สปท.เห็นชอบส่งรายงาน “การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน: สิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพ” ต่อรัฐบาล ลดความเหลื่อมล้ำผู้มีสิทธิ 3 กองทุน หนุนตั้ง “คกก.กำหนดสิทธิประโยชน์พื้นฐานบริการสุขภาพ” ภายใต้ คกก.นโยบายสาธารณสุขแห่งชาติที่อยู่ระหว่างผลักดันกฎหมาย ด้าน สมาชิก สปท.อภิปราย ห่วงเป็น คกก.ซุปเปอร์บอร์ด ให้อำนาจเบ็ดเสร็จ แถมพาดพิง ก.คลัง และ สธ. พร้อมระบุ สิทธิประโยชน์พื้นฐานสิทธิประโยชน์เสริมตัองกำหนดชัด พร้อมให้สิทธิพิเศษกลุ่มกลุ่มผู้สูงอายุทั้งหมด
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา –สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ผ่านความเห็นชอบวาระพิจารณาเรื่อง “การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน: สิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพ” นำเสนอโดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิก สปท.ลงคะแนนเห็นชอบ 164 คน จากผู้เข้าร่วมประชุม 168 คน ในจำนวนนี้ไม่เห็นชอบ 1 คน และไม่ออกเสียง 3 คน
พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์
พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สปท. ได้นำเสนอที่มาการจัดทำรายงานการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน: สิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพว่า เป็นการการดำเนินงานที่ต่อเนื่องมาจากการปฏิรูประบบสุขภาพโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อนหน้านี้ และรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ทั้งในมาตรา 47 และ 55 ซึ่งประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพหลัก 3 กองทุน คือ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นที่มา กลไกการบริหาร หน่วยงานบริหาร ผู้มีสิทธิ แหล่งงบ และชุดสิทธิประโยชน์ ส่งผลให้มีการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนผู้มีสิทธิแต่ละกองทุนที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ในการลดความเหลื่อมล้ำในการรับบริการสุขภาพ จำเป็นต้องมีการกำหนดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ สิทธิประโยชน์พื้นฐานด้านสุขภาพ ทั้งการรักษาและป้องกันโรค และสิทธิประโยชน์รักษาโรคค่าใช้จ่ายสูง อย่าง โรคมะเร็ง การผ่าตัดที่มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้น หากให้ประชาชนดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาตนเองอาจทำให้เกิดภาวะล้มละลายได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความพยายามดำเนินการร่วมกันระหว่าง 3 กองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยใช้กลไกประสานงาน แต่มีความคืบหน้าเพียงการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังและผู้ติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายเพื่อกำหนดกรอบดำเนินการสิทธิประโยชน์ 3 กองทุนร่วมกัน
“การกำหนดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพจะดูว่าประชาชนควรได้รับบริการสุขภาพอะไรบ้าง มีวิธีการอย่างไร มีความสะดวกแค่ไหน และราคา รวมถึงวิธีการจ่ายเงิน ซึ่งจะนำมาสู่การปฏิรูปสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพของประเทศ เพื่อให้ทุกคนในประเทศมีสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพที่ควรได้รับบริการเหมือนกัน อย่างไรก็ตามแต่ละกองทุนสามารถจัดทำสิทธิประโยชน์เสริมได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การดูแลผู้สิทธิในแต่ละกองทุน”
พญ.พรพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนทางเลือกในการออกกฎหมายเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ ตามที่ได้ศึกษามี 3 แนวทาง คือ
1.เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอภิบาลระบบบริการสุขภาพในภาพรวม ในร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสาธารณสุขแห่งชาติ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการขณะนี้ เนื่องจากในมาตรา 11(8) ระบุให้คณะกรรมการนโยบายฯ มีหน้าที่ดำเนินการประกาศชุดสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพของประชาชนอยู่แล้ว
2.ออกกฎหมายเฉพาะเรื่องการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ ในกรณีที่ต้องการให้เกิดสิทธิประโยชนโดยเร็ว อาจจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.เฉพาะเรื่องการจัดทำชุดสิทธิประโยชน์ โดยเขียนยึดโยงกับการอภิบาลระบบอื่นๆ รวมทั้งการแก้ไขในอนาคตเมื่อมีการตรากฎหมายระบบสุขภาพภาพรวมขึ้นมา
และ 3.ออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
“กรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขฯ เห็นว่าทางเลือกแรกมีความเหมาะสมที่สุด เพราะสามารถขับเคลื่อนได้เร็ว อีกทั้ง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการจัดทำร่วมกันระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพโดยเร็ว โดยตั้งเป็นคณะกรรมการกำหนดสิทธิประโยชน์หลักที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ขณะเดียวกันยังสามารถตั้งคณะกรรมการประเมินราคา ความคุ้มค่าสิทธิประโยชน์ รวมถึงติดตามต่อเนื่องได้ ส่งผลให้การกำหนดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านบริการสุขภาพให้กับประชาชน” พญ.พรพันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้ในการนำเสนอรายงานฉบับนี้ได้มีสมาชิก สปท.ร่วมอภิปรายในประเด็นต่างๆ โดย นายกษิต ภิรมย์ สมาชิก สปท. อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การปรับปรุงบัญชีรักษาพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสุขภาพ การเข้าถึงบริการรัฐในด้านรักษาพยาบาลเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับและเข้าถึงบริการได้ จึงมีคำถามว่าการบริการสุขภาพพื้นฐานประกอบด้วยอะไรบ้าง อะไรเป็นพื้นฐานที่ประชาชนไทย 68 ล้านคนควรได้รับ ซึ่งควรชี้แจงให้ชัด ทั้งมองว่าทุกคนไม่ควรเสียค่าใช้จ่ายไม่ว่าอยู่ในระบบใดควรได้รับการรักษาฟรีทุกคน ซึ่งสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายต่อปีได้จากการย้อนดูสถิติ และส่วนที่เป็นการจ่ายเสริมเพิ่มเติมต้องวางระบบให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นห้องผู้ป่วย ยาต่างๆ ต้องเปิดให้จ่ายได้ตามขีดความสามารถและเงินเดือน หากจะรักษาพิเศษต้องจ่ายเหมือนกันหมด เพราะไม่เช่นนั้นจะมีกลุ่มหนึ่งได้สิทธิพิเศษฟรี
ที่สำคัญต้องมีความทั่วถึงของสถานบริการเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึง รวมถึงคุณภาพสถานบริการที่ต้องทัดเทียมกัน เหล่านี้เป็นเรื่องต้องเร่ง พร้อมกับเดินหน้ามาตรการเพื่อป้องกันสุขภาพ ในต่างประเทศสหภาพยุโรปและอเมริกาเหนือได้มีการจัดเก็บภาษีอาหารที่เป็นภัยต่อสุขภาพและทำให้อ้วนขึ้น ตรงนี้จะดำเนินกาอย่างไร ทั้งนี้มองว่าการปรับปรุงบริการสุขภาพภาครัฐจำเป็นที่ต้องดำเนินมาตรการต่างๆ ไปพร้อมกัน
นายคุรุจิต นาครทรรพ สมาชิก สปท. อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มีข้อสงสัยอยากให้ชี้แจง เนื่องจากเรื่องนี้มีการออกกฎหมาย 2 ฉบับ พร้อมตั้งองค์กรและมีคณะชุดใหม่ คือคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการกำหนดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ ทั้งให้คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินการด้านการเงินการคลังที่เหมาะสมด้วย ซึ่งหมายความว่าหากหลักประกันสุขภาพไม่มีเงิน สามารถจัดเก็บเพิ่มเติม หรือขึ้นภาษีได้ ถือเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งยังทำหน้าที่เป็นเหมือนซุปเปอร์บอร์ด จึงกังวลว่าจะไปพาดพิงอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอื่น อย่างกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งในสุดจะทำให้กฎหมายนี้ใช้ไม่ได้
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปท. อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า จากรายงานพบความแตกต่างของกองทุนในทุกมิติ ทั้งที่มา การจ่ายเงิน และงบประมาณ โดยเฉพาะสวัสดิการข้าราชการที่ใช้งบเฉลี่ย 14,000 บาทต่อคน ต่างจากอีก 2 ระบบที่ใช้เพียงแค่ 3,000 บาทต่อคนถึงหมื่นบาท ซึ่งรายงานระบุว่าเนื่องจากต้องการดึงดูดคนเข้าทำงานในราชการ หากจะทำให้ทุกระบบเท่าเทียมกันจะต้องใช้งบเพิ่มเติมถึง 6 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าสิทธิขั้นพื้นฐานบริการสุขภาพควรมีอะไร และอะไรเป็นสิทธิประโยชน์เสิรม อย่างไรก็ตามขอสนับสนุนทางเลือกที่หนึ่งเพื่อไม่ต้องยกร่างกฎหมายใหม่ และยินดีให้นำรายงานฉบับนี้ส่งไปยังรัฐบาลเพื่อพิจารณา
พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน สมาชิก สปท. อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า เพื่อให้สอดรับกับสังคมผู้สูงวัย การจัดทำระบบประกันสุขภาพและกำหนดสิทธิประโยชน์บริการสุขภาพ ในกลุ่มผู้สูงอายุต้องมีการยกบริการที่เป็นมาตรฐานมากกว่าปกติทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เจ็บป่วยสูงต้องได้รับการดูแลและใกล้ชิดแพทย์ จึงควรได้สิทธิที่มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ขณะที่ในกลุ่มผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลซ้อน ควรให้ผู้มีสิทธิเลือกใช้ระบบรักษาพยาบาลที่ให้สิทธิประโยชน์ดีกว่า ซึ่งปัจจุบันยังกำหนดให้เลือกใช้สิทธิที่ด้อยกว่า มองว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ขณะที่ในด้านบริการทางการแพทย์ นอกจากการจัดทำสิทธิประโยชน์พื้นฐานในหลักประกันสุขภาพภาครัฐให้เท่าเทียมกันแล้ว ในมาตรฐานการวินิจฉัยและการรักษาพยาบาลระหว่างภาครัฐและเอกชนต้องไม่แตกต่างกัน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝากไว้
- 17 views