ปลัด สธ. ลั่นคนจะดีไม่ได้อยู่ที่ฤกษ์เกิด ถือฤกษ์ยามมาก เสี่ยงอันตรายกับแม่-ลูก ยอมรับ บุคลากรน้อย ทำงานหนัก ส่งผลเครียดหงุดหงิด เร่งบรรจุเป็น ขรก.-เพิ่มค่าตอบแทนเป็นขวัญกำลังใจ ตรึงคนในระบบแบ่งเบาภาระงาน ด้าน “หมอยงยศ” เผยจากรายงานยืนยันได้ 100% เป็นความขัดแย้งส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการรับเงินรับทอง จ่อส่งทีมส่วนกลางเป็นพี่เลี้ยงสอบปม หมอ-พยาบาลแย่งห้องผ่าตัด พร้อมเก็บข้อมูลวางแผนป้องกันเหตุรุนแรงใน รพ.ทุกรูปแบบ ชง สรพ.ใช้เป็นเกณฑ์รับรองมาตรฐาน HA ขณะที่ “แพทยสภา” รับดูจริยธรรม
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีแพทย์และพยาบาล รพ.อำนาจเจริญ มีปากเสียงกันแย่งห้องผ่าตัด ว่า เรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการบูรณาการรวมกันของสหสาขาวิชาชีพแล้ว ยืนยันว่าไม่มีเรื่องอามิสสินจ้าง แต่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ปัญหาจากระบบ อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ต้องยอมรับคือวันนี้บุคลากรของกระทรวงขาดแคลน การที่ทำงานหนักอาจจะทำให้มีความเครียด หงุดหงิดบ้าง หากได้รับตำแหน่งข้าราชการมาบรรจุเพิ่ม รวมถึงมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมน่าจะจูงใจให้คนอยู่ในระบบมากขึ้น และแบ่งเบาภาระให้ไม่ให้หนักเกินไป ส่วนนี้ต้องพยายามหาทางแก้ไขกันต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่ากระทรวงมีการอนุญาตให้ผ่าคลอดตามฤกษ์หรือไม่ นพ.สุขุม กล่าวว่า กระทรวงไม่มีนโยบายเรื่องนี้ การผ่าตัดตามฤกษ์เสี่ยงอันตรายกับทั้งแม่และเด็ก เพราะการทำคลอดต้องทำตามกำหนดที่ครรภ์สมบูรณ์ เด็กสมบูรณ์ ถ้าถึงฤกษ์แล้วเด็กหรืออายุครรภ์ยังไม่สมบูรณ์จะทำอย่างไร หรือถึงเวลาคลอดแล้วยังต้องมารอฤกษ์อีกจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการผ่าตัดคลอดต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ คือเป็นกรณีฉุกเฉิน หรือถ้ามีการฝากครรภ์แล้วนัดหมายวันผ่าคลอดล่วงหน้าแล้วก็ต้องดูสถานการณ์ขณะนั้นซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งห้องฉุกเฉินของ รพ.มีจำกัดจะมาผ่าตามฤกษ์คงเป็นไปได้ยาก
“เด็กคนหนึ่งจะดีได้ไม่ได้อยู่ที่ฤกษ์เกิดว่าดีหรือไม่ แต่อยู่ที่การเลี้ยงดู และการประพฤติตัวของคนคนนั้นมากกว่า” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการบูรณารวมกันของสหสาขาวิชาชีพ ว่า จากรายงานที่ได้มาตอนนี้ยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการรับเงินรับทอง อย่างไรก็ตาม จากการหารือของกรรมการสหวิชาชีพวันนี้ มีมติออกมา 4 ข้อ คือ 1. กระทรวงจะมีการส่งทีมงานเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่จังหวัดตั้งขึ้น เพราะทางคู่กรณียังมีความกังวลอยู่ 2. ให้กรรมการแม่และเด็ก พิจารณานำเอาประกาศของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอด มาพิจารณาปรับปรุงและออกเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสำหรับ รพ.ต่างๆ
นพ.ยงยศ กล่าวต่อว่า 3. ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะลงไปตรวจเยี่ยมที่รพ.อำนาจเจริญ เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุความรุนแรงมาเสนอที่ประชุม เพื่อพิจารณาวางแผนป้องกันเหตุความรุนแรงในพื้นที่ของ รพ. และ 4. เป็นเรื่องต่อเนื่อง คือการเก็บข้อข้อมูลจากสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงทั่วประเทศ เพื่อมาวางระบบป้องกันความรุนแรงใน รพ.ทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงระหว่างประชาชนกับประชาชน ประชาชนกับบุคลากรสาธารณสุข รวมถึงระหว่างบุคลากรด้วยกันเอง เป็นต้น ซึ่ง รพ.กว่า 90 เปอร์เซ็นต์มีข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว ทั้งนี้เมื่อได้ข้อมูลและวิเคราะห์เสร็จแล้ว จะนำเรื่องนี้ไปหารือกับ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ในการพิจารณานำเรื่องการป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาลมาเป็นหนึ่งในเกณฑ์การตรวจสอบมาตรฐานของสถานพยาบาล (HA) ด้วย ทั้งนี้มติทั้ง 4 ข้อนี้ผู้รับผิดชอบต้องดำเนินการภายใน 1 เดือน และกลับมารายงานที่ประชุม
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการที่แพทย์ พยาบาลมีปากเสียงกันเพราะแย่งห้องผ่าตัด ถือเป็นเรื่องที่กระทบกับจรรยาบรรณวิชาชีพหรือไม่ นพ.ยงยศ กล่าวว่า เรื่องนี้ ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ซึ่งเข้าประชุมด้วยตัวเองรับปากว่าจะนำไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาต่อไป
- 196 views