กมธ.ปฏิรูปสาธารณสุข สปช. แจง 3 กองทุนสุขภาพมีความเหลื่อมล้ำ สวัสดิการข้าราชการได้รับสิทธิดีกว่า บัตรทอง และประกันสังคม ทั้งได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเยอะกว่า เผยผลการศึกษาพบ ผู้ป่วยบัตรทองมีผลลัพธ์ด้านสุขภาพต่ำสุด เสนอตั้งศูนย์ข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพระดับชาติ เพื่อติดตามและปรับปรุงมาตรฐานให้เท่าเทียมกัน
19 พ.ค. 58 เมื่อเวลา 14.10 น. ที่รัฐสภา นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ ว่า ความแตกต่างเรื่องค่าใช้จ่ายรายหัวระหว่างผู้ป่วยที่ใช้บริการรักษาพยาบาลจาก 3 กองทุนสุขภาพ คือ กองทุนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของราชการเฉลี่ย 11,000 บาท/คน ระบบประกันสังคม 2,133 บาท/คน และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณ 2,100 บาท/คน นั้น ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้มีการรวม 3 กองทุนไปไว้ในรูปแบบกองทุนเดียวกันอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ทั้ง 3 กองทุนมีความแตกต่างกันในเรื่องสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาล การได้รับยาเพื่อรักษาแตกต่างกัน โดยกองทุนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการจะได้รับสิทธิที่ดีกว่าอีก 2 กองทุน และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างชัดเจน
นางพรพันธุ์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการเงินการคลังด้านสุขภาพได้ติดตามศึกษาพบว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นเหมือนสภาวะจำลองของการรวม 3 กองทุนเข้าด้วยกัน มีผลลัพธ์ด้านสุขภาพระหว่างผู้ป่วยที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ ผู้ป่วยภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีผลลัพธ์ด้านสุขภาพต่ำสุด คือมีการตาย การไม่หายขาดจากโรคมากกว่าผู้ป่วยในกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการถึง 2.5 เท่า และมากกว่าผู้ป่วยในกองทุนประกันสังคมประมาณ 2 เท่า
นางพรพันธุ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น ข้อเสนอในการปฏิรูปคือ การมีศูนย์ข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพระดับชาติ การมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิติดตามประเมินการรักษาพยาบาลและผลลัพธ์ของการรักษาเชื่อมโยงระหว่าง 3 กองทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกองทุนปรับคุณภาพการรักษาให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งปรับให้สิทธิประโยชน์พื้นฐานเท่าเทียมกันหมดทั้ง 3 กองทุน จะเป็นการดำเนินการเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่อไป
ที่มา : http://www.naewna.com และ เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
- 31 views