นายกสมาคมประกันวินาศภัย ชูไอเดียให้ “รัฐ-ประชาชน” ซื้อประกันสุขภาพช่วยลดภาระงบประมาณ ชี้สังคมสูงอายุรัฐอุ้มหมดไม่ไหวระบบจะพัง
นายอานนท์ วังวสุ
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงแนวคิดการให้ภาคธุรกิจประกัน เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงบประมาณด้านสุขภาพว่า เรื่องนี้มีการพูดคุยตั้งแต่สมัยที่มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่ง สปช.มีคณะกรรมาธิการที่ดูเรื่องสถาบันการเงินอยู่ชุดหนึ่ง และ กมธ.ได้พิจารณาถึงการปฏิรูประบบประกันภัย ประกันชีวิต ทางสมาคมฯ จึงมีข้อเสนอให้มีการหารือกันใน 2 เรื่อง คือ 1.การประกันภาคเกษตร และ 2.การประกันสุขภาพ
นายอานนท์ กล่าวว่า ในส่วนของการประกันสุขภาพนั้น สมาคมฯ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปที่ระบบสวัสดิการข้าราชการ เพียงแต่พูดรวมๆ ว่า สังคมไทยขณะนี้กำลังเป็นสังคมสูงอายุ ผู้สูงอายุเกิน 60 ปีจะเพิ่มจาก 9 ล้านคน เป็น18 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้า เมื่อคนมีอายุยาวนานขึ้น และมีแนวโน้มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สูงขึ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไป อีก 15-20 ปี ภาครัฐคงอุ้มค่าใช้จ่ายไม่ไหวแล้วระบบสุขภาพจะพัง
“อย่างประกันสังคมตอนนี้อาจเหมือนมีเงินเยอะ หรือสวัสดิการข้าราชการก็ใช้งบเพิ่มทุกปี ก็เลยมองว่าน่าจะส่งเสริมให้คนในประเทศมีการซื้อประกันสุขภาพกันเยอะๆ เพื่อช่วยลดภาระของภาครัฐ เพราะถ้าคนซื้อประกันสุขภาพ ก็จะไปรับบริการที่โรงพยาบาลเอกชน คลีนิคเอกชน แทนที่จะไปแย่งกันในโรงพยาบาลรัฐ” นายอานนท์ กล่าว
นายอานนท์ กล่าวว่า การหารือในขณะนั้นมีการคุยกันว่าทุกวันนี้ เบี้ยประกันชีวิตสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 1 แสนบาท จะสามารถนำประกันสุขภาพเข้าไปรวมในสิทธิประโยชน์นี้ด้วยได้หรือไม่ หรือแยกกองออกมาเลยก็ได้
ขณะเดียวกัน ภาครัฐซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ ก็น่าจะมาซื้อประกันให้ข้าราชการด้วย เพราะแนวโน้มค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นจาก 4 หมื่นล้าน เพิ่มเป็น 6-7 หมื่นล้านไปเรื่อยๆ และกรมบัญชีกลางก็ไม่มีหน่วยงานตรวจเคลม จ่ายเงินตามบิล ก็อาจมีการรั่วไหลและคุมงบไม่อยู่ ขณะที่ธุรกิจประกันภัยมีเครือข่ายในการพิจารณาเคลม ดูละเอียดรอบคอบ รัฐอาจจะจ่ายเงินเท่าเดิมแต่ไม่บานขึ้น หรือสามารถเก็บสถิติที่ชัดเจนเพื่อเอาไปวางแผนนโยบายในอนาคตก็ได้
“ก็พูดไปรวมๆ ไม่ได้เสนอว่าต้องเอาตรงนั้นตรงนี้มา เพียงแต่บอกว่ารัฐใช้งบ 6-7 หมื่นล้าน เอกชนรับหมดก็ไม่ไหว แต่อาจมาหารือจัดแพ็คเก็จได้ เช่น แพ็คเก็จโรคร้ายแรง แพ็คเก็จเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คนไข้นอก คนไข้ใน ฯลฯ คือมาคุยกันในรายละเอียด ไม่มีสูตรตายตัว แล้วแต่ว่ารัฐอยากให้เข้าไปช่วยตรงไหน และถ้ารัฐมาซื้อประกันสุขภาพกับเอกชน รัฐก็จะได้ Vat ด้วย ได้ภาษีเงินได้คืนประมาณ 20-30%” นายอานนท์ กล่าว
นายอานนท์ กล่าวว่า สปช.ในขณะนั้นเห็นด้วยกันแนวคิดนี้ จึงเสนอข้อเสนอไปถึงรัฐบาล และถูกถ่ายทอดมาถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในปัจจุบัน โดยขณะนี้สมาคมฯ อยู่ระหว่างการผลักดันเรื่องประกันภาคเกษตร ส่วนเรื่องประกันสุขภาพก็แล้วแต่รัฐบาล แล้วแต่ สปท.จะหยิบยกขึ้นมาผลักดันในอนาคต
“เรื่องนี้ถ้าคุยกันยาวๆ ก็น่าจะสำเร็จ ที่ผ่านมามันคุยแล้วล้มๆ อันนี้แล้วแต่รัฐบาล ตอนนี้ก็คุยกับคณะทำงานของ สปท.อยู่ เรื่องเกษตรเพิ่งคุยเสร็จไป เรื่องประกันสุขภาพก็อาจจะได้คุยต่อ ซึ่งถ้าจะทำจริงก็ต้องเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาวางแผนกัน” นายอานนท์ กล่าว
- 9 views