ข้อเขียนจาก นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ที่ตั้งคำถามถึงบทบาทที่ควรจะเป็นของสภาวิชาชีพต่างๆ ด้านการแพทย์ ภายหลังจากกระแสสังคมที่ขานรับเรื่องค่ารักษา รพ.เอกชน พร้อมกับตั้งความหวังว่า แพทยสภาจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง นพ.ธีระได้ review บทความวิชาการว่าด้วยเรื่องของการติดตาม กำกับ และประเมินการทำงานของสภาวิชาชีพทั่วโลก และพบว่า ปัญหาเรื่องความเป็นอิสระในการปกครองตนเองของวิชาชีพนั้นเป็นที่เข้าใจได้ในสาธารณะ เพราะต้องการความเชี่ยวชาญ และทักษะต่างๆ ในการตัดสินใจ แต่ต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการปกครองตนเองด้วย และการกำหนดบทบาทชัดเจนว่าจะทำหน้าที่กำกับดูแลการทำเวชปฏิบัติของแพทย์ในสังกัด โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลักด้วย

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ : สภาวิชาชีพกับย่างก้าวในอนาคต

นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ช่วงที่ผ่านมา แพทยสภาโดนโจมตีหนักจากเครือข่ายประชาชน อันสืบเนื่องมาจากปัญหาที่ประชาชนไปรับบริการดูแลรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลเอกชน แล้วราคาค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าที่จะยอมรับได้ แถมดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่จะพบเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น ให้นอนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ให้ยาเกินความจำเป็น สั่งหรือส่งตรวจโน่นนี่นั่นโดยไม่จำเป็นในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งให้ได้ทราบทางเครือข่ายสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ดันมีการควักข้อมูล 2 เรื่องที่กระทุ้งซางของสภาวิชาชีพอย่างจัง ได้แก่

หนึ่ง การที่รพ.เอกชนแห่งนึงคิดค่าใช้จ่ายเป็นยาอะดรีนาลีน 148 หลอด เป็นเงินเกือบ 30,000 บาท โดยที่เวชระเบียนระบุไว้ว่าใช้ไปเพียง 30 หลอดเท่านั้น ซึ่งแสดงถึงช่องโหว่ของระบบที่ยากในการจะฉุกคิด หรือยากที่จะไปตรวจสอบหากไม่สงสัยและมีความพยายามเพียงพอ

สอง การที่มีงานวิจัยจาก ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยสู่สาธารณะว่า ค่ายาในโรงพยาบาลเอกชนที่ทำการสำรวจกว่า 300 แห่ง มีการคิดค่ายาสูงกว่ายาชนิดเดียวกันที่สั่งจ่ายในโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุขถึง 60-400 เท่า จนนำมาซึ่งข้อกังขาของสังคมว่า มีมาตรฐานหรือแนวทางในการกำหนดราคาสำหรับภาคเอกชนหรือไม่ อย่างไร เพราะในความจริงที่ปรากฏนี้ กำลังบ่งชี้ว่า ระบบสุขภาพกำลังได้รับการปฏิบัติเหมือนระบบการค้าขายสินค้าหรือบริการปกติทั่วไปตามกระแสทุนนิยม กล่าวคือจะคิดราคาอย่างไรก็ได้ หากผู้ซื้อยินยอม ยินดี หรือเต็มใจ

แต่อีกนัยหนึ่่ง เราๆ ท่านๆ เริ่มมโนไปถึงยามที่เราหรือคนใกล้ชิดในครอบครัว เกิดเจ็บป่วยฉุกเฉิน แล้วต้องไปรับการดูแลรักษา หากจำเป็นต้องเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนประเภทที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ไม่ว่าผลการรักษาจะหาย หรือตาย หรือทรงๆ เราจะยังสามารถมีเงินไว้ประทังชีวิตหรือไม่อย่างไร

ที่น่าแปลกใจคือ สภาวิชาชีพกลับไม่ค่อยได้แสดงออกซึ่งความกระวนกระวายใจต่อปัญหาที่ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมที่เบี้ยน้อยหอยน้อยกำลังเครียดมาก  แถมตัวแทนของฝั่งเอกชนยังมีการมาสำทับผ่านสื่อสาธารณะว่า โรงพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือกเท่านั้น ประกอบธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อคนถือหุ้น (ซึ่งประชาชนทั่วไปคงเข้าใจได้ว่าเป็นใคร ?) หากไม่พอใจก็ไม่ต้องมาใช้บริการ

ผมจึงลองทบทวนวรรณกรรมว่าด้วยเรื่องของการติดตาม กำกับ และประเมินการทำงานของสภาวิชาชีพทั่วโลก พบเอกสารหลายเรื่องที่น่าสนใจ จึงขอหยิบยกมาเล่าให้ฟังดังนี้

Jeff Blackmer จากแคนาดาได้เขียนบทความวิชาการตีพิมพ์โดย World Medical Association ในปี ค.ศ.2007 และกล่าวไว้ตอนหนึ่งอย่างน่าสนใจว่า ปัญหาเรื่องความเป็นอิสระในการปกครองตนเองของวิชาชีพนั้นเป็นที่เข้าใจได้ในสาธารณะ เพราะต้องการความเชี่ยวชาญ และทักษะต่างๆ ในการตัดสินใจ แต่ต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการปกครองตนเองด้วย โดยยกตัวอย่างของ The College of Physicians and Surgeons of Ontario ที่กำหนดบทบาทชัดเจนว่าจะทำหน้าที่กำกับดูแลการทำเวชปฏิบัติของแพทย์ในสังกัด โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก ในขณะที่หน้าที่ที่จะดูแลประโยชน์ของวิชาชีพนั้นจะเป็นหน้าที่ของสมาคมแพทย์ที่มีอยู่แล้ว (Canadian Medical Association) พร้อมเน้นย้ำว่าต้องไม่สับสนระหว่างกลไกการตรวจสอบกำกับดูแลวิชาชีพ (Self regulation) กับกลไกการปกป้องความเป็นตัวตนของวิชาชีพ (Professional autonomy) เพราะแต่ละกลไกมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน (ดูอ้างอิง 1)

ก่อนหน้าบทความนี้ไม่กี่ปี Derick Brinkerhoff ได้ตีพิมพ์บทความโดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น Partners for Health Reform, USAID เป็นต้น ในปี ค.ศ.2003 โดยกล่าวถึงความจำเป็นของการพัฒนากลไกการตรวจสอบการดำเนินงานขององค์ประกอบต่างๆ ในระบบสุขภาพของแต่ละประเทศ ซึ่งบางส่วนของบทความก็เน้นสาระในทิศทางเดียวกับของ Jeff Blackmer กล่าวคือ บทบาทของสมาคมวิชาชีพในการคงไว้ซึ่งอิสระและความเป็นตัวตนเชิงวิชาชีพ ในขณะที่สังคมก็สามารถที่จะร่วมกันพัฒนากลไกอื่น เช่น สภาสุขภาพ (Health council) เพื่อช่วยในการติดตาม กำกับสถานการณ์ด้านสุขภาพ และการดำเนินงานขององค์กรวิชาชีพ รวมถึงให้คำแนะนำต่างๆ ในลักษณะ advisory and oversight bodies โดยเชื่อมโยงกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่สามารถขับเคลื่อนหรือปรับเปลี่ยนนโยบาย และตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคส่วนประชาชนสามารถเข้ามาเป็นตัวแทน และมีส่วนร่วมในการติดตามกำกับผ่านทางกลไกนี้ได้ (ดูอ้างอิง 2)

มีหลายบทความที่ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของช่องว่างทางสังคมต่อการก้าวเข้ามาของธุรกิจสถานพยาบาลเอกชน มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป แต่ที่เห็นชัดเจนมักอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา (ตลอดไป) โดยสามารถสังเกตได้จากสัดส่วนของบุคลากรสุขภาพที่ทำงานควบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนพร้อมกัน อาทิเช่น 18% ในประเทศไทย ไปจนถึง 70% ในประเทศซิมบับเว อันเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างรัฐกับเอกชน รวมถึงปริมาณงานที่หนักหน่วงในภาครัฐ ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว คู่ขนานไปกับภาวะสมองไหลมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือ มีแนวโน้มที่จะพบปรากฏการณ์การผูกขาดตลาดสุขภาพโดยธุรกิจเอกชน จนมีอิทธิพลครอบคลุมตั้งแต่ระดับการเมือง การปกครองเชิงวิชาชีพ ไปจนถึงการชี้กงจักรให้เป็นดอกบัวได้  แม้แต่ประเทศในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง OECD ยังมีปรากฏการณ์ดังกล่าวให้เห็น จนนำมาสู่การตั้งคำถามในลักษณะที่ว่า...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่แต่ละประเทศต้องมีกลไกมาช่วยควบคุม ติดตาม กำกับการดำเนินงานของภาคส่วน และ/หรือหน่วยงานที่สุ่มเสี่ยงที่จะพบปรากฏการณ์ดังกล่าว และช่วยกันหาทางที่จะถ่วงดุลอำนาจจากอิสรภาพที่เกินขอบเขต...(ดูอ้างอิง 3)

สังคมที่ดี ควรมีการรักษาดุลยภาพระหว่าง Self regulation กับ Professional autonomy...ต้องทำให้ชัดเจน มิใช่เอามาปนในที่เดียวกันจนบางครั้งวางตนไม่ถูกว่า ฉันควรมีหน้าที่เช่นไร ?

ประเทศไทยล่ะ...เราตกอยู่ในสถานการณ์แบบไหน และควรทำอย่างไรดี...

ผู้เขียน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

1. http://www.wma.net/en/30publications/35whitepapers/White_Paper.pdf

2. http://www.who.int/management/partnerships/accountability/AccountabilityHealthSystemsOverview.pdf

3. http://www.oecd.org/els/health-systems/1847865.pdf