“เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่” คว้ารางวัลเครือข่ายองค์กรสุขภาพดีเด่นนานาชาติ ประจำปี 2558 ในงานประชุมสมัชชาอนามัยโลกประจำปีขององค์การอนามัยโลก ซึ่งรางวัลนี้จัดประกวดขึ้นเป็นปีแรก และไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับรางวัลนี้จากผลงานขององค์กรเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2558 ที่องค์การอนามัยโลก กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ได้จัดพิธีมอบรางวัลเครือข่ายองค์กรสุขภาพดีเด่นนานาชาติ (Interprofessional Collaboration Practice Award) โดยการคัดเลือกขององค์กรสหสาขาบุคลากรสาธารณสุขโลก (World Health Profession Alliance : WHPA) ให้แก่ "เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่" ภายใต้การดูแลของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งนับเป็นเครือข่ายแรกของไทยและของโลกที่ได้รับรางวัลนี้
พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ผู้รับมอบรางวัลนี้ กล่าวว่า WHPA หรือองค์กรสหสาขาบุคลากรสาธารณสุขโลกได้จัดให้มีการประกวดรางวัลนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ เพื่อสนับสนุนผลงานที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของบุคลากรสาธารณสุข โดยมีเงื่อนไขของการตัดสินรางวัลจากกรรมการของ 5 องค์กรหลัก และต้องเป็นผลงานที่เกิดจากการทำงานร่วมกันอย่างน้อย 3 วิชาชีพขึ้นไป เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด ฯลฯ หน่วยงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นสมาชิกขององค์กรหลักอันใดอันหนึ่งใน 5 องค์กรต่อไปนี้ คือ แพทยสมาคมโลก (WMA) สภาพยาบาลนานาชาติ (ICN) สมาพันธ์เภสัชนานาชาติ (FIP) สมาพันธ์นักกายภาพบำบัดโลก (WCPT) สมาพันธ์ทันตแพทย์โลก (FDI) สำหรับ "เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่" นั้น เป็นสมาชิกภายใต้แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ก็เป็นสมาชิกของแพทยสมาคมโลกด้วย การทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี มีสหสาขาบุคลากรสาธารณสุขมากถึง 21หน่วยงาน เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของเครือข่ายฯและรางวัลอันทรงเกียรติที่ได้รับในวันนี้
พญ.สมศรี กล่าวต่อว่า การรวมตัวทำงานร่วมกันของเครือข่ายฯ เกิดจากความตั้งใจที่จะถวายงานตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปี 2547 ทรงรับสั่งด้วยความห่วงใยต่อเยาวชนไทยที่ติดยาเสพติดและบุหรี่ และทั้งนี้คำขวัญขององค์การอนามัยโลกในวันงดสูบบุหรี่โลกในปี 2548 ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เครือข่ายฯสร้างแนวร่วม โดยกำหนดบทบาทการทำงานที่ชัดเจน ประกอบด้วย ด้านการศึกษา โดยส่งเสริมความรู้ในเครือข่าย ทั้งพยาบาล แพทย์ เภสัชกร กายภาพบำบัด จนสามารถผลักดันหลักสูตร เรื่องภัยของบุหรี่ และอบรมทักษะการให้ความรู้กับบุคลากรวิชาชีพสุขภาพทุกสาขา รวมไปจนถึงประชาชนทั่วไป มีการให้บริการเลิกบุหรี่ตามโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งคลินิกฟ้าใส รักษาคนติดบุหรี่ภายใต้เครือข่ายของเรา ขณะนี้มีคลินิกรวมทั้งสิ้น 321 คลินิกทั่วประเทศ มีการติดตามผลงานทุก 3 เดือน รวมทั้งการสนับสนุนการวิจัยในเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพฯ จนปัจจุบันมีการนำเสนองานวิจัย ทั้งสิ้น 85 โครงการ 45 บทความที่ได้รับการตีพิมพ์ และ 43 เรื่องที่ได้รับการเผยแพร่ในระดับประเทศ และต่างประเทศ
“การได้รับรางวัลนี้ทำให้เห็นว่า ผลงานของเราที่มาจากหลายวิชาชีพที่ร่วมกันทำงานด้วยความเต็มใจและตั้งใจ เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชน แม้จะถูกต่อต้านจากคนบางกลุ่ม และแม้จะยังไม่ได้รับการสนันสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ แต่ในเวทีระดับโลกเราได้รับการยอมรับ และ WHOก็มองเห็นบทบาทที่สำคัญของเครือข่ายเราว่าคู่ควรแล้วกับรางวัลนี้ จึงขอให้พวกเราภูมิใจและขอเป็นกำลังใจให้ร่วมกันทำงานต่อไป เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับองค์กรอื่นๆและประเทศอื่นๆ ทั้งนี้การทำงานเรื่องพิษภัยของบุหรี่ต้องเป็นความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น หากแต่เป็นทุกภาคส่วนในสังคมไทย เราไม่ได้ทำเพื่อล่ารางวัล แต่เป้าหมายของเราเพื่อสุขภาพ เพื่ออนาคตของลูกหลานไทยและคนไทยต้องปลอดจากพิษภัยของบุหรี่ ระเบิดเวลาในซองเล็กๆ” พญ.สมศรี กล่าวสรุป
- 9 views