอดเหล้า หรือเสวนาต้านบุหรี่ คุณต้องมีระเบียบสรรหานักร้องนักวิชาการไหม นี่ก็คล้ายกับไทยพีบีเอสทำตาม สตง.กำหนด "ราคากลางพิธีกร" ผมฟังแล้วหัวร่องอหาย เหมือนเทศบาล อบจ. จัดงานปีใหม่โดน สตง.ซักทำไมต้องคอนเสิร์ต "ใบเตย อาร์สยาม" จัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษนี่หว่า ได้ยื่นซองประกวดราคาแข่งกับ "หญิงลี" หรือเปล่า

สตง.กับ สสส.จึงเป็นไม้เบื่อไม้เมา เราเชื่อ สตง.หมดไม่ได้ ทุกเรื่องมีสองด้าน อย่าง สตง.บอกคนได้ตังค์ สสส.มีแต่หน้าเก่าๆ อ้าว ก็คนทำงานประชาสังคมมีเท่าไหร่ แต่พูดอีกก็ถูกอีก อ้าว ทำไมได้แต่คนใกล้ชิดไว้เนื้อเชื่อใจ

นี่คืออีกด้านไงครับ สสส.ไม่โกงแน่ (หมอประเวศรับประกัน) แต่มีปัญหา "เลือกปฏิบัติ" ในการสร้าง "เครือข่ายคนดี" ก็รู้ละ "ความดี" ใส่ซองประกวดราคาไม่ได้ มันต้องอาศัยความรู้จัก ไว้เนื้อเชื่อใจ มีใครแนะนำ ฯลฯ ไม่แปลกหรอกที่เครือข่ายตระกูล ส.หมอประเวศ มักเห็นว่าคนนอกไม่น่าไว้ใจ แต่เมื่อองค์กรขยายใหญ่ มันต้องมีระบบ "พวกเรา" ก็กลายเป็นปัญหา ทั้งประสิทธิภาพและกฎเกณฑ์กติกา

โดยเฉพาะเมื่อ สสส.ขยายไปสร้าง "สุขภาวะทางสังคมการเมือง" ท้ายที่สุดก็กลายเป็น "เครือข่ายคนดี" ที่มีอำนาจชี้นำสังคมและเลือกข้างทางการเมือง

เมื่อเกิดวิกฤตเราจึงเห็นอดีตผู้จัดการ สสส.เดินเข้าทำเนียบบริจาคเงิน (ส่วนตัว) ให้ม็อบผิดกฎหมาย เราจึงเห็น สสส.ถอนงบ "ประชาไท" หาว่าไม่เสนอ "ข่าวพลเมือง" แต่ให้เงินทีนิวส์ตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการสารสนเทศเชื่อมโยงองค์กรประชาชน" ให้งบสถาบันอิศรา 7 ปีเกือบ 100 ล้าน ซอยโครงการปีละไม่ถึง 20 ล้าน (ผู้จัดการ สสส.มีอำนาจอนุมัติไม่เกิน 20 ล้าน) รวมถึงให้งบคนกันเองอย่างหมอพลเดช ปิ่นประทีป ทำโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ร่วม 70 ล้าน ฯลฯ

นี่ยังไม่พูดถึงประเด็นทางสังคม รณรงค์เหล้าบุหรี่ หลายเรื่องรุกล้ำสิทธิเสรีภาพ แต่เครือข่าย สสส.มีตังค์ มีกำลังคน มีสื่อ สามารถ "ทุ่มตลาดทางศีลธรรม" จนย่ามใจ

อีกด้านหนึ่งผมจึงสะใจที่ "โดนเสียบ้าง" คนใน สสส.ครวญว่า "เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร" โถ คนทำงานประชาสังคมไม่ยักเข้าใจว่าคุณเติบโตมาได้ด้วยเสรีภาพประชาธิปไตย เมื่อร่วมมือกันทำลาย แล้วสร้างระบอบรวมศูนย์อำนาจ รัฐราชการโดยธรรมชาติก็ไม่ชอบให้ภาคประชาสังคมกล้าหือ

อย่างไรก็ตาม รอบนี้รัฐราชการยังไม่สามารถทำลายล้าง สสส. อ้าว ใครจะกล้ายุบ ในเมื่อเครือข่ายส่วนใหญ่เป่าปี๊ดๆ มาด้วยกัน ยิ่งกว่านั้นวัน "ลุงตู่" เปิดปฏิบัติการ "แนวคิดสานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" ดูเสียบ้างใครยืนข้างหลัง นอกจากสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังมีหมอประเวศ, หมอพลเดช และผู้จัดการ สสส.นี่เอง

สสส.สร้าง "ตำบลต้นแบบสุขภาวะ" มาหลายปีแล้วนะครับ ไอเดีย "ประชารัฐ" ไม่ได้เพิ่งผุดขึ้นมา สมคิดทำมูลนิธิสัมมาชีพมาหลายปี มีหมอประเวศเป็นประธาน วณี ปิ่นประทีป ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่ง ตอนนี้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานประสานการสร้างสังคมสุขภาวะ (สปพส.) ได้เงิน สสส.ปีละร่วม 100 ล้าน ตั้ง "ศูนย์ประสานงานประชารัฐ" ระดับตำบลมาตั้งแต่ต้นปี ได้ยินว่าจ่ายตำบลละ 5 หมื่น แน่จริง สตง.ลองชี้สิ ว่าผิดวัตถุประสงค์ ฮิฮิ

"ประชารัฐ" ไม่สามารถเดินได้ถ้าไม่ใช้เครือข่าย สสส. เพราะฉะนั้นจะยุบได้ไง แค่ไล่ตรวจสอบก็เสียเส้นกันไปเยอะแล้ว

ท้ายที่สุดผู้มีอำนาจคงไกล่เกลี่ย หาทางลงให้ คตร. สตง.พึงพอใจ สสส.ยอมเสียบ้างเพื่อรักษาส่วนใหญ่ แต่ไม่รู้จะ "ตาสว่าง" ไหมว่าถ้ายังหวังพึ่งระบอบนี้อนาคตก็มีแต่ ตีบตัน

‘ใบตองแห้ง’

ที่มา : นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 24 ต.ค. 2558 (กรอบบ่าย)