บทความจาก นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ที่ระบุถึงการพัฒนาระบบสุขภาพไทยว่า ไม่สามารถมองโดยตั้งต้นจากทรัพยากรภาครัฐแต่ฝ่ายเดียวได้ แต่ต้องมองถึงทรัพยากรจากภาคเอกชนด้วย ระบบสุขภาพนี้จึงจะสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างสมดุล โดยที่ไม่เกิดการผูกขาด ที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบสุขภาพในภาพรวมทั้งหมด

“สุขภาพของคนไทยอยู่ในมือทุกคน”

นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกปี 2010 (พ.ศ.2553) บอกเราได้ว่า จำนวนหมอต่อประชากรของไทยเรานั้นมีอยู่ 0.4 คนต่อ 1,000 ประชากร หรือแปลได้ว่า หมอ 1 คนรับผิดชอบดูแลคนไทยเรา 2,500 คน เอาแค่ข้อมูลเดี่ยวๆ อย่างนี้ เรามีคุณหมอที่ต้องรับผิดชอบประชากรของประเทศ น้อยกว่าอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น ถึง 6 เท่า และน้อยกว่าสวีเดน หรือสวิส อย่างน้อย 10 เท่า

แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งบอกให้ผลิตแพทย์เพิ่มให้เร็วกว่านี้นะครับ เพราะมีนโยบายผลิตแพทย์เพิ่มมานานมากแล้ว โรงเรียนแพทย์ผุดเป็นดอกเห็ด แต่ครูแพทย์นั้นยังมีจำกัดอยู่เช่นเดิม แม้จะพยายามสร้างครูแพทย์เพิ่ม แต่ก็พบว่าครูแพทย์ยังมีจำนวนน้อยเกินกว่าที่จะดูแลน้องหมอได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ จนอาจสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาคุณภาพของบัณฑิตแพทย์ในอนาคต ทั้งนี้คุณภาพของบัณฑิตแพทย์ที่ผมหมายถึงนั้น มิใช่คุณภาพที่วัดจากการสอบใบประกอบโรคศิลป์ เพราะเรามีหน่วยงานต่างๆ ดูแลอยู่แล้ว แต่ผมหมายถึงการใช้เวลาในการอบรมบ่มนิสัย และฝึกฝนให้มีทัศนคติ และเจตคติต่างๆ อยู่บนหลักคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ซึ่งต้องอาศัยเวลา และความใกล้ชิดระหว่างกันในการถ่ายทอด

...แต่ปัจจุบัน เวลามีน้อย ความใกล้ชิดมีน้อย เราจึงต้องหวังให้คุณลักษณะดังกล่าวนั้น ได้รับการถ่ายทอดจากพันธุกรรม การดูแลระดับครอบครัว และระดับโรงเรียน เพื่อมิให้บัณฑิตที่จบไปนั้น มุ่งเน้นแต่หาความสบายใส่ตัว หาเงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง ตามแบบสังคมวัตถุนิยมและทุนนิยมในปัจจุบันที่ดูแล้วน่ากลัวเหลือเกิน

... ในความเป็นจริงแล้ว ระบบสุขภาพไทยในปัจจุบันถูกโบ้ยมาให้ระบบสุขภาพภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยที่ฝั่งโรงพยาบาลเอกชนทั้งหลาย พยายามออกตัวว่าเป็นแค่ระบบสุขภาพที่เป็นทางเลือกของประชาชนที่มีกำลังทรัพย์จะจ่ายเพื่อแลกกับบริการเท่านั้น แต่ดันบอกความจริงไม่หมดว่า หมอที่เราผลิตได้ในแต่ละปี กว่า 30% ถูกล่อลวงด้วยความเต็มใจให้ออกไปทำงานภาคเอกชน เพื่องานสบาย เงินดี ใช้ชีวิตเลิศหรูฟู่ฟ่า แถมมีอีกบางส่วนไม่นับรวม 30% แรก ที่ตัดสินเรียนต่อในสาขาที่เงินดี งานเบา เสี่ยงต่อฟ้องร้องต่ำ เช่น ผิวหนัง เอกซเรย์ เป็นต้น จนทำให้หมอที่ควรมาช่วยกันดูแลผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มารับการดูแลรักษาจากระบบสุขภาพภาครัฐ มีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ระบบสุขภาพไทยคงจะพัฒนาได้ยาก หากตั้งต้นด้วยการมองทรัพยากรภายในระบบภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสถานการณ์ทั้งเรื่องคน เงิน ของ ไม่มีทางที่จะดูแลประชาชนส่วนใหญ่หรือทั้งหมดของประเทศไทย ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องหามาตรการระดับชาติ ที่ทำให้เกิดการมองระบบสุขภาพให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของทุกคน เพราะสุขภาพมีความสำคัญ และควรได้รับการจัดเป็นความมั่นคงของประเทศด้านเชิงทรัพยากรมนุษย์ หากเป็นเช่นนั้นได้ การจะใช้คำว่า "โรงพยาบาล" หรือ "สถานพยาบาล" ใดๆ ต่อจากนี้ไป ก็จะต้องแบกรับหน้าที่ และความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลผู้ป่วยจากทุกชนชั้น ภายใต้นโยบายดูแลสุขภาพระดับชาติ มิใช่ประกอบกิจการแบบเลือกชนชั้นตามเศรษฐานะ และมุ่งหวังแต่โกยกำไรเป็นเม็ดเงินผ่านกลวิธีการตลาดแบบเสรีนิยม ดังที่เราเห็นในภาคเอกชนหลากหลายแห่ง ที่ทำให้คนรวยกลายเป็นจนได้ คนที่พอมีอันจะกินกลายเป็นคนไม่มีจะกิน

ปิดท้ายด้วยภาพของระบบสุขภาพภาครัฐ ที่ต้องแบกรับคำบ่น คำติ...แต่ไม่ค่อยมีคำแนะนำเชิงสร้างสรรค์เพื่อมาร่วมด้วยช่วยกันพัฒนา

หมดยุคแล้วกับการที่ลงทุนด้วยน้ำลาย แต่ควรมา"ลงมือทำ"ด้วยกัน.

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย