อปสข.-อคม.เขต 4 สระบุรีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานพัฒนา “กองทุนบัตรทอง” มุ่งความสำเร็จของการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างครอบคลุม ลดคิวรอคอย ลดแออัดในโรงพยาบาล ได้ 4 ประเด็นขับเคลื่อนความสำเร็จ ดันตั้ง “กองทุนปฐมภูมิ” เน้นเพิ่มปริมาณและคุณภาพบริการปฐมภูมิและแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ จ.สมุทรสงคราม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เขต 4 สระบุรีจัดประชุมร่วมระหว่างคณะอนุกรรมการ หลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ (อปสข.) และคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพระดับเขตพื้นที่ (อคม.) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ เขต 4 สระบุรี โดยมี นพ.ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา ประธาน อปสข. เขต 4 สระบุรี พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการ และ นพ.ชิตพงษ์ สัจจพงษ์ ประธาน อคม.เขต 4 พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการ ร่วมปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการหาแนวทางการดำเนินงานร่วมกันอย่างผสมผสานและลงตัว ต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมมี นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรีและคณะเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
นพ.ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา
นพ.ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา กล่าวว่า อปสข.ทำหน้าที่ดูแลการบริหารจัดการ ให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงและครอบคลุมตามชุดสิทธิประโยชน์ ส่วน อคม.ทำหน้าที่ดูแลด้านวิชาการของคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัย ขณะที่การทำหน้าที่ประธาน อปสข.เขต 4 ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพราะทุกความคิดเห็นแม้เล็กน้อยก็ถือเป็นส่วนสำคัญ ต้องนำมาประมวลรวมกันบนข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบันและเป็นรูปธรรม มติคือข้อสรุปสุดท้ายที่จะนำไปปฎิบัติ เปรียบเหมือนเช่น ข้อมูลเป็นสี่เหลี่ยม เหตุผลคือลูกกลิ้งวิ่งไปได้ทุกทาง แต่ต้องอยู่ในกรอบของรูปธรรมที่เกิดขึ้น มิฉะนั้นจะเป็นการให้เหตุผลนอกเรื่องราว ที่ข้อมูลเชิงประจักษ์ได้เกิดขึ้นมาเป็นรูปธรรมแล้ว ทรงกลมต้องอยูในสี่เหลี่ยมถึงจะลงมติได้ถูกต้องและนำไปใช้ประโยชน์
นพ.ชูวิทย์ กล่าวต่อว่า สปสช.ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล โดยการบริหารจัดการงบประมาณ สปสช. ทำหน้าที่บริหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบันงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาลน้อยลง ไม่ต้องหมดตัวกับการรักษา เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่ต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องล้างไต ต้องเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 5,000 บาท ฟอกสัปดาห์ละ 3 วัน ค่าใช้จ่าย 15,000 บาทต่อสัปดาห์ หรือ 60,000 บาทต่อเดือน และต้องจ่ายต่อเนื่องไปจนกว่าจะสิ้นชีวิต ปัจจุบันได้พัฒนาระบบการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น ด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้อง ทำให้ผู้ป่วยสามารถล้างไตเองได้ที่บ้าน สะดวกมากขึ้น
สปสช.บริหารงบประมาณเป็นแสนล้าน ในรูปแบบเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อให้บริการสุขภาพ (ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสมรรถภาพ) แก่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) โดยการบริหารจัดการงบประมาณแยกออกเป็น งบในส่วนของกองทุน และงบในส่วนของการบริหารจัดการองค์กร เช่น เงินเดือน สวัสดิการ ในส่วนงบประมาณเงินกองทุนฯ นั้น สปสช.บริหารเพียงตัวเลขเท่านั้น เม็ดเงินจะโอนตรงไปที่โรงพยาบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย สปสช.ดำเนินงานภายใต้มติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด) ในส่วนของเขตพื้นที่เรียกว่า อปสข.
นพ.ชลอ ศานติวรางคณา
นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า การประชุมร่วมกับบอร์ด อปสข.และ อคม.ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกและเป็นโอกาสอันดี ที่บอร์ดทั้ง 2 คณะ ได้แลกเปลี่ยนเพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งความสำเร็จในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ กลไก อปสข.และ อคม. ถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เกิดการดูแลด้านสุขภาพของประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
โดย อปสข.ทำหน้าที่กำหนดกรอบและแนวทางการบริหารงานหลักประกันสุขภาพในเขตพื้นที่ให้สอดคล้องกับนโยบายคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดชาติ) ขณะที่ อคม.ทำหน้าที่ควบคุมกำกับ ส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ รวมถึงพิจารณาและร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนหน่วยบริการตามหลักเกณฑ์กำหนด
ทั้งนี้ผลจากการประชุมร่วมเพื่อขับเคลื่อนงาน นำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน ประกอบด้วย 4 ประเด็น ได้แก่
1.บริการปฐมภูมิและแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เน้นการเพิ่มปริมาณและคุณภาพ โดยตั้งเป็นกองทุนปฐมภูมิ
2.การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง อปสข., อคม. และคณะอนุกรรมการพิจารณาเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการ (ม.41) อย่างครบถ้วนและถูกต้อง โดยเป็นการรับทราบข้อมูลและกำหนดแนวทางร่วมกันอย่างน้อย ปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อลดช่องว่างในการวินิจฉัย case และกำหนดแนวทางให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
3. การกำหนดและส่งมอบประเด็นข้อเสนอในการปฏิบัติของคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ เพื่อให้เกิดการประสานงานในการขับเคลื่อนที่เสริมกันอย่างมีพลัง เหมาะสมและกลมกลืน
และ 4.การพัฒนาคุณภาพการทำงานตามเกณฑ์ชี้วัดเชิงคุณภาพ (QOF) โดยมีการกำหนดเกณฑ์ร่วมกันของคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ เพื่อให้เกิดคุณภาพในการบริการ ตอบโจทย์ “Health Service for All” บูรณาการ “บริการ บริหาร และวิชาการ” ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีหลักประกัน ตามที่ นพ.ชูวิทย์ ประธาน อปสข. เขต 4 สระบุรีได้กล่าวไว้ในการประชุมครั้งนี้
- 36 views