นสพ.โพสต์ทูเดย์ : อยู่ดีๆก็เกิดปรากฏการณ์ "ฟ้าผ่า" ลงที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รัฐมนตรี จรดปากกาเซ็นให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กลับมาดำรงตำแหน่งเดิม หลังจากถูกย้ายไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรีนานถึง 5 เดือน
อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะเมื่อ 2 เดือนก่อนหลังจากมีคำสั่งมาตรา 44 ให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งถือเป็นคู่ขัดแย้งของ นพ.ณรงค์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยที่ รมว.สธ.ไม่ได้รู้เรื่องด้วย ก็เป็นสัญญาณที่เตรียมรับการ "คัมแบ็ก" ของ นพ.ณรงค์ แล้ว
ณ ขณะนั้น มีการเจรจาถึงเรื่อง 1 แลก 3 ต่อหน้านายกรัฐมนตรี คือถ้าหมอณรงค์กลับมา ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. และ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี จะขอลาออกด้วย จนต้องยื้อเวลาการเอาหมอณรงค์กลับมาออกไปอีกนานนับเดือน
พร้อมๆ กับการสู้กลับ ด้วยการที่ "ชมรมแพทย์ชนบท" กองเชียร์สำคัญของหมอรัชตะ ยื่นหนังสือให้สอบวินัยร้ายแรงการกินเงินค่ารถประจำตำแหน่งของหมอณรงค์ ทั้งที่ใช้รถของทางราชการปีละเกือบ 3 แสนบาท
นอกจากนั้น ยังมีการเปลี่ยนตัวรักษาการปลัด สธ. โดยเอาสายอ่อนอย่าง นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ออก และเอา นพ.อำนวย กาจีนะ คู่ขัดแย้ง นพ.ณรงค์ มาเสียบแทน พร้อมๆ กับตั้งวอร์รูมประเมินฝ่ายหมอณรงค์อย่างใกล้ชิด รวมถึงเร่งกระบวนการสอบสวนวินัยร้ายแรงเขาโดยทันที
อย่างไรก็ตาม การสู้กลับของฝ่ายหมอรัชตะ ซึ่งมีชมรมแพทย์ชนบท องค์กรเครือข่ายตระกูล ส. รวมถึงศิษย์ที่อยู่รายล้อม นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นแบ็ก ก็ไม่เป็นผล เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจให้ นพ.ณรงค์ กลับมาเป็นปลัด
สะท้อนชัดว่า ฝ่ายปลัด สธ. ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม หนุนหลัง และมีกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นแนวร่วม เข้าถึง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดีกว่าหมอรัชตะ และเครือข่าย นพ.ประเวศ ที่เคยมีบทบาทสูงมาตั้งแต่ต้น
และสะท้อนชัดว่า นพ.ณรงค์ มีอำนาจเหนือ รมว.สาธารณสุข !
หลังข่าวย้ายปลัด สธ.กลับมา รองนายกฯ ยงยุทธ ได้ให้สัมภาษณ์ถึง 3 เงื่อนไขที่ปลัด สธ.ตกลงไว้กับนายกฯ คือ 1.ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการโยกย้ายข้าราชการ 2.ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของ สปสช. และ 3.ต้องรับฟังคำสั่งของรัฐมนตรี
แต่คล้อยหลังจากนั้นเพียงวันเดียว นพ.ณรงค์ กลับปฏิเสธว่าไม่ทราบเงื่อนไขดังกล่าว หักหน้ารองนายกฯ ชัดเจน
เมื่อฟังคำให้สัมภาษณ์ของปลัด สธ. ว่าจะเร่งเดินหน้าปฏิรูประบบสุขภาพตามแนวทางของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และจะประชุมผู้บริหารทันทีสัปดาห์หน้า ก็พอจะเห็นภาพคร่าวๆ ว่า ศึกระหว่างหมอกับหมอ จะกลับมาระอุอีกครั้ง
เพราะโรดแมป สปช. ได้เขียนถึงการ "ปฏิรูประบบการเงินการคลัง" ที่ปลัด สธ.เคยทิ้งบอมบ์ไว้ที่ สปสช. เพราะโรดแมปของ สปช.ได้พูดถึงการตั้ง "บอร์ดสุขภาพชาติ" ที่ให้รวมอำนาจองค์กรตระกูล ส.ทั้งหมดกลับมาอยู่ใต้ สธ.อีกครั้ง
ส่วนการประชุมผู้บริหารที่จะเริ่มทันทีนั้น ก็ชวนให้นึกถึงห้วงเวลาก่อนที่เขาจะถูกเด้ง เพราะช่วงนั้นมีการประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด-ผู้บริหารโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปถี่ยิบ และได้มีมติให้โรงพยาบาล "ปลดแอก" จาก สปสช.
ครั้งนี้หากมีข้อเสนอให้รื้อ สปสช. นพ.ณรงค์ ก็สามารถยืนยันได้ว่าไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว หากแต่เป็นความเห็นพ้องของคนใน สธ.
ชัดเจนว่าความพยายามในการรื้อ "30 บาทรักษาทุกโรค" ของรัฐบาลชุดนี้จะเป็นไปตามแนวทางของ นพ.ณรงค์ เพราะมิเช่นนั้นก็คงจะไม่ย้ายหมอกลับมาทั้งที่เหลืออายุราชการอีกเพียงแค่ 2 เดือน
อายุราชการที่เหลือน้อย คืออุปสรรคเดียวที่อาจทำให้แผนการของเขาไปไม่ถึงฝั่งฝัน
อย่างไรก็ตาม หากทำไม่ทัน สิ่งที่น่าจะต้องติดตามต่อก็คือ การสืบทอดอำนาจผ่านกระบวนการแต่งตั้งปลัด รองปลัด และอธิบดีอีกหลายกรม ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะดุลอำนาจจะเปลี่ยนกลับมาที่ปลัด สธ.อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้หลายคนเทไปเข้าหาหมอรัชตะ
แม้อำนาจเต็มจะอยู่ที่รัฐมนตรี แต่ตามระเบียบแล้ว อำนาจในการ "เสนอชื่อ" แต่งตั้งโยกย้ายคืออำนาจของปลัดกระทรวง !
หากฝ่ายการเมืองไม่ทำตามปลัด เป็นไปได้สูงที่จะเกิดปัญหาเดิม คือการออกมาโจมตีว่า "ไม่มีธรรมาภิบาล"
การย้ายปลัด สธ.กลับมาครั้งนี้ คือการให้ดาบอาญาสิทธิ์กลับมาอยู่ในมือ นพ.ณรงค์ อีกครั้ง ทั้งเรื่องการจัดการกองทุน 30 บาท ทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ
สิ่งที่ต้องจับตาต่อไป ก็คือรัฐมนตรีทั้งสองคน รวมถึงฝ่ายการเมืองทั้งหมด จะเลือกสู้ต่อหรือไม่ หรือจะเลือกยอมแพ้ตามวิธีเดิมที่บอกไว้ นั่นคือ "ลาออกยกทีม" ซึ่งจะสอดคล้องกับการปรับคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้พอดี
เมื่อถึงเวลานั้น รัฐมนตรีคนใหม่อาจจะชื่อว่า "หมอณรงค์" ก็เป็นได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 6 สิงหาคม 2558
- 11 views