มติ สปช. เห็นชอบปฏิรูประบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลขเดียว 112 ด้วยการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ ประชาชนใช้หมายเลขเดียว ไม่เสียค่าใช้จ่าย ครอบคลุม 77 จังหวัด และสามารถจ่ายงานได้ภายใน 60 วินาที พร้อมเตรียมนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณารายงานการปฏิรูประบบการแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลขเดียว 112 ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข พิจารณาเสร็จแล้ว

โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข ได้เสนอให้ใช้ หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน 112 รับแจ้งทุกเหตุ เหมือนกันทุกจังหวัด ได้ทั้งทางโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต บนหลักการ “ประชาชนในพื้นที่แผ่นดินไทย สามารถเข้าถึงระบบการแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลข 112 หมายเลขเดียวได้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ในประเทศไทย” โดยศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน112 จะนำไปสู่การบูรณาการระหว่างหน่วยปฏิบัติการช่วยฉุกเฉินต่างๆ ทำให้การร่วมปฏิบัติการช่วยฉุกเฉินเกิดประสิทธิภาพ

สำหรับ หมายเลข 112 จะสามารถรับเรื่อง ได้อย่างรวดเร็วภายใน 10 วินาที  มีระบบบอกตำแหน่งผู้โทรได้อย่างแม่นยำไม่เกิน 200 เมตร จดจำง่าย ประชาชนไม่สับสน และเป็นหมายเลขที่ประมาณ ร้อยละ 70 ทั่วโลกนิยมใช้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และใช้ได้กับโทรศัพท์ทุกระบบและโทรศัพท์มือถือที่ไม่มีซิมการ์ด หรือ ถูกตัดสัญญาณ คาดว่าจะสามารถใช้ได้จริงภายในเดือน เมษายน 2559 ขณะที่โครงสร้างบุคลากรของศูนย์รับแจ้งเหตุ 112 จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนบริหารจัดการและพัฒนาศูนย์ ส่วนรับแจ้งเหตุฉุกเฉินและประสานความช่วยเหลือ และ ส่วนสนับสนุนภายในและภายนอก เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยในระยะแรก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มีความเหมาะสมและพร้อมมากที่สุดในการเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ เนื่องจากพบว่า ปฏิบัติการฉุกเฉินทั่วโลก ร้อยละ 90 เป็นด้านการแพทย์      

ทั้งนี้ ที่ประชุม สปช.มีมติเห็นชอบ ด้วยคะแนน 203 ต่อ 1 งดออกเสียง 4  เห็นควรให้นำเสนอรายงานการปฏิรูประบบการแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลขเดียว 112 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป เนื่องจากเห็นว่ามีประโยชน์ต่อประชาชน โดยสมาชิก สปช. ได้เสนอให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบให้ทั่วถึงก่อนดำเนินการ และเสนอให้มีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนเพื่อการรักษาอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในบางพื้นที่มีอุปสรรคในการเข้าระงับเหตุ ดังนั้น ศูนย์รับแจ้งเหตุ 112 จึงควรเตรียมพร้อมในทุกด้าน ทั้งความเสถียรของระบบสื่อสาร ด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ รวมถึงการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์

ที่มา : เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา