คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพ เตรียมแผนผลิตกำลังคนด้านสุขภาพเพิ่มในช่วง 10 ปีข้างหน้า พร้อมเร่งกระจายบุคลากรลงสู่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เร่งศึกษาปัญหาวิชาชีพพยาบาลย้ายไปประกอบอาชีพด้านอื่น จนอาจเกิดปัญหาขาดแคลนในอนาคต หนุนแผนการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท สร้างหมอผูกพันชุมชน ผลประเมินพบ 80% ยังอยู่ในระบบราชการ
นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำลังคนฯ ชุดใหม่ ซึ่งประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์) แต่งตั้งเมื่อเมษายน 2558 ได้ประชุมครั้งแรก และมีมติเห็นชอบการจัดทำการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2560-2569) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งมีทิศทางเน้นผลิตกำลังคนในกลุ่มที่มีทักษะในการทำงานด้านกว้างมากกว่าเฉพาะเจาะจง และเน้นผลิตบุคลากรที่ทำหน้าที่สร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้ แผนกำลังคนดังกล่าวมุ่งสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและปริมาณอย่างเพียงพอ ให้มีการกระจายตัวอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมในทุกพื้นที่ของประเทศ รองรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์ภัยสุขภาพของคนไทยในอนาคต โดยจะร่วมมือกับคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสำหรับกำลังคนด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมี ศ.นพ.วิจารณ์ พาณิช เป็นประธาน
“แผนการดำเนินงานจะมุ่งพัฒนาในทุกด้าน ทั้งการผลิตกำลังคนทางสุขภาพเพิ่มขึ้น แก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลน และพื้นที่ใดที่มีบุคลากรกระจุกตัวเกินความต้องการ ก็อาจต้องจัดสรรให้เกิดความสมดุลกัน รวมทั้งหามาตรการดูแลรักษาบุคลากรในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะวิชาชีพพยาบาล ที่ปัจจุบันพบว่า มีพยาบาลลาออกหรือเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นเป็นจำนวนมาก จะแก้ไขอย่างไร เราอาจต้องศึกษาว่าการลงทุนเพื่อธำรงรักษาบุคลากรไว้ในระบบอาจคุ้มกว่าการเร่งสร้างบุคลากรใหม่เท่านั้น เพราะกว่าคนรุ่นใหม่จะชำนาญงานก็จะมีการไหลออกนอกระบบ หรือทนงานหนักไม่ไหว เปลี่ยนอาชีพอีก"
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2560-2569) มี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการออกแบบระบบการใช้และการธำรงรักษากำลังคนด้านสุขภาพ มี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เร่งจัดทำแผนกำลังคนด้านสุขภาพในทศวรรษหน้าให้เสร็จภายในปี 2559
นพ.มงคล กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบหลักการของแผนการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ปี 2561-2570 เพื่อกระจายแพทย์สู่ชนบทมากขึ้น เป็นยุทธศาสตร์เพิ่มเป้าหมายการผลิตการกระจายที่เป็นธรรม และสนับสนุนนักเรียนจากชนบทให้มีโอกาสเรียนแพทย์ สร้างระบบคัดเลือกที่ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ใช้หลักสูตรการผลิตที่เน้นชุมชนเป็นฐาน สร้างความผูกพันระหว่างนักศึกษาแพทย์กับชุมชน เมื่อเรียนจบก็สนับสนุนให้กลับไปทำงานในพื้นที่ของตนเอง ใช้มาตรการชดใช้ทุนโดยให้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐ 3-12 ปี และหากผิดสัญญาจะต้องชดใช้เงินค่าปรับ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้ริเริ่มไว้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (The Collaborative Project to Increase Production of Rural Doctor : CPIRD) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 และต่อมา มีโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (One Doctor One District : ODOD) ในปี พ.ศ.2548 ที่ผ่านมาสามารถผลิตแพทย์เพิ่มได้ถึงปีละ 2,000-3,000 คน
"โครงการนี้ถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันการศึกษา แพทยสภา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน เพื่อให้แพทย์ที่จบการศึกษาแล้วกระจายตัวไปยังโรงพยาบาลอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ โดยจะมีการนำแพทย์ที่ประสบความสำเร็จ มีผลงานโดดเด่นในพื้นที่มาเป็นต้นแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนแพทย์ในโครงการรุ่นต่อๆ ไปด้วย ผลการประเมินโครงการที่ผ่านมาพบว่าแพทย์เหล่านี้ยังอยู่ในระบบราชการมากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งก็มากกว่าแพทย์ที่เรียนในระบบปกติ ในที่ประชุม กรรมการยังอยากให้ขยายโครงการลักษณะนี้ไปในวิชาชีพอื่นๆ ที่ขาดแคลนด้วย" นพ.มงคล กล่าว
- 28 views