เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ : มติ สปช. 182 เสียง เห็นชอบ รายงานการปฏิรูประบบสาธารณสุข เสนอปฏิรูปการเงินการคลังสุขภาพ เสนออก พ.ร.บ.ตั้งสภาประกันสุขภาพ หน่วยงานกลางบริหารกองทุนสุขภาพไม่ให้เหลื่อมล้ำกัน ลดช่องว่าง 3 กองทุนสุขภาพ กระจายอำนาจด้านการจัดการสุขภาพให้ทท้องถิ่น เพิ่มภาษีเครื่องดื่มเป็นภัยต่อสุขภาพ
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ค. การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานระบบบริการสาธารณสุข ระบบการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคและระบบบริหารจัดการและการเงินการคลังด้านสุขภาพ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูประบบสาธารณสุข สปช.
โดย พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธาน กมธ.ปฎิรูประบบสาธารณสุข ชี้แจงว่า ปัจจุบันการบริหารจัดการระหว่างองค์ประกอบต่างๆภายในระบบบริการสุขภาพที่เป็นลักษณะแยกส่วนทำให้เกิดช่องว่าง เนื่องจากกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 ระบบมีการแยกส่วน ไม่เหมือนกันทั้งระดับการจ่ายและวิธีการจ่าย จึงจำเป็นต้องปฏิรูประบบการเงินการคลังสุขภาพ และการกระจายอำนาจให้หน่วยงานระดับจังหวัดมีบทบาทในการจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงบูรณาการการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพต่างๆ บูรณาการการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพ โดยการออกเป็น พ.ร.บ.จัดตั้งคณะกรรมการประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สภาประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพต่างๆ
นอกจากนี้ เสนอให้มีการจัดตั้งสำนักมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (สมสส.) เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการข้อมูลสาระสนเทศการประกันสุขภาพ รวมถึงให้เพิ่มภาษีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่เป็นภัยต่อสุขภาพ โดยผลักดันแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ประมวลกฎหมายสรรพสามิต เพื่อนำรายได้ดังกล่าวมาสร้างความยั่งยืนการเงินการคลังด้วย
อย่างไรก็ตาม ได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งบางส่วนเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแพทย์แผนไทยแห่งชาติอย่างจริงจัง โดยกำหนดให้มีศูนย์ข้อมูลในเรื่องสมุนไพรของไทยว่ามีอะไรบ้าง และใช้รักษาโรคใดได้บ้าง
ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง สมาชิกสปช. กล่าวว่า การปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งนี้ อยากเห็นการก้าวข้ามความขัดแย้ง การขจัดความความเหลื่อมล้ำ พัฒนาระบบบริหารสาธารณสุข การแพทย์แผนไทย และระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และส่วนตัวขอเสนอให้กมธ.ปฏิรูปค่าตอบแทนในวิชาชีพแพทย์ เพราะความขัดแย้งของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์และแพทย์ชนบท สาเหตุล้วนเกิดขึ้นมาจากเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานดังกล่าว ด้วยคะแนน 182 งดออกเสียง 2 เพื่อให้ กมธ.นำไปปรับปรุงก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ที่มา : www.posttoday.com
- 6 views