ห่วง ร้านกาแฟ เบเกอรี่ ฟาสฟู๊ด รุกพื้นที่ รพ.มากขึ้น หวั่นเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพประชาชน ทั้ง หวาน มันเค็ม กากใยน้อย เสี่ยงโรคเรื้อรัง โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง แถมซ้ำเติมภาวะโรคของผู้ป่วยด้วย “รพ.จุฬาฯ” จับมือ เครือข่ายนักวิชาการอาหารสุขภาพเพื่อสาธารณะ นำร่องเปิดบูธขายอาหารสุขภาพร้อมกิน “กินดี อยู่ดี” เปิดทางเลือกอาหารให้กับผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2557 ได้ร่วมกันนิสิตปริญญาโทและเอก ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ทำการสำรวจ “ความชุกของร้านกาแฟ ร้านอาหารจานด่วน และร้านเบเกอรี่ในโรงเรียนแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” พบว่า โรงพยาบาลศิริราชมี 11 ร้าน โรงพยาบาลรามาธิบดีมี 9 ร้าน โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ มี 7 ร้าน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มี 20 ร้าน ในขณะที่โรงพยาบาลวชิระมี 1 ร้าน ซึ่งจำนวนร้านอาหารดังกล่าวมีเพิ่มมากขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากการบริหารจัดการของโรงพยาบาลทที่ทำลักษณะเดียวกับภาคเอกชน โดยเปิดให้ประกวดราคาและแบ่งกำไรให้กับโรงพยาบาล ส่งผลให้ร้านกาแฟและร้านอาหารฟาสฟู๊ดที่มีทุนและกำลังต่อรองสูงได้รับพื้นที่ส่วนใหญ่ไป ทำให้มีสัดส่วนมากกว่าร้านขายอาหารทั่วไป
จากสถานการณ์ดังกล่าวยอมรับว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะนอกจากสะท้อนให้เห็นถึงทุนนิยมที่เริ่มเข้าสู่ระบบสุขภาพ โดยเฉพาะภาครัฐที่ได้เน้นการคำนวณต้นทุนกำไรขาดทุนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและญาติที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาล เนื่องจากสถานประกอบการเหล่านี้มักตั้งในพื้นที่เข้าถึงได้ง่าย โดยอาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่าย จะมีลักษณะที่เป็นของทอด เบเกอรี่ ขนมนมเนยนานาชนิด รสชาติจะหนักไปทางหวาน มัน เค็ม และมักมีกากใยน้อย ซึ่งลักษณะเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเรื้อรังที่พบมากขึ้น ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน และที่สำคัญยังซ้ำเติมภาวะโรคหากผู้ป่วยรับประทานเข้าไปเพิ่มเติม
นพ.ธีระ กล่าวว่า ในการเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงเรียนแพทย์ ด้วยคิวยาวมากบางคนต้องมาตั้งแต่ตีสี่ตีห้า กว่าจะได้ตรวจก็ประมาณเก้าโมงสิบโมง พอจะเดินไปหาอะไรกินระหว่างรอตรวจ ปรากฎว่ามีแต่ร้านกาแฟ เบเกอรี่ ส่วนร้านขายอาหารที่ดีต่อสุขภาพนั้นหายากมาก และจากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เครือข่ายนักวิชาการอาหารสุขภาพเพื่อสาธารณะ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงเรียนการเรือนและโฮมเบเกอรี่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมมือเพื่อพัฒนา “อาหารสุขภาพพร้อมรับประทาน” 69 เมนู ภายใต้แนวคิด “สด อร่อย พร้อมรับประทาน และราคาไม่แพง”
นอกจากนี้ยังได้เจรจากับผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อขอพื้นที่นำร่องขายอาหารสุขภาพพร้อมรับประทานเหล่านี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการตั้งร้านจำหน่าย ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ในการสร้างทางเลือกการเข้าถึงอาหารสุขภาพให้แก่ทประชาชนทั่วไป ผู้ป่วยที่มารับบริการ และบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล
ทั้งนี้ในส่วนของโรงเรียนการเรือนและโฮมเบเกอรี่นั้น เดิมเน้นทำธุรกิจด้านเบเกอรี่เป็นหลัก แต่ได้มาร่วมมือทำงานด้านอาหารสุขภาพเพื่อสาธารณะ นอกจากเป็นการขยายผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอยู่แล้ว ยังเป็นการแสดงออกซึ่งจิตสาธารณะ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวงการวิชาชีพอาหารและวิชาชีพสุขภาพอีกด้วย โดยเมนูอาหารสุขภาพพร้อมรับประทานนั้น ได้มีการคำนวณคุณค่าอาหารจนได้มาตรฐาน และปรับปรุงรสชาดจนมีรสชาติที่ดี อย่างเมนูสลัด ข้าวยำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีราคาที่เหมาะสม โดยจำหน่ายภายใต้ชื่อสินค้า “กินดี อยู่ดี”
“โครงการนำร่องเพื่อจำหน่ายอาหารสุขภาพพร้อมกินในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เริ่มมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา (15 ก.ย. 57) จนถึงขณะนี้ต้องบอกว่าได้รับการตอบรับอย่างมาก ไม่แต่เฉพาะกับผู้ป่วยและญาติเท่านั้น แต่รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล และนิสิตนักศึกษา ทำให้อาหารที่นำมาจำหน่ายแต่ละวัน เพียงแค่ 2 ชั่วโมงก็ขายหมดแล้ว สะท้อนให้เห็นความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นพ.ธีระ กล่าว และว่า ทั้งนี้อยากให้โครงการจำหน่ายอาหารสุขภาพร้อมกินนี้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และให้มีการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ไม่แต่เฉพาะในโรงพยาบาลที่ควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเท่านั้น แต่รวมถึงพื้นที่เอกชนก็สามารถเปิดจำหน่ายได้ เชื่อว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังเป็นต้นแบบให้กับสถานประกอบการในการผลิตอาหารสุขภาพพร้อมกินเพื่อจำหน่ายต่อไปด้วย
- 34 views