เดอะการ์เดียน : ผลการวิจัยล่าสุดชี้ แนวนโยบายที่จะแช่แข็งอัตราเงินคืนค่ารักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพของออสเตรเลีย อาจส่งผลกระทบต่อการตรวจรักษาในเขตชนบทและในท้องถิ่นที่ประชาชนด้อยโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ปัจจุบันสาธารณชนต่างมุ่งอภิปรายนโยบายที่จะให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย 5 ดอลล่าห์ในระบบเมดิแคร์ ในขณะที่นโยบายของรัฐที่จะไม่ปรับเพิ่มอัตราเงินคืนกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่จะส่งผลกระทบมากกว่า

ชายคนหนึ่งนอกศูนย์สุขภาพชุมชนในรัฐวิกตอเรีย, ปัจจุบันสาธารณชนต่างมุ่งอภิปรายนโยบายที่จะให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย 5 ดอลล่าห์ออกจากการเคลมเงินคืนในระบบเมดิแคร์ ในขณะที่นโยบายของรัฐที่จะไม่ปรับเพิ่มอัตราเงินคืนกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรทั้งๆ ที่จะส่งผลกระทบมากกว่า ภาพประกอบโดย  Scott Barbour/Getty Images

จากผลการศึกษาวิจัยแนวนโยบายของรัฐบาลออสเตรเลียที่นำโดย นายโทนี่ แอบบอตต์ เกี่ยวกับการคงอัตราการจ่ายเงินคืนในระบบเมดิแคร์ พบว่า นโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อคนไข้อย่างมาก และรุนแรงกว่านโยบายที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมจ่าย 5 ดอลล่าห์ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้เสียอีก 

(เงินคืน (rebate) ดังกล่าว คือเงินส่วนที่รัฐบาลออสเตรีเลียออกให้เพื่อช่วยประชาชนในการทำประกันสุขภาพส่วนตัวหากประชาชนเลือกที่จะซื้อบริการสุขภาพจากผู้ให้บริการสุขภาพภาคเอกชน)

ทั้งนี้ผลการศึกษานี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดย The Medical Journal of Australia (MJA) เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า การไม่ปรับเพิ่มสัดส่วนการจ่ายเงินคืนดังกล่าวอาจส่งผลให้แพทย์ทั่วไปสูญเสียรายได้ราว 384.32 ดอลล่าร์ต่อการตรวจรักษา 100 ครั้งในปี 2017- 2018 (พ.ศ.2560-2561)และเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป แพทย์อาจต้องเรียกเก็บเงินจากประชาชนซึ่งไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ โดยคนไข้อาจจะต้องร่วมจ่ายค่ารักษาครั้งละ 8.43 ดอลล่าร์ นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า นโยบายข้างต้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อกระบวนการตรวจรักษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบทและกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลผสมของออสเตรเลียได้ยกเลิกนโยบายที่จะหักเงิน 5 ดอลล่าห์จากเงินคืนค่ารักษาพยาบาลในระบบเมดิแคร์จากคนไข้วัยผู้ใหญ่ที่มาใช้บริการตรวจรักษา แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศยกเลิกนโยบายนี้ไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การผลักภาระค่าใช้จ่ายไปยังคนไข้ก็ยังคงมีอยู่และมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลอยู่ดี

นายโทนี่ แอ็บบอต นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า ในช่วงที่ข้อเสนอร่วมจ่ายค่ารักษาได้ถูกคัดค้านอย่างรุนแรงและได้ "ตาย ฝัง แล้วก็เผา" ไปแล้วนั้น ทางรัฐบาลจะยังคงมาตรการในการเก็บรักษาเงินกองทุนโดยประกาศว่านับจากนี้ไปจนถึงเดือนกรกฏาคม 2018 (พ.ศ.2561) จะไม่มีการปรับเพิ่มอัตราเงินคืนในระบบเมดิแคร์ หมายความว่าเงินในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นไม่ทันกับต้นทุนค่าตรวจรักษาของแพทย์ทั่วไปที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง 

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร MJA ชิ้นนี้ พยายามที่จะระบุอัตราค่าบริการที่แพทย์ทั่วไปจำเป็นต้องเรียกเก็บเพิ่มโดยตรงจากคนไข้ที่รัฐไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ เพื่อชดเชยกับรายได้ที่สูญเสียไปจากการไม่ปรับเพิ่มอัตราเงินคืนในระบบเมดิแคร์ โดยคาดการณ์จากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 2.5%

ด้านนักวิจัยของศูนย์วิจัยด้านเวชศาสตร์ครอบครัว จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ พบว่า การแช่แข็งอัตราเงินคืนจะทำให้แพทย์ทั่วไปสูญเสียรายได้ที่เกี่ยวข้องกับเงินคืนไปราวร้อยละ 7.1 และเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป คาดว่ากลุ่มคนไข้ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐจะได้รับผลกระทบและต้องควักกระเป๋าเพื่อจ่ายค่ารักษาเพิ่มเป็นครั้งละ 8.43 ดอลล่าห์

“เนื่องจากค่าตอนแทนตามผลงาน (ค่า incentive) ในเขตชนบทที่สูงกว่าในเขตตัวเมือง ได้มีแพทย์ทั่วไปจำนวนหนึ่งกังวลว่าค่า incentive ที่รัฐสนับสนุนในเขตชนบทจะเผชิญหน้ากับความเสียหายครั้งใหญ่ เนื่องจากการคงสัดส่วนเงินคืนและอัตราเงินเฟ้อ : ในปี 2015-16 (2.84 ดอลล่าห์) เพิ่ม 10 เซ็นต์ต่อคน (ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ) และเพิ่ม 29 เซ็นต์ในปี 2017-18 (8.72 ดอลลาห์)" รายงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ระบุ

รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุต่อไปอีกว่า หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าทั้งนโยบายหักเงิน 5 ดอลล่าห์จากเงินคืนในระบบเมดิแคร์และนโยบายแช่แข็งอัตราเงินคืน คาดว่าทั้ง 2 นโยบายจะส่งผลให้รายได้ของแพทย์ทั่วไปลดลงถึงร้อยละ 11.2  ในปี 2017-2018 

“การอภิปรายบนเวทีสาธารณะส่วนใหญ่มุ่งความสนใจไปที่นโยบายร่วมจ่าย 5 ดอลล่าห์ ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว ส่วนนโยบายที่จะแช่แข็งอัตราเงินคืนกลับได้รับความสนใจน้อยมาก แต่ ณ เวลานี้ มันกำลังจะส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้น” นอกจากนี้รายงานฉบับดังกล่าวยังย้ำเตือนอีกว่า รายได้ของแพทย์ทั่วไปที่ลดลงเนื่องจากนโยบายที่จะแช่แข็งอัตราเงินคืน “อาจกดดันให้แพทย์ทั่วไปในระบบ bulk bill ชดเชยการสูญเสียรายได้ด้วยการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากคนไข้ที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ”

“การแช่แข็งอัตราเงินคืนดูเหมือนจะส่งผลกระทบมากขึ้นต่อกระบวนการตรวจรักษา โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรด้อยโอกาส ส่วนแพทย์ทั่วไปที่ต้องทำงานในสถานการณ์เช่นนี้ก็จะโดนผลกระทบจากรายได้หลักที่ลดลง และนี่อาจทำให้ระบบไม่สามารถทำงานต่อไปได้”

นางซูซาน เลย์ รัฐมนตรีสาธารณสุขของออสเตรเลีย ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า นโยบายที่จะแช่แข็งอัตราเงินคืนนี้ยังคงเป็นนโยบายของรัฐบาล “แต่ก็ยังต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญและต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ป่วย ผู้บริโภค รวมถึงทุกฝ่ายที่สนใจ เพื่อให้แน่ใจว่าเราได้ช่วยกันหาทางเลือกที่มีความเป็นไปได้และมีความยั่งยืน"

ด้านนางแคทเธอรีน คิง เลขาธิการด้านสาธารณสุข จากพรรคแรงงาน  กล่าวว่า  ผลการศึกษาดังกล่าวได้ยืนยันถึงสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านได้เตือนมาตลอดว่า นโยบายที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่นี้จะทำลายความครอบคลุมและเท่าเทียมกันของระบบเมดิแคร์ลง

“คำสัญญาของนายโทนี แอ็บบอต เกี่ยวกับการยกเลิกภาษีแพทย์ทั่วไป ก็คงมีความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกันกับคำสัญญาก่อนการเลือกตั้งที่ว่า จะไม่มีการจัดเก็บภาษีใหม่และจะไม่มีการตัดงบประมาณด้านสาธารณสุขอีกแล้วนั่นแหละ”  นางคิงกล่าว

หมายเหตุ ข้อมูลจาก ศูนย์สารสนเทศและวิจัยระบบยา (ศสวย.) ได้อธิบายเกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศออสเตรเลียว่า เป็นระบบคู่ขนานซึ่งประกอบดวยระบบประกันสุขภาพหลักที่รัฐเป็นผู้จัดหาบริการให้แก่ประชาชน เรียกวา Medicare Australia ซึ่งเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ที่รัฐบังคับใช้และให้บริการด้านสุขภาพครอบคลุมประชาชนออสเตรเลียทุกคน (100 %) ส่วนระบบประกันสุขภาพรองซึ่งคู่ขนานไปกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือ ระบบประกันสุขภาพเอกชน (Private health insurance) ซึ่งเป็นระบบที่ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกซื้อบริการโดยสมัครใจ โดยรัฐให้การอุดหนุนผ่านการลดภาษีหากประชาชนเลือกที่จะซื้อบริการจากผู้ให้ประกันสุขภาพภาคเอกชนตามนโยบาย 30% Rebate

ภาพรวมระบบประกันสุขภาพประเทศออสเตรเลียนั้น สุขภาพถือได้ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสําหรับประชาชนทุกคน รัฐบาลภายใต้ National Health Act, 1953 ได้เขามามีบทบาทในขั้นตอนตางๆ ของระบบสุขภาพโดยมีจุดมุ่งหมายหลัก 4 ประการ คือ

1.เพื่อให้ประชาชนในประเทศมีสุขภาพดี

2.สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายทางสุขภาพทั้งของรัฐและประชาชนไม่ให้สูงจนเกินไป

3.ให้ประชนชนได้รับบริการต่างๆ ทางการแพทย์และสาธารณสุขอยางเท่าเทียมกันโดยไม่คํานึงถึงรายได้

4.ให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเป็นที่น่าพึงพอใจ