3 รพ.ใหญ่ สังกัดกรมแพทย์ รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตน์ฯ พร้อมนำร่องโครงการผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาพื้นที่ กทม. เริ่ม 1 ต.ค. นี้ ดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 3 กลุ่มโรค ไม่ต้องรอรับยานาน ช่วยลดความแออัดใน รพ. พร้อมแจง 4 ขั้นตอน ผู้ป่วยที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข.กทม.) เปิดเผยว่า ในการประชุม อปสข. กทม.เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา มีวาระพิจารณา “โครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านขายยา (ข.ย.1) ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้นำร่องดำเนินการพื้นที่กรุงเทพมหานครในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 3 แห่งก่อน ดังนี้
1.โรงพยาบาลราชวิถี มีเครือข่ายร้านยา ขย.1 ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ร้าน Boots สาขายูเนี่ยนมอลล์ ลาดพร้าว, ร้านขายยาเซฟดรัก เซนเตอร์ สาขาบิ๊กซี แจ้งวัฒนะ
2.โรงพยาบาลเลิดสิน มีเครือข่ายร้านยา ขย.1 ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ร้านฟาสซิโน สาขาสีลม (ซอยละลายทรัพย์), ร้านเอ็กตร้าพลัส สาขาปุณณวิถี 28, ร้านยาเคยู ฟาร์มา
3.โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี มีเครือข่ายร้านยา ขย.1 ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ร้านยาฟาสซิโน สาขา ปตท.สุขาภิบาล, ร้านยา Pure สาขาแฟชั่นไอแลนด์ และร้านขายยาเซฟดรัก เซนเตอร์
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าวว่า เบื้องต้นร้านยา ข.ย.1 เข้าร่วมโครงการที่เป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง เป็น “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ซึ่งจะร่วมให้บริการด้านยาและเวชภัณฑ์เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ใน 3 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ไม่ซับซ้อน โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน และผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องเป็นไปโดยสมัครใจ และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ทั้งหมดจะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม นี้ที่เป็นวันเริ่มต้นนโยบาย ผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เป็นการลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ระดับตติยภูมิ ในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการหนาแน่มาก แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอคิวนาน เป็นการเพิ่มความสะดวกในการรับบริการ นับเป็นการพัฒนาระบบบริการสุขภาพไปอีกก้าวหนึ่ง
นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล
ด้าน นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยการจ่ายยาที่ร้ายยา เป็นความร่วมมือโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลผู้ป่วยให้ได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณภาพบริการด้านยา เนื่องจากเภสัชกรร้านยาจะมีเวลาให้คำปรึกษาผู้ป่วยในเรื่องการใช้ยาได้ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อนำไปปรับปรุงและขยายต่อไป
สำหรับผู้ป่วย 3 กลุ่มโรค และโรคเรื้อรังอื่นที่ไม่ซับซ้อนที่สนใจเข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาชุมชนอบอุ่น จะมีขั้นตอนโดยเริ่มจาก 1.พบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อประเมินการรับยาที่ร้านยา 2.ลงทะเบียนรับยาที่ร้านยาโดยกรอกแบบฟอร์มแสดงความยินยอมและเลือกร้านยาที่โรงพยาบาล 3.รับใบนัดหรือใบสั่งยาจากโรงพยาบาล และ 4.รับยาได้ที่ร้านยาตามที่เลือกไว้ โดยแสดงบัตรประชาชนและใบนัดหรือใบสั่งยา ซึ่งในกรณีที่มอบอำนาจให้รับยาแทนจะต้องแจ้งที่โรงพยาบาลไว้ก่อน และการรับยาต้องแสดงบัตรประชาชนตัวจริงของผู้ป่วย บัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ และใบนัดหรือใบสั่งยาของผู้ป่วย
- 153 views