กรมราชทัณฑ์เตรียมแผนยกระดับหน่วยบริการปฐมภูมิเรือนจำบางขวาง เป็นหน่วยบริการประจำ และมีแนวทางที่จะยกระดับสถานพยาบาลในเรือนจำในเขตพื้นที่เขต 4 สระบุรี 8 จังหวัดอีก 18 แห่ง เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับบริการที่ดีขึ้น
เมื่อ 21 พฤษภาคม 2561 ที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี, นางพนิต มโนการ รองผู้อำนวยการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่หารือร่วมกับ นางสาวเพลินใจ แต้เกษม รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อวางแผนบริหารจัดการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพในกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ เน้นยกระดับหน่วยบริการปฐมภูมิเป็นหน่วยบริการประจำ นำร่อง 2 แห่งที่ จ.นนทบุรี และขยายผลสถานพยาบาลในเรือนจำเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ อีก 18 แห่ง
นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพในเขต 4 สระบุรีในเรือนจำ มีจำนวน 6 แห่ง จังหวัด นนทบุรี 2 แห่ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4 แห่ง จากจำนวนเรือนจำในเขตพื้นที่ 20 แห่ง ขณะที่จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ ในเขตพื้นที่เขต 4 สระบุรี ที่เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง มีจำนวน 44,703 คน เฉพาะจังหวัดนนทบุรี 10,862 คน คิดเป็นร้อยละ 24 ของผู้ต้องขังในเขต และส่งผลกระทบต่อการดูแลด้านสุขภาพ สปสช.จึงได้พัฒนาระบบการจัดการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพสำหรับกลุ่มผู้ต้องขัง ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พย.2558 เรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ สปสช. ปี 2560-2564 ยุทธศาสตร์ 4 ปี
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาการเข้ารับบริการด้านสุขภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำ มี ปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโรคเจ็บป่วยมีความรุนแรงเกินศักยภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ต้องส่งตัวไปเพื่อรับการการดูแลรักษาจากหน่วยบริการประจำนอกเรือนจำ และต้องมีผู้ควบคุมนำตัวไปรับบริการ ผู้ต้องขัง และในเรือนจำบางขวาง เช่นกัน ต้องส่งตัวมารับบริการที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า หากเป็นผู้ป่วยนอกไม่มีช่องทางเฉพาะ ส่วนผู้ป่วยในปะปนกับผู้ป่วยทั่วไป ทำให้เป็นอุปสรรคในการควบคุมตัว มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย อีกทั้งอาจจะเป็นการริดรอนสิทธิมนุษยชน ในกรณีผู้ต้องขังที่ใส่โซ่ตรวน นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดในการจัดบริการสุขภาพในผู้ต้องขังเรือนจำ ทำให้ผู้ต้องขังไม่ได้รับการบริการในหลายด้าน เช่น จิตเวช การสร้างเสริมสุขภาพ คัดกรองสุขภาพ ทันตกรรม คัดกรองตาต้อกระจก โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวชขาดการดูแลล ผู้ต้องขังสูงอายุ งานอนามัยแม่และเด็ก ผู้ต้องขังสตรี
นพ.ชลอ กล่าวต่อว่า เพื่อให้ผู้ต้องขังในเรือนจำมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ถูกริดรอนสิทธิมนุษยชน ได้รับบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ สะดวกต่อการรับและให้บริการ ตลอดจนลดภาระของเจ้าหน้าที่ควบคุม และด้วยศักยภาพของ รพ.เรือนจำบางขวาง เองที่มีความพร้อมในการเป็นหน่วยบริการประจำอยู่แล้ว สปสช.เขต 4 สระบุรี จึงได้หารือร่วมกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อวางแผนการยกระดับหน่วยบริการปฐมภูมิเรือนจำบางขวาง เป็นหน่วยบริการประจำ และมีแนวทางที่จะยกระดับสถานพยาบาลในเรือนจำในเขตพื้นที่เขต 4 สระบุรี 8 จังหวัดอีก18 แห่ง เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับบริการที่ดีขึ้น ส่วนสถานพยาบาลในเรือนจำเมื่อยกระดับผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำและหน่วยรับส่งต่อ จะได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว และงบจ่ายตามผลงาน เป็นการหนุนเสริมให้หน่วยบริการสามารถจัดบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนั้น พื้นที่ เขต 4 สระบุรี ได้มีการดำเนินงานขับเคลื่อนเพื่อควบคุมวัณโรคในเรือนจำที่เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ในการลดการติดเชื้อรายใหม่ และลดอัตราการเสียชีวิต โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 และ 2561 โดยความร่วมมือ ระหว่าง สปสช.เขต 4 สระบุรี สสจ. 8 จังหวัด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรมราชทัณฑ์ เพื่อสนับสนุนงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ และเงิน Global Fund ประเทศ จัดบริการเอ็กซเรย์ปอดผู้ต้องขังในเรือนจำ 20 แห่งครบ 100% เป็นการตัดวงจรแพร่กระจายเชื้อวัณโรค ที่เป็นปัญหาเรื้อรังของผู้ต้องขัง หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อในเรือนจำได้อย่างรวดเร็ว
- 103 views