‘นพ.มงคล’ ชี้ สุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่เรื่องของ รพ. ยกตัวอย่างหลายชุมชนทำเรื่องป้องกันโรคได้ดี จนไม่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นสิบปี รวมถึงการรวมตัวของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในนามศูนย์องค์รวมเพื่อช่วยเหลือกัน และการที่ประชาชนจัดตั้งศูนย์หลักประกันสุขภาพประชาชนเพื่อช่วยเหลือให้คำแนะนำสิทธิประโยชน์ต่างๆ แจงระบบสุขภาพไทยเดินมาถึงจุดนี้ยังต้องพัฒนาอีกมาก แต่จุดแข็งเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ต้องส่งเสริมให้กว้างขวางและเข้มแข็งยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ Facebook/Mongkol Na Songkhla ระบุถึงการจัดงานวิชาการ 9 ปี คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 10-12 มิ.ย.ในหัวข้อ “ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย” ซึ่ง นพ.มงคล แสดงความคิดเห็นว่า การจัดงานนี้สะท้อนว่า เรื่องสุขภาพนั้นเป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของหมอ ยา พยาบาล เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณด้วย โดยยกตัวอย่างหลายชุมชนที่ทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค จนประสบความสำเร็จ ที่ยืนยันได้ เช่น บางชุมชนไม่พบผู้ป่วยไข้เลือดเป็นสิบปีมาแล้ว รวมถึงยกตัวอย่างการให้ความช่วยเหลือของกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีในนามของศูนย์องค์รวม ที่เกื้อกูลกันระหว่างผู้ป่วยและการทำงานร่วมกับหน่วยบริการ และการมีศูนย์หลักประกันสุขภาพประชาชนที่คอยให้คำแนะนำ ปรึกษาเรื่องการใช้สิทธิ 30 บาท สิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพต่างๆ และขั้นตอนการช่วยเหลือประชาชนด้วยกัน เหล่านี้สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่มีต่อเรื่องสุขภาพ “ลองนึกภาพดู หากเราปล่อยให้เรื่องการสร้างสุขภาพ สุขภาวะเป็นภาระของหน่วยบริการเท่านั้น ทุกวันนี้จะเป็นเช่นไร หากปล่อยให้สุขภาพเป็นเรื่องของหน่วยบริการ 'รอซ่อม' เท่านั้น ภาพที่พอจินตนาการออก... ระบบสุขภาพของเราคงยังย่ำวนเวียนไม่สามารถเป็นที่พึ่งหวังให้กับประชาชนได้ขนาดนี้ แน่นอนว่า ยังมีจุดที่ต้องช่วยกันพัฒนาอีกมาก แต่จุดแข็งเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ นั้น ต้องช่วยกันส่งเสริมให้กว้างขวางและเข้มข้นยิ่งขึ้น” นพ.มงคล ระบุในตอนท้าย
ข้อความทั้งหมดมีรายละเอียดดังนี้
วันนี้จนถึงวันศุกร์ (10-12 มิ.ย.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดงานวิชาการ 9 ปี สช.ที่ อิมแพค เมืองทองธานี ในหัวข้อ “ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย” องค์ปาฐกนอกจากผู้มีชื่อเสียงสำคัญๆของประเทศแล้ว ยังประกอบด้วยปราชญ์ชาวบ้านทุกภาคที่ทำเรื่องสุขภาพในพื้นที่มาเป็นเวลานาน จะมาให้ข้อมูลกันอย่างแจ่มแจ้งว่า สุขภาพไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของหมอ ยา พยาบาล แต่เป็นเรื่องของกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ
สุขภาพไม่ใช่มีแต่เรื่องการซ่อม การรักษา แต่ที่สำคัญคือการสร้างสุขภาพให้ดี พฤติกรรมที่ถูกต้อง จิตใจที่สงบ มีปัญญา สิ่งแวดล้อมไม่เป็นพิษ
ชาวบ้านจะมาเล่าให้ฟังว่าทำไมที่หมู่บ้านเขาไม่มีร้านขายเหล้า ไม่มีกองขยะ ทุกเย็นลานบ้านมีรำกระบี่กระบอง เกือบสิบปีแล้วไม่เคยมีไข้เลือดออกฯลฯ
สิ่งดีๆ มากมายที่จะมาบรรยายเป็นวิชชาการให้เราได้รับทราบอย่างลึกซึ้งตลอด 3 วันนี้ และสิ่งที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในระบบสุขภาพตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ล้วนแต่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า สุขภาพที่ดีนั้นต้องสร้างนำซ่อมอย่างมีส่วนร่วมจริงๆ
ลองนึกภาพดู หากเราปล่อยให้เรื่องการสร้างสุขภาพ สุขภาวะเป็นภาระของหน่วยบริการเท่านั้น ทุกวันนี้จะเป็นเช่นไร
หากไม่มีกลุ่มศูนย์องค์รวมที่เป็นการรวมกันของผู้ติดเชื้อรุ่นพี่ โดยความร่วมมือและร่วมกันทำงานกับ หมอพยาบาลในโรงพยาบาล กว่า 340 แห่งทั่วประเทศ ที่ช่วยเตรียมความพร้อม และ หนุนเสริมให้ คนที่เพิ่งรู้ว่าติดเชื้อ เข้าสู่การรักษา และ ยังคงอยู่กับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการทำงานร่วมกันนี้ได้รับการยกย่องจากเวทีการประชุมเอดส์โลก ว่าเป็นนวัตกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยลุกขึ้นมาดูแลกันเอง จนนำไปสู่การยืดชีวิต ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเอดส์ได้จำนวนมาก
และอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ซึ่งเป็นการทำงาน ของกลุ่มประชาชน ที่ ช่วยให้ประชาชนในแต่ละท้องที่ เข้าใจเรื่องสิทธิประโยชน์การรักษา หรือ การสนับสนุนให้ ความรู้ความสามารถในเรื่องการสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับ ปัญหาสุขภาพในท้องถิ่น และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหานั้น ให้คนในชุมชนได้ รู้จักการป้องกันตนเอง และในอีกหลายๆ กรณี ที่ช่วยให้คนที่ประสบปัญหาในการไปใช้สิทธิรักษาพยาบาล ได้รับการช่วยเหลือ ให้ได้รับการรักษาตามสิทธิ ที่ควรมีควรเป็น
หากปล่อยให้สุขภาพเป็นเรื่องของหน่วยบริการ 'รอซ่อม' เท่านั้น ภาพที่พอจินตนาการออก... ระบบสุขภาพของเราคงยังย่ำวนเวียนไม่สามารถเป็นที่พึ่งหวังให้กับประชาชนได้ขนาดนี้
แน่นอนว่า ยังมีจุดที่ต้องช่วยกันพัฒนาอีกมาก แต่จุดแข็งเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆนั้น ต้องช่วยกันส่งเสริมให้กว้างขวางและเข้มข้นยิ่งขึ้น
ช่วยกันนะครับ
- 75 views