‘องค์กรต้านบุหรี่’ หนุนจุดยืน ‘อนุทิน’ คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ย้ำบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายชัดเจน พร้อมเรียกร้องผลักดัน ‘ยารักษาโรคเสพติดยาสูบ เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ’ เพื่อช่วยรักษาผู้สูบบุหรี่ที่มีพฤติกรรมการสูบหนัก ซึ่งในการให้ยาจะมีความคุ้มทุนมากกว่าการรักษาผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ แม้ว่ายาช่วยเลิกบุหรี่มีบริการอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งยาถือว่ามีความจำเป็นสำหรับรายที่ติดบุหรี่อย่างหนักจนไม่สามารถเลิกได้ด้วยเอง ซึ่งมีประมาณ 2.3 ล้านคน
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ได้เข้ายื่นหนังสือ ชื่นชมจุดยืน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย และอันตรายได้ปรากฏให้เห็นแล้ว
ศ.เกียติคุณ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศยืนยันการคงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ท่านได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ ระบุว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้า ภัยเงียบปรากฏตัว กรมควบคุมโรค แถลงเมื่อวานนี้ว่าพบผู้ป่วยปอดอักเสบ จากบุหรี่ไฟฟ้า เป็นรายแรกของประเทศไทย วันนี้ต้องยอมรับว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย และอันตรายได้ปรากฏให้เห็นแล้ว เลิกได้เลิกเถอะครับ ทั้งบุหรี่ปกติและบุหรี่ไฟฟ้า อันตรายทั้งหมด’
ในนามของสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่ายในการรณรงค์เพื่อการควบคุมยาสูบทั้งหลาย ขอกราบขอบพระคุณ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นอย่างสูงที่ท่านได้ให้ความกรุณาห่วงใยสุขภาพของประชาชนคนไทย ศ.เกียติคุณ.พญ.สมศรี กล่าว
ศ.เกียติคุณ.พญ.สมศรี กล่าวต่อว่า ในโอกาสนี้ภาคีเครือข่ายได้ขอความกรุณาต่อนายอนุทิน ให้ช่วยผลักดัน ‘ยารักษาโรคเสพติดยาสูบ เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ’ เพื่อช่วยรักษาผู้สูบบุหรี่ที่มีพฤติกรรมการสูบหนัก ซึ่งในการให้ยาจะมีความคุ้มทุนมากกว่าการรักษาผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ แม้ว่ายาช่วยเลิกบุหรี่มีบริการอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งยาถือว่ามีความจำเป็นสำหรับรายที่ติดบุหรี่อย่างหนักจนไม่สามารถเลิกได้ด้วยเอง ซึ่งมีประมาณ 2.3 ล้านคน การทำให้ผู้ติดบุหรี่อย่างหนักได้เข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่จะช่วยลดความสูญเสียด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายของรัฐได้มาก เพราะเมื่อเทียบความสูญเสียในผู้ป่วยโรคเดียวกัน ระหว่างผู้ที่สูบบุหรี่กับไม่สูบ พบว่าผู้สูบบุหรี่ต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ร้อยละ 40 และรัฐจะต้องจ่ายค่ารักษาโรคให้แก่ผู้สูบสูงกว่าคนไม่สูบถึงร้อยละ 60
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ในปัจจุบันหลายประเทศได้ออกกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เดิมเปิดเสรีในการผลิตและขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ปัจจุบันมีสูบบุหรี่ไฟฟ้าป่วยปอดอักเสบรุนแรง 2,291 ราย ตาย 48 ราย ทำให้หลายรัฐในสหรัฐฯ เริ่มออกกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเช่นกัน และในประเทศไทยก็ได้พบผู้ป่วยปอดอักเสบ จากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นรายแรกของประเทศแล้ว ดังนั้นการที่ ‘รองนายกฯและ รมว.อนุทิน’ กล้าประกาศความจริงให้ประชาชนไทยได้รับรู้ว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย และอันตรายได้ปรากฏให้เห็นแล้ว’ นับเป็นการกระทำที่กล้าหาญ ควรแก่การยกย่องเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือว่าได้ก้าวออกมาปกป้องประชาชนโดยไม่เกรงกลัวสิ่งใด อีกทั้งช่วยยืนยันถึงพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่มีอยู่จริง ไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อข้อมูลผิดๆ
- 9 views