สปสช.เขต 4 สระบุรีร่วมกับคณะทำงานด้านไอที สสจ. 8 จังหวัดภาคกลาง พัฒนาระบบสารสนเทศและข้อมูลผู้ป่วยรายบุคคล เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการกระจายค่าใช้จ่ายตามผลงานการให้บริการผู้ป่วยนอกของหน่วยบริการ กระตุ้นให้ประชาชนเชื่อมั่น เกิดการใช้บริการสุขภาพอย่างเป็นระบบและทั่วถึง
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี จัดประชุมโครงการพัฒนาระบบข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยนอก บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคล (OP/PP Individual Data) ปีงบประมาณ 2558 โดยมี นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี เป็นประธานในการประชุม มีหัวข้อที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนงานร่วมกับบุคลากรด้านไอที สธ. ได้แก่ การบริหารงบ OP/PP Individual Data ปี 2558 การบริหารงบตามตัวชี้วัดเกณฑ์คุณภาพและผลงานบริการปฐมภูมิ (QOF) และการประมวลผลข้อมูลและออกรายงาน
นพ.ชลอ ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างบุคลาการด้านไอที ในสังกัดของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 8 จังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี ลพบุรีและนครนายก ดำเนินการในรูปแบบของคณะทำงานพัฒนาระบบสารสนเทศและข้อมูลผู้ป่วยรายบุคคล โดย สปสช.เขต 4 สระบุรีเป็นเจ้าภาพในการสร้างเวทีให้เกิดการขับเคลื่อนและบูรณาการการใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน ใน 3 หัวข้อใหญ่ที่สำคัญได้แก่ การบริหารงบ OP/PP Individual Data ปี 2558 การบริหารงบตามตัวชี้วัดเกณฑ์คุณภาพและผลงานบริการปฐมภูมิ (QOF) และการประมวลผลข้อมูลและออกรายงาน ของหน่วยบริการ เพื่อให้เกิดระบบการกำกับ ติดตามการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกทั่วไป ในส่วนของบริการที่จ่ายตามผลงานบริการ ที่ใช้ผลงานจากระบบข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยนอกฯ มาใช้ในการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมภายใต้ข้อมูลที่มีคุณภาพถูกต้องครบถ้วน ซึ่งคณะทำงานฯได้พิจารณาเห็นชอบเกณฑ์การจ่ายงบ OP/PP โดยแบ่งสัดส่วนการจ่าย เป็น 2 ส่วน คือ 90% จ่ายตามผลงานการให้บริการ (Point) และอีก 10% จ่ายตามคุณภาพข้อมูล (Performance)
สำหรับตัวชี้วัดเกณฑ์คุณภาพและผลงานบริการปฐมภูมิ (Quality and Outcome Frame work : QOF) ปีงบประมาณ 2558 มี 4 ด้าน ได้แก่ 1. คุณภาพและผลงานการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2.คุณภาพและผลงานการจัดบริการปฐมภูมิ 3.คุณภาพและผลงานด้านการพัฒนาองค์กร การเชื่อมโยงงบบริการระบบส่งต่อและการบริหารระบบ และ 4.คุณภาพและผลงานของบริการที่จำเป็นตอบสนองปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และบริการเสริมในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิที่จำเป็นอย่างทั่วถึง เป็นธรรมและมีคุณภาพได้มาตรฐาน ประชาชนได้รับบริการด้านสุขภาพทั้งที่หน่วยบริการและดูแลสุขภาพถึงบ้าน เมื่อเกินความสามารถ มีระบบให้คำปรึกษา ประสานการส่อต่อ ส่งกลับให้มีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้ารับบริการสุขภาพที่หน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้าน และเกิดการเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพชุมชนที่เข็มแข็ง
- 1 view