สคสท.เสนอตั้ง “สหกรณ์สุขภาพ” ทางเลือกระบบสุขภาพคนไทย เน้นการออมเพื่อดูแลรักษาพยาบาลตนเองในอนาคต พร้อมเป็นทางออกข้อเสนอ “ร่วมจ่าย” แถมมีกลยุทธ์จูงใจดูแลสุขภาพ ใครแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ไม่หาหมอ-เข้า รพ.มีเงินปันผลคืน ยืนยันไม่ซ้ำซ้อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เตรียมแถลงข่าวเปิด “สคสท.” เป็นทางการเพื่อผลักดัน
นางทัศนีย์ บัวคำ
นางทัศนีย์ บัวคำ ประธานคณะทำงานก่อตั้งสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย (สคสท.) เปิดเผยว่า จากปัญหาภาระงบประมาณที่เกิดขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เครือข่าย 30 องค์กรจึงรวมตัวเพื่อจัดทำข้อเสนอทางออกในเรื่องนี้ โดยให้มีการจัดตั้ง “สหกรณ์สุขภาพ” ซึ่งสหกรณ์เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นและได้ดำเนินการในประเทศไทยมานานและถือเป็นจุดแข็ง เพราะสมาชิกทุกคนที่เข้าร่วมจะมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของสหกรณ์ เรียกว่าหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง มีรูปแบบของการเอื้ออาทรและดูแลกัน แต่ต้องมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ระบบมีความเข้มแข็ง ต่างจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ลอกเลียนแบบแนวคิดตะวันตกที่เป็นลักษณะทุนนิยม ซึ่งวันนี้สะท้อนแล้วว่าเริ่มเกิดปัญหาความขัดแย้ง ทั้งข้อถกเถียงทางวิชาการ เศรษฐการ และรวมถึงปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน
ทั้งนี้ “สหกรณ์สุขภาพ” จะมี “สุขภาพ” เป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งการบริหารจัดการในส่วนเงินออมจะจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การให้บริการทางสังคม เช่น การรักษาพยาบาล การดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการซื้อบริการรักษาพยาบาลในรูปแบบประกัน และต่อรองซื้อบริการกับ รพ.เอกชนได้ เพื่อทำให้ทุกคนเข้าถึงการรักษา และ 2.การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยในส่วนนี้จะเน้นการดำเนินงานป้องกัน โดยจะมีการคืนเงินปันผลให้กับสมาชิกกรณีที่ไม่เจ็บป่วยและไม่มีการไปหาหมอเพื่อเป็นการจูงใจในการดูแลสุขภาพตนเอง
“สหกรณ์สุภาพเหมือนกับสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยในส่วนของประกันสุขภาพจะเป็นทางออกของเรื่องการร่วมจ่ายได้ ที่ไม่ต้องถกเถียงกันว่าควรร่วมจ่ายเท่าไหร่และอย่างไร เพราะจะเป็นการออมเงินเพื่อใช้ในยามเจ็บป่วยวันข้างหน้า โดยระบบจะทำหน้าที่ซื้อประกันสุขภาพเพื่อดูแล ขณะที่ในส่วนของส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค จะมีจุดเด่นที่สร้างแรงจูงใจให้ดูแลสุขภาพตนเอง โดยจะมีการคืนเงินปันผล ใครที่ดูแลสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย ไม่ต้องไปหาหมอ จะมีเงินปันผลคืนให้ เช่นเดียวกับสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ปันผลกำไร” นางทัศนีย์ กล่าวและว่า สมมติว่า 1 ปี ไม่ป่วยเลย ไม่เคยเข้าโรงพยาบาล อาจคืนเงินปันผลให้ 300 บาท หากปีต่อไปไม่ป่วยปันผลเพิ่มเป็น 500 บาท เป็นต้น หรืออาจจะทำเป็นรูปแบบเงินสมทบสะสมรายปีก็ได้ เพื่อดึงให้เกิดการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่มีตรงนี้
นางทัศนีย์ กล่าวว่า การจัดตั้งสหกรณ์สุขภาพมองว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถทำได้เลย ในการเริ่มต้นอาจพูดคุยกับสหกรณ์ที่มีอยู่หลักๆ ในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตร และสหกรณ์พลังงานต่างๆ เป็นต้น และหากเห็นด้วยจะเป็นพลังสำคัญในการจัดตั้งสหกรณ์สุขภาพ เพื่อเป็นทางออกในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพให้กับรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตามหากมีการจัดตั้งเบื้องต้นคงต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งตามโครงสร้างสหกรณ์จะต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ทั้งนี้ก็สามารถจดทะเบียนแยกเป็นชุมนุมสหกรณ์ได้
ทั้งนี้แนวคิดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 แต่เนื่องจากมีเรื่อง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข ที่ต้องผลักดันก่อน ประกอบกันมีการเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงยังไม่ได้มีการเดินหน้า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีประชุมพูดคุยไปกัน ซึ่งตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นด้วย และจะมีการผลักดันและให้มีกฎหมายรองรับเพราะต้องดำเนินการโดยนิติบุคคล พร้อมกันนี้ยังเตรียมที่จะเปิดแถลงข่าวเพื่อเปิดตัว “สมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย” เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญการการมุ่งลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ ทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังมุ่งคุ้มครองสุขภาพอนามัยจากสิ่งแวดล้อม เพราะมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่คุกคามสุขภาพในปัจจุบัน
ต่อข้อซักถามว่า ข้อเสนอการจัดตั้งสหกรณ์สุขภาพมาจากปัญหาความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขที่เกิดขึ้นหรือไม่ นางทัศนีย์ กล่าวว่า เรื่องความขัดแย้งเราไม่ชอบประเด็นนี้อยู่แล้ว และรู้สึกว่าอยากที่จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในเรื่องของสาธารณสุข โดยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ขอไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เพียงแต่เห็นว่ากรณีการร่วมจ่าย การจัดตั้งสหกรณ์สุขภาพก็เป็นทางออกหนึ่งที่ขอนำเสนอเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า การจัดตั้งสหกรณ์สุขภาพนี้ จะทับซ้อนกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดำเนินอยู่หรือไม่ นางทัศนีย์ กล่าวว่า ไม่ทับซ้อน โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะยังคงมีอยู่ เพียงแต่ระบบนี้จะเข้าไปช่วย สปสช. เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในระบบสุขภาพ ทั้งยังสนับสนุนแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับประชาชน และให้ประชาชนเองเป็นผู้เล่นสำคัญและมีส่วนร่วมในระบบ
ทั้งนี้รายชื่อ 30 องค์กรที่เข้าร่วม สคสท. ได้แก่ 1.ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) 2.ชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุขอาวุโส (ประเทศไทย) 3.ชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุขแห่งประเทศไทย 4.ชมรมนักสุขศึกษาและพฤติกรรมสุขภาพ รพศ., รพท 5.ชมรมอาชีวอนามัย รพศ., รพท 6.ชมรมเวชกรรมสังคม รพศ.,รพท. 7.ชมรมอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย 8.ชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุขแห่งประเทศไทยและนักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดยะลา 9.มูลนิธิเครือข่ายบริการปฐมภูมิเพื่อสุขภาวะ 10.ชมรมทันตาภิบาล 77 จังหวัด
11.กลุ่มกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยชุมชนย่าโม 12.มูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ 13.คณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมท้องถิ่นในการพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพ 14.กลุ่มองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏ ภาคเหนือ จ.เชียงราย 15.กลุ่มองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏ ภาคใต้ จ.ภูเก็ต 16.กลุ่มองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏ ภาคอีสาน จ.นครราชสีมา 17.กลุ่มองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏ ภาคกลาง จ.นครปฐม 18.สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ 19.สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข 20.สมาคมยุวมุสลิม
21.สมาคมนิสิตเก่าและบุคลากรวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 22.ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดขอนแก่น 23.ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดกระบี่ 24.กลุ่มเครือข่ายสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี 25.กลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำจังหวัดราชบุรี 26.ชมรมนักอนามัยชุมชน 27.สมาคมศิษย์เก่าสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 28.สมาคมอาชีวอนามัยความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน 29.สถาบันพัฒนาความยั่งยืนท้องถิ่นไทย 30.เครือข่ายประสานงานผู้มีส่วนได้เสียจากการพัฒนาทรัพยากรแร่ 31.เครือข่ายประสานงานรักษ์พลังงาน สร้างฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน 32. สมาคมศิษย์เก่าวิทยาศาสตร์สุขภาพและสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- 138 views