โนโรไวรัส (Norovirus infection) เป็นไวรัสในกลุ่มที่ก่อ “โรคหวัดลงกระเพาะหรือ สต็อมมัค ฟลู (stomach flu)” โรคนี้จะปรากฏอาการของโรคหลังได้รับเชื้อเข้าไปเพียง 24-48 ชั่วโมง หรือเกิดอาการได้เร็วกว่านั้น หากเริ่มมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเนื้อปวดตัว อาเจียน ปวดท้องมาก ท้องเสีย อ่อนเพลีย อาการของโรคจะเป็นอยู่ไม่นานเพียงวันสองวัน และอาการมักไม่หนัก แต่ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกว่าไม่สบายเอามากๆ ทีเดียว สำหรับเด็ก ผู้สูงวัย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอมักมีอาการมากกว่าหนุ่มสาว โรคสามารถแพร่ติดต่อกันจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้โดยง่ายดาย การติดเชื้ออาจติดโดยทางอาหาร เครื่องดื่ม ติดจากผู้ปรุงหรือบริการอาหาร ติดจากจาน ชาม ช้อน ผ้าเช็ดอุปกรณ์ อาหารที่ก่อการติดเชื้อบ่อย ได้แก่ หอยนางรมสด ลวก หรือปรุงไม่สุกดี ผู้ที่ติดเชื้อแล้วจะแพร่เชื้อต่อไปได้อีกประมาณสามวัน จะไม่เป็นพาหะโรคเรื้อรัง เป็นแล้วก็เป็นได้อีกเพราะไวรัสมีหลายสายพันธุ์จึงติดเชื้อต่างสายพันธุ์ซ้ำอีกได้ โรคนี้ไม่มีวิธีการรักษาโดยเฉพาะ ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค มีเพียงการอนามัยส่วนบุคคล เช่น ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้

หากจะมาทำความรู้จักกับโรคอุบัติใหม่เช่นโรคหวัดลงกระเพาะจากเชื้อโนโรไวรัส ในหนังสือเรื่อง “ระบาดบันลือโลก เล่ม 4” ของศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ  ทองเจริญ ได้กล่าวถึงกำเนิดของโรค และช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดไว้อย่างน่าสนใจ...

โนโรไวรัส หรือที่เรียกว่า “stomach flu” หรือ gastroenteritis virus โรคหวัดลงกระเพาะนี้มักจะระบาดบ่อยในฤดูหนาว และติดต่อง่าย มีอาการรุนแรง ไวรัสมีเพียง 10 อนุภาคเท่านั้นก็ทำให้เกิดอาการของโรคได้ จึงเรียกชื่อง่ายๆว่า winter superbug หรือ  Winter vomiting bug เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ สังกัดในสกุล “แคลิซิวิริเดอี – Caliciviridae” และเป็นคนละชนิดกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่เดิม โนโรไวรัส ถูกเรียกชื่อว่า ไวรัสนอร์วอล์ค (Norwalk Virus) และยังมีชื่อพ้องอื่นๆ ที่เรียกกันในอดีต ได้แก่ Norwalk-like virus, SRSVs (Small Round Structured Viruses), Snow Mountain virus, Hawaii virus ต่อมาจึงเรียกชื่อให้กระชับลง เปลี่ยนเป็น โนโรไวรัส ชื่อเดิมนั้นตั้งขึ้นเนื่องจากมีการระบาดของโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบทำให้ท้องร่วง เมื่อปี พ.ศ. 2511 ในโรงเรียนประถมในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ต่อมาภายหลังเมื่อมีการตรวจพบอนุภาคของไวรัส ในการวิจัยระดับอณูและเพิ่มเติมรายละเอียดของคุณสมบัติต่างๆ คณะกรรมการนานาชาติจึงประชุมตกลงกันเมื่อปี พ.ศ. 2545 จัดระบบใหม่เอาไว้ในสกุลแคลิซิวิริเดอี ดังกล่าว

ในสหรัฐและยุโรป ไวรัสชนิดนี้ เป็นต้นเหตุที่สำคัญในการก่อโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบมากกว่าร้อยละ 90 และกว่าร้อยละ 50 ในการก่อโรคอาหารเป็นพิษ ผู้คนทุกอายุติดเชื้อและป่วยได้ ไวรัสจะแพร่กระจายทางการกินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ที่มีเชื้อ และติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ ทุกปีในสหรัฐศูนย์ควบคุมป้องกันโรคของสหรัฐได้รับรายงานผู้ป่วยที่ป่วยจากการติดเชื้อโนโรไวรัสประมาณ 23 ล้านคน ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลห้าแสนคน และเนื่องจากเป็นโรคที่มีอัตราตายต่ำ จึงมีผู้ป่วยที่ตายจากโรคประมาณ 310 คน ภายหลังการติดเชื้อจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันแต่เป็นภูมิคุ้มกันที่คงอยู่ไม่นาน หรือภูมิคุ้มกันชั่วคราว ความไวในการติดเชื้อจะมีเรื่องของพันธุกรรมมาเกี่ยวข้อง เช่น คนเลือดหมู่ O จะติดเชื้อโนโรไวรัสได้บ่อย ในขณะที่คนที่มีเลือด A และ AB มักจะมีความต้านทานตามธรรมชาติต่อการติดเชื้อชนิดที่มีอาการของโรค

การแพร่ระบาดของโนโรไวรัส ในช่วงเวลาต่างๆในสหรัฐและยุโรปที่น่าสนใจ เช่น

การระบาดของโนโรไวรัสบนเรือสำราญเดินสมุทรลำที่ใหญ่ที่สุดในโลก “เดอะ ฟรีดอม ออฟ เดอะ ซีส์” ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม พ.ศ.2549 เรือสำราญเดินสมุทรลำใหญ่ที่สุดในโลกลำนี้ มีผู้โดยสาร 3,900 คน ออกเดินทางท่องทะเลแคริบเบียน และพบการติดเชื้อโนโรไวรัสระบาดอยู่ในเรือถึงสองระลอก มีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 106 คน เป็นลูกเรือ 11 คน

การระบาดของโนโรไวรัสในเรือเดินสมุทรยุโรป เมื่อปี พ.ศ. 2549 จากรายงานของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของยุโรปที่กรุงสต็อคโฮม ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ 24 เมษายน ถึง 9 มิถุนายน 2549 มีรายงานพบการระบาดของโรคท้องร่วง บนเรือเดินสมุทรโดยสารขนาดใหญ่ 4 ลำด้วยกัน ลำหนึ่งเกิดระบาดครั้งเดียว แต่อีกสามลำระบาดลำละ 2 ครั้ง เชื้อที่ก่อโรคในการระบาดก็คือ โนโรไวรัส ในช่วงเวลานั้นมีเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ล่องทะเลบอลติคอยู่ถึง 7 ลำ เป็นเรือของบริษัทเดินเรือ 5 บริษัทด้วยกัน

การระบาดของโนโรไวรัสในโรงพยาบาลในประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. 2552 โรงพยาบาลเซาเทิร์น เจเนอรัล ฮอสปิตัล ในนครกลาสโกว์ ถูกทางฝ่ายอนามัยแห่งชาติสั่งปิดเพราะสงสัยว่า โนโรไวรัสระบาดในโรงพยาบาลเป็นหอผู้ป่วยอายุรกรรมสองหอ และหอผู้ป่วยศัลยกรรมอีกหนึ่งหอ ทั้งนี้เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีผู้ป่วยโรคท้องร่วงจากติดเชื้อโนโรไวรัส เข้าไปรับการรักษากระจายกันอยู่ในหอผู้ป่วยเหล่านั้น 7 รายด้วยกัน ดังนั้นเพื่อเป็นมาตรการยุติการแพร่กระจายของโรคมิให้ระบาดออกไปทั่วทุกหอผู้ป่วยในโรงพยาบาล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสั่งปิดหอผู้ป่วยที่มีปัญหาเอาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว

หรือการระบาดตามภัตตาคารหลายแห่ง เช่น ภัตตาคาร “แฟท ดั๊ค” ที่เบรย์,เบอร์คไชร์ ในสหราชอาณาจักรภัตตาคารแห่งนี้เป็นภัตตาคารที่มีชื่อเสียงโด่งดัง  และเลิศรสจนติดอันดับ 3 ดาวของมิชลินไก๊ด์ แต่เมื่อปีพ.ศ. 2552 กลับมีข่าวออกมาว่า ลูกค้าหลังไปรับประทานอาหารยังไม่ทันได้ข้ามวัน ต่างทยอยมีอาการทำนองเดียวกัน คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ช่วงระยะไม่ถึงสิบวันมีลูกค้ามีอาการดังกล่าวร่วม 576 คน  สำนักงานปกป้องสุขภาพของอังกฤษ ได้เข้าไปสอบสวนโรค และได้สั่งให้หยุดบริการชั่วคราว การวินิจฉัยเบื้องต้นต่างลงความเห็นว่าน่าจะเกิดจากภาวะติดเชื้อโนโรไวรัส

รวมทั้งมีการระบาดในโรงเรียน ที่เมืองแกรนด์ แรพิดส์ รัฐมิชิแกน เมื่อปีพ.ศ. 2551 มีการระบาดของโรคท้องร่วงจากการติดเชื้อโนโรไวรัส ในวิทยาลัยโฮ๊พ มีนักศึกษาป่วยในระยะเวลาสั้นๆ จำนวนถึง 420 คน ทางการต้องสั่งปิดวิทยาเขตไม่ให้ใครเข้าออกเพื่อควบคุมสกัดการระบาดและในที่สุดการระบาดก็สงบลง เป็นต้น

เก็บความและภาพจาก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ  ทองเจริญ, ระบาดบันลือโลก เล่ม 4, 2552