ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนนักกายภาพบำบัดในระบบบริการ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย ตามโครงสร้างประชากรไทย ในปี พ.ศ.2568 คาดการณ์ว่าจะมีประชากรประมาณ 72 ล้านคน โดยเป็นผู้สูงอายุร้อยละ 20 หรือประมาณ 14 ล้านคน ซึ่งประชากรผู้สูงอายุที่มากขึ้นนี้ มีผลกระทบต่อโครงสร้างการให้บริการสาธารณสุขของประเทศ เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ และมีปัญหาในการเคลื่อนไหวและการดูแลตนเอง รวมถึงประชากรในวัยอื่นๆ โดยเฉพาะประชากรวัยทำงานที่ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น อันเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดที่ส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกัน ดูแล รักษาและฟื้นฟูด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด
จากข้อมูลของสภากายภาพบำบัด พบว่ามีนักกายภาพบำบัดที่ขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดประมาณ 8,000 คน แต่มีนักกายภาพบำบัดที่ประมาณการว่ายังคงปฏิบัติงานบริการในระบบสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนเพียง 5,000 คน ซึ่งกระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาคการศึกษา และการบริการสุขภาพ
นอกจากนั้นในระดับปฐมภูมิพบว่า โรงพยาบาลชุมชนที่มีนักกายภาพบำบัดปฏิบัติงานอยู่มีเพียงประมาณ 300 แห่ง จากจำนวนโรงพยาบาลชุมชนทั้งประเทศจำนวน 735 แห่ง โดยแต่ละแห่งที่มีนักกายภาพบำบัด มีจำนวนนักกายภาพบำบัดโดยเฉลี่ยเพียง 1.5 คน (ข้อมูลจาก สปสช.) ซึ่งไม่เพียงพอต่อลักษณะงานของนักกายภาพบำบัดชุมชนที่ต้องให้บริการกายภาพบำบัดในเชิงรุกในการเยี่ยมผู้ป่วยและผู้พิการตามบ้าน ประกอบกับการให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาลจำเป็นต้องมีนักกายภาพบำบัดอย่างน้อย 2-4 คนต่อโรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่ง ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในความรับผิดชอบของแต่ละโรงพยาบาล
ผศ.ดร.ผกาวลี พุ่มสุทัศน์ (ลีวีระพันธุ์) คณบดีคณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนกำลังคนที่จะเข้ามาเป็นนักกายภาพบำบัดมืออาชีพเป็นจำนวนมาก ซึ่งวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ โดยคณะกายภาพบำบัด เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีนโยบายในการเร่งสร้างนักกายภาพบำบัดเชิงรุกที่มีศักยภาพในการดูแลรักษาประชาชนอย่างเป็นองค์รวมในทุกมิติ โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมในการเข้าถึงการดูแลรักษาของประชาชน เพื่อลดการขาดแคลนกำลังคนที่จะลงพื้นที่สู่ประชาชน โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสุขภาพและการส่งเสริมให้ประชาชนดูแลตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแผนนี้ได้ดำเนินการภายใต้คณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7
สำหรับแนวทางการพัฒนานักกายภาพบำบัดให้มีจำนวนและศักยภาพที่ตอบโจทย์ของสังคมไทยและยังคงอยู่ในระบบสุขภาพ นั้น ผศ.ดร.ผกาวลี เสนอแนะว่า การสร้างนักกายภาพบำบัดที่มีศักยภาพ อุทิศตนให้สังคม และดูแลผู้อื่นอย่างไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ตามที่สังคมคาดหวังและเรียกร้องนั้น คงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐในการให้การสนับสนุนต่อแหล่งผลิตโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน เนื่องจากทุกคนถือเป็นพลเมืองของประเทศไทย ประกอบกับสถาบันผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดการศึกษาที่เน้นการบูรณาการ การประยุกต์องค์ความรู้ด้านกายภาพบำบัดกับมิติทางสังคม เน้นทักษะการปฏิสัมพันธ์จริงกับประชาชนในชุมชน ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้เข้าใจถึงชีวิตของผู้ที่จะให้การดูแลว่า ไม่เพียงแต่ร่างกายเท่านั้นที่เราต้องดูแล แต่หากต้องดูแลจิตใจและจิตวิญญาณ ซึ่งรวมไปถึงคนในครอบครัว สังคม และชุมชน เน้นทักษะการคิดขั้นสูง การเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเอง ทักษะชีวิตและการทำงาน ทักษะด้านสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพของสังคมที่ถูกดำเนินไปภายใต้การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ซึ่งส่งผลให้สุขภาพของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงบริบทตลอดเวลา
ผศ.ดร.ผกาวลี กล่าวเพิ่มเติมว่า ความต้องการนักกายภาพบำบัดในประเทศไทยที่สูงขึ้น ได้ถูกตอกย้ำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น จากการกำหนดแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) กระทรวงสาธารณสุข ที่ให้มีการเพิ่มอัตรากำลังนักกายภาพบำบัด ให้เพียงพอด้านปริมาณที่เหมาะสมกับภาระงาน และมีสมรรถนะตรงกับระดับศักยภาพของสถานบริการสุขภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทใดก็ตาม
"สำหรับคนที่จะเป็นนักกายภาพบำบัดต้องมีใจรัก พื้นฐานจิตใจต้องเป็นคนที่ใจกว้างและยอมรับที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผู้ที่เรียนจบในสาขานี้มีงานทำแน่นอน เพราะอาชีพนักกายภาพบำบัดกำลังขาดแคลน และเป็นที่ต้องการของสถานพยาบาล สถานบริการสุขภาพต่างๆ จำนวนมาก เรียนกายภาพบำบัดนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมแล้ว คนใกล้ชิดที่เรารักยังได้รับอานิสงส์นั้นด้วยเช่นกัน"
- 808 views