นสพ.คมชัดลึก : คำต่อคำ นพ.ณรงค์ เปิดใจหลังบุคลากรสธ.ให้กำลังใจเมื่อ 12 มี.ค. สวนกลับใครกันแน่ที่ไม่ทำตามนโยบาย เคยเสนอนโยบายพัฒนาการเด็กแต่ถูกเมิน แฉ การแต่งตังผู้บริหารสธ.ระดับสูง ที่ถูกที่ปรึกษารมต. 6 คนล้วงลูก จนไม่สามารถตั้งผู้ตรวจราชการได้ครบ ปัดสธ.จ้องรวมเงินมาไว้ส่วนกลาง ยืนยันต้องตรวจสอบงบบัตรทอง
นสพ.คมชัดลึก : แม้หลายเรื่องราว "นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเคยเกริ่นไว้ว่า จะเก็บไว้เขียนลงในหนังสือเกษียณอายุราชการ หรือหนังสืองานศพว่าช่วงที่รับตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขมานั้น พบเจอกับสิ่งใดมาบ้าง แต่ในวันที่ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี สั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี และมีประชาคมสาธารณสุขเดินทางมาให้เข้ากำลังใจถึงกระทรวง นพ.ณรงค์ จึงตัดสินใจพูดบางเรื่องออกมา โดยพูดต่อหน้าคน สธ. ที่บริเวณหน้าอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นพ.ณรงค์ เริ่มต้นว่า ยังเป็นปลัดกระทรวงอยู่เหมือนเดิม แต่ยืนยันว่า จะไปพบรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย สำหรับสิ่งที่เจอมาตลอด 2 ปี จริงๆ แล้ว อยากจะเก็บไว้เขียนตอนหนังสืองานศพ แต่วันนี้จะเล่าให้ฟัง สิ่งที่จะเดินหน้าต่อไปจากนี้ หลังจากพวกเราทุกคนที่นี้ ทั้งในภูมิภาค อยู่หน้างาน อยู่กับปัญหา พวกเราไม่เคยเอาประชาชนเป็นตัวประกัน เป็นคนให้บริการต่อประชาชนโดยไม่เคยเอามาประชาสัมพันธ์ เป็นคนที่ทำงานหนักโดยไม่ต้องขึ้นป้าย และทำงานหนักโดยไม่เคยต้องซื้อสื่อ วันนี้อนาคตของกระทรวงไม่ได้อยู่ที่ผู้บริหารส่วนกลาง แต่อยู่ที่คนทำงานในภูมิภาคทุกคน เชื่อว่า สิ่งที่เดินมา คือ เขตสุขภาพ เป็นทางออกของทศวรรษนี้ และเป็นทางออกของผู้ให้บริการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีตั้งแต่ระดับสถานีอนามัยไปจนถึงโรงพยาบาลส่วนกลางที่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่
"ความเชื่อนี้ปรากฏอยู่ในนโยบายของรัฐบาล ข้อ 5.2 อยากให้ไปเปิดดู นโยบายนี้เขียนไว้ว่า จัดให้มีกลไกการดูแลสุขภาพในระดับเขต โดยไม่ให้กระจุกตัวที่ส่วนกลาง คิดว่า หัวใจของนโยบายสาธารณสุขรัฐบาลชุดนี้ อยู่ที่นโยบายข้อนี้ ซึ่งพวกเราทำตามนโยบายมาตลอดในช่วง 2 ปีนี้ แต่กลับไม่เคยเห็นนโยบายของรัฐมนตรีที่เขียนในเรื่องเขตเลย ไม่เคยแม้กระทั่งจะกล้าพูดว่า ทำงานในรูปเขต เพราะมีบางคนบอกว่า ถ้าพูดเรื่องเขต จะตาย จึงไม่รู้ว่า พวกเราอยู่กันด้วยอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำมาเรื่องเขตสุขภาพต่อให้ตายก็จะเดินหน้าทำเรื่องนี้ต่อไป ส่วนข้อกล่าวหาว่า ไม่เคยทำตามนโยบายรัฐบาล ก็ขอให้ดูข้อ 5.2 ชัดๆ ว่าใครกันแน่ที่ไม่ทำตามนโยบายรัฐบาล ส่วนจะมีอะไรอย่างไร ต้องค่อยๆ คุยกันว่า เกิดอะไรกับระบบ แต่สิ่งที่เห็นตรงกัน คือ เรื่องเขตบริการสุขภาพ ตรงกับนโยบายของรัฐบาลแน่นอน" นพ.ณรงค์กล่าว
ลั่นต้องตรวจสอบงบบัตรทอง
นอกจากนี้ เรื่องปฏิรูประบบการเงินการคลัง 12 ปี ได้บทเรียนมากมายแล้ว เราเจอข้อมูลบางอย่างที่บอกได้ว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่รับผิดชอบกำกับกองทุนบัตรทองจะต้องรับฟัง อีกทั้งยังคิดว่า หน้าที่รัฐมนตรีที่เป็นประธานบอร์ด ต้องเอาข้อมูลที่รับฟังมาพูด มาตอบ ไม่ใช่ยืนยันว่า ถูกต้องหมดแล้ว ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นภาษีของประชาชน เราพบเหตุการณ์ ที่ดูเหมือนต้องตรวจสอบก็ต้องตรวจสอบ เพราะรัฐบาลนี้เกิดจากการไล่คนโกง สิ่งไม่ชอบมาพากล ต้องตรวจสอบ หลายคนบอกว่า น่าจะถูกย้ายเพราะเรื่องนี้ เพราะไปโดนกล่องหัวใจของคนบางกลุ่มที่คิดว่า อำนาจการเงินจะเดินนำการบริหารจัดการ โดยทิ้งหัวใจของความเป็นมนุษย์ไปหมดแล้ว วัฒนธรรมการเอางานมาแลกเงิน คิดว่า ได้เสนอไปแล้วว่าควรแก้ไข มีการโอนเงินสิ้นปีงบประมาณพันกว่าล้าน และโอนคืนใน 3 เดือน แล้วบอกว่า เพื่อช่วยก่อนมีจริงหรือ ส่วนตัวคิดว่า เรื่องนี้เป็นเงินภาษีของประชาชนที่เอามาให้หน่วยบริการทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่เงินที่จะเอาไปทำอะไรตามอำเภอใจ หรือเอาไปให้มูลนิธิใด ตั้งเป็นเงินเดือนของผู้จัดการโครงการ ทั้งที่เป็นเงินค่าหัวของประชาชน เรื่องนี้ถึงแม้จะเกษียณก็จะตามดูต่อ และอยากขอให้ข้าราชการทุกคนตามดูต่อเช่นกันในทุกพื้นที่ ว่าเงินที่มาถึงเรามาอย่างไร เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ และหายไปไหน
"ผมอยากให้ประชาชนช่วยดูเรื่องนี้ว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำงานอย่างไร มีธรรมาภิบาล ประสิทธิภาพแค่ไหน ช่วยตอบเราในฐานะผู้ให้บริการ และพบสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล อยากให้ช่วยกันดูต่อ" นพ.ณรงค์กล่าว
รัฐบาลพิเศษต้องทำเรื่องใหญ่ในระบบสาธารณสุข
ส่วนเรื่องธรรมาภิบาล นพ.ณรงค์ กล่าวว่า หลายคนบอกว่า คนทำเรื่องธรรมาภิบาลกำลังจะถูกย้ายนั้น ไม่ต้องกลัว เพราะสิ่งที่ทำมีแล้วอยู่ในทุกองค์กร ทุกอย่างต้องถูกตรวจสอบได้ มีส่วนร่วม มีธรรมาภิบาลในการใช้จ่าย จัดซื้อจัดจ้าง ในเมื่อกล้าออกมาไล่รัฐบาลที่โกงประชาชน ต้องกล้าออกมาปัดกวาดบ้านเรา และตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาก็ปัดกวาดบ้านของเราแล้ว ไม่เห็นรัฐมนตรีชุดนี้พูดเรื่องธรรมาภิบาลเลย แต่เมื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องธรรมาภิบาลก็ยังไม่ตรวจสอบ แต่กลับมาตรวจสอบว่า โรงพยาบาลขาดทุนเพราะเหตุอะไร
"ผมเชื่อว่า พวกเราทำอย่างเต็มกำลังอยู่แล้ว รัฐบาลชุดนี้ เป็นรัฐบาลปฏิวัติมีเวลาสั้น สิ่งที่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีต้องทำ คือ ทำในเรื่องใหญ่ๆ ไม่ใช่ทำเรื่องเล็กๆ โดยเรื่องใหญ่ที่ทำ เช่น เรื่องเขต เรื่องธรรมาภิบาล การเงินการคลัง กำลังคน" นพ.ณรงค์ กล่าว
เสนอแผนพัฒนาการเด็กแต่ถูกเมิน
นพ.ณรงค์ บอกด้วยว่า ในส่วนของประชาชนได้เสนอวันแรกตั้งแต่เจอกัน คือ เรื่องพัฒนาการเด็ก เพราะมีเด็กพัฒนาการล่าช้าถึงร้อยละ 30 จึงได้เสนอเรื่องนี้เป็นเชิงนโยบาย อยากให้เป็นของขวัญปีใหม่ที่นายกฯ อยากให้แก่ประชาชน แต่เชื่อหรือไม่ว่า นโยบายดังกล่าวถูกปฏิเสธ บอกว่า กำลังทำนำร่องใน 5 จังหวัด จึงได้ค้านว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่น่าจะมีอะไรนำร่อง ควรจะทำทั้งประเทศ แต่เพิ่งยอมรับทำเมื่อสัปดาห์ก่อน ในที่ประชุมกระทรวง
ปัด สธ.รวมเงินมาส่วนกลาง
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า หลายคนบอกว่า สธ.พยายามจะรวบอำนาจกลับมา จึงถูกเบี่ยงเบนว่า จะเอาเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กลับมา ซึ่งได้พยายามอธิบายว่า เอาตัวเลขไว้ที่เขต จากนั้นให้เขตนั่งคุยกันว่า เขตควรจะได้อะไรแล้วจัดสรรเงินร่วมกัน ไม่ใช่จัดจากส่วนกลางโดยบอร์ด สปสช. เพราะมันไม่ตรงกับปัญหา จึงเสนอให้เอาเงินไว้ที่เขต ซึ่งตรงกับนโยบายของรัฐบาล แต่กลับไม่มี เล่นลูกเล่นตลอดเวลา 5-6 เดือน แล้วมาบอกว่า เราเอาประชาชนเป็นตัวประกัน ยืนยันว่า เราบริการเหมือนเดิม ไม่เคยคิดว่า มีเงินหรือไม่มีเงิน แต่มีคนเบี่ยงเบน
"ผมเชื่อว่าหัวใจการบริการของคนสาธารณสุข คือ การทำงานโดยที่ไม่เคยคิดว่าเงินจะมีหรือไม่มี เพราะฉะนั้น อย่าดูถูกหัวใจคนสาธารณสุขว่า เอาประชาชนเป็นตัวประกัน ถึงแม้จะเงินไม่มี ถึงแม้ว่าจะถูกตัดเงินโดยไม่รู้เหตุผล กลับบอกว่า เราจะประหยัดขึ้น แต่กลับมีคนตั้งกลุ่ม และประณามว่า พวกเราเห็นแก่เงิน ผมไม่รู้ว่าใครเห็นแก่เงิน ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ"
ยันไม่ใช่เรื่องขัดแย้งระหว่างบุคคล
นพ.ณรงค์ บอกด้วยว่า ขณะนี้มีความพยายามบอกว่า เป็นเรื่องขัดแย้งระหว่างบุคคล ขอยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของแนวคิดและหลักการที่ไม่เหมือนกัน ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา มีคนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีประสิทธิภาพ ต้องไปตั้งองค์กรใหม่ เอาเงินไปบริหาร และบอกว่า กระทรวงสาธารณสุข แย่ลงทุกวัน จะตั้งเขตก็ปรามาสผู้ตรวจว่า ทำงานไหวหรือไม่ จึงไม่เข้าใจว่า ข้าราชการในกระทรวงอยู่เฉยได้อย่างไร เรื่องนี้ เป็นเรื่องหลักการเชิงแนวคิดที่แตกต่างของคนสองกลุ่มที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข
"หน้าที่รัฐมนตรี คือ การเข้ามาฟังข้อมูลแล้วตัดสินใจ แล้วดูว่าอะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็น เข้ามาเป็นคนกลาง แต่ผมไม่รู้ว่า เป็นคนกลางอย่างไร เรื่องนี้พวกเราคาดหวังคนที่เป็นรัฐมนตรีเข้ามาดูแนวคิดที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง สองแนวคิดนี้ อะไรไปด้วยกันได้ อะไรไปด้วยกันไม่ได้ เป็นทั้งประธานบอร์ด เป็นทั้งรัฐมนตรี ควรจะต้องนั่งดูข้อมูลให้รอบด้านแล้วตัดสินใจ ซึ่งทุกคนคงทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้นในกระทรวง ผมขอร้องว่า อย่าโยนให้เป็นความขัดแย้งส่วนบุคคล เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ" นพ.ณรงค์กล่าว
ติภาวะผู้นำ
สำหรับประเด็นความเป็นผู้นำ จนถึงขณะนี้ยังตั้งผู้ตรวจราชการไม่ได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้คุยกันตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2557 เป็นวันแรกที่รัฐมนตรีเข้ามาทำงาน มีข้อเสนอให้มีรองอธิบดีคนหนึ่งเป็นรองปลัด ตอนนั้นตอบไปว่า ไม่ได้ เพราะเคยเป็นรองอธิบดีคนหนึ่งที่เคยจะถูกแต่งตั้งให้เป็นรองปลัด แต่ปฏิเสธที่จะเป็น เพราะฉะนั้น จะให้มาแต่งตั้งในลักษณะนี้คงไม่สามารถทำได้ จึงได้เสนอชื่อใครบางคนที่จะเป็น แต่ปรากฏว่ามีใครบางคนปฏิเสธว่า คนนี้ไม่ให้เป็นผู้ตรวจฯ จากนั้นก็มีการโทรตามทั้งวัน ต่อมาเมื่อวันจันทร์ได้คุยกันในเรื่องนี้อีกโดยมีที่ปรึกษาใหญ่ร่วมด้วย โดยให้ทำตามที่ขอมา
"ผมได้ปฏิเสธ และยืนยันว่า หากจะเอารองอธิบดีเป็นรองปลัด ผมจะลาออก จึงไม่เอา ต่อมารายชื่อที่เสนอเป็นผู้ตรวจฯ มีกลุ่มที่ปรึกษากลุ่มหนึ่งไปปลุกระดมรองอธิบดีว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่คนที่ผมเสนอชื่อนั้น ผมให้ไปเป็นผู้ตรวจราชการ ถือเป็นเบื้องหลังที่ไม่อยากเล่าให้ฟัง แต่มันเป็นเรื่องของความเป็นผู้นำ" นพ.ณรงค์ กล่าว
แฉที่ปรึกษาล้วงลูกตั้ง สสจ.
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ลำดับต่อมาถึงคิวแต่งตั้งโยกย้ายนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ปรากฏว่า มีการขอดูรายชื่อทั้งที่เป็นอำนาจของปลัด จึงขอทราบเหตุผลในการขอดู วันนั้นได้พบกับทีมที่ปรึกษา 6 คน จากนั้นได้ซักถามทีละรายชื่อ ซึ่งได้ชี้แจงไปแล้วว่า เป็นเรื่องของธรรมาภิบาล และระบบที่กำลังเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องมาอธิบายให้ที่ปรึกษา 6 คนที่ไม่เกี่ยวข้องฟัง หากเป็นการเมืองสมัยก่อนคงต้องถอดถอนไปแล้ว
"ผมก็พยายามทำเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ จึงบอกว่าขอให้แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงก่อนแล้วค่อยแต่งตั้ง นพ.สสจ. ซึ่งผมรอ แต่ไม่ทันในกำหนดเดือนตุลาคม ทำให้รอไม่ได้ จึงแต่งตั้งไปก่อนทำให้ช้าไปประมาณ 1 เดือน และปัจจุบันสาธารณสุขนิเทศก์ยังว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง แต่ได้เสนอเกณฑ์ กระบวนการ หลักการไปแล้ว เพื่อให้รัฐมนตรีตัดสินใจ แต่ยังไม่เสร็จสิ้น ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำ และมีคำถามเรื่องธรรมาภิบาล
"ถึงเวลานี้ อย่าเอาประเด็นที่ขัดแย้งในเรื่องหลักการและวิธีการบริหารเป็นเรื่องของบุคคล ซึ่งบางคนมโนไปว่า ผมผิดหวังที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ผมได้ตอบหลายครั้งแล้วว่า ตำแหน่งปลัด เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ เป็นข้าราชการประจำสูงสุด เป็นตำแหน่งที่ได้มาด้วยการทำงานมาตลอดชีวิตราชการ ไม่ได้เข้ามาทางข้างๆ เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ" นพ.ณรงค์กล่าว
เดินหน้ากอบกู้ศักดิ์ศรี
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำต่อมี 3-4 เรื่อง คือ 1.การกู้ศักดิ์ศรีของตระกูล ว่าเหตุใด จึงถูกตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ทุกวันนี้ยังไม่ได้รับหนังสือ 2.สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการคุกคามข้าราชการประจำ เพราะคิดว่า เราอยู่ในการปฏิรูประบบราชการ นี่คือเรื่องสำคัญ และเป็นศักดิ์ศรีของข้าราชการทุกคน จะปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ต่อไปหรือไม่ หากมีการเลือกตั้งจะไม่ยิ่งหนักกว่านี้หรือไม่ ฉะนั้นการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงควรเข้ามาดูว่า ใครควรเป็นคนแต่งตั้ง จะมีสิทธิมีเสียงหรือไม่ หรือ รัฐมนตรีมีสิทธิหยิบเอาเลยใช่หรือไม่ จึงอยากให้เรื่องของหมอณรงค์มาคุยกันในฐานะของศักดิ์ศรีของข้าราชการประจำ 3.การผดุงศักดิ์ศรีของตำแหน่งปลัดกระทรวงที่เป็นตำแหน่งสูงสุด ไม่ควรจะถูกกระทำอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งอดีตปลัดกระทรวงหลายคน โทรศัพท์มาหาบอกว่า อย่าลาออกเด็ดขาด เพราะนี่ไม่ใช่เป็นการต่อสู้ของบุคคลแต่เป็นการต่อสู้ในฐานะปลัดกระทรวง ศักดิ์ศรีของหัวหน้าข้าราชการประจำ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
"คนที่มายืนต่อจากผมก็ขอให้มีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกัน อย่ามาพร้อมยืนกุมเป้า อย่ามาเป็นเพราะอยากจะเป็น อยากให้มาเป็นเพราะอยากทำงานในสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ ใครมาเป็นก็ขอให้อย่ามาเป็นเพื่อเกียรติยศของวงศ์ตระกูล แต่ให้มาเป็นเพราะอยากทำให้ระบบสาธารณสุขดีขึ้น ผมเหลือเวลาอีก 6 เดือน ถ้าวันนี้เป็นวันที่ 30 กันยายน คงกลับบ้านอย่างมีความสุข แต่อยากขอให้พวกเราที่ยังอยู่ยืนต่อ อยากให้รวมตัวกันต่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นทีม ความเป็นแนวหน้า อยากให้ออกมาปกป้องศักดิ์ศรี และทำให้เป็นกระทรวงสีขาว มีธรรมาภิบาล เดินไปในทางที่ควรจะเป็น ส่วนคนที่กำลังจะโตอยากให้อย่ามองขึ้นไปข้างบน แต่ให้มองลงไปข้างล่าง มองที่ระบบบริการ ลองมาฟังว่า เราคิดอะไรอยากเห็นอะไร ความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพ อะไรที่แตกต่างฟ้ากับดินคิดอะไรกันอยู่ เพื่อทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างหน่วยบริการให้หายไป ซึ่งทุกวันนี้ พี่น้องในระบบสาธารณสุขกำลังกลับมาหลังจากถูกกลไกการเงินการคลังเบี่ยงเบนไปเป็นเวลา 12 ปี" นพ.ณรงค์กล่าว
เคารพนายกฯ
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ข้างหน้าขอให้อย่าห่วง วันนี้จะไปรายงานตัว เพราะเป็นข้าราชการ มีผู้บังคับบัญชา มีเกียรติยศศักดิ์ศรี คำสั่งท่านนายกฯ ต้องปฏิบัติ ท่านนายกฯ ได้เสียสละ แบกความเสี่ยงมากมายเมื่อตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ซึ่งคิดว่าทุกคนในประเทศเห็นด้วย แต่สวนตัวกังวลในเรื่องคนที่ไม่เคยต่อสู้อะไรเลย แต่กำลังจะมาชุบมือเปิบ และกำลังจะทำลายนายกฯ คนที่ไม่เคยต้องเสี่ยงอะไรเลย เดินไปเดินมาแล้วมาบริหารประเทศ
"ผมเคารพท่านนายกฯ และจะปฏิบัติตาม แต่สิ่งที่จะทำต่อคือ การกอบกู้เกียรติยศศักดิ์ศรีของตระกูล ของผม และของตำแหน่งข้าราชการในยุคนี้ ไม่อยากให้ใครมาใช้เหตุการณ์นี้ไปในการทำความไม่สงบให้รัฐบาล ต้องให้โอกาสนายกฯ ในการทำงาน แก้ไขประเทศ เพราะทราบว่า สิ่งที่ท่านเจอนั้นมากมาย และต้องพบกับเหลือบ ไร ลิ้น ที่มาเกาะแข้งเกาะขา อยากให้เชื่อใจว่า ท่านกำลังนำประเทศไปสู่การแก้ไขที่ยั่งยืน อย่าให้ใครใช้โอกาสนี้บิดเบือนว่า เรามาต่อต้านรัฐบาล ส่วนที่ออกมาพูดเพื่อมาบอกว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างไร และขอให้ท่านดูระบบสาธารณสุขบ้างว่า อยู่กันอย่างไร เชื่อว่า ท่านกำลังดูอยู่แต่ข้อมูลคงยังไม่มาก จึงไม่อยากให้ใครปลุกระดมว่า ม็อบหมอไล่รัฐบาล ต้องช่วยให้รัฐบาลเดินไปให้ได้ และเป็นรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล
ถึงวันนี้ นพ.ณรงค์ บอกว่า กำลังใจเต็มเปี่ยมมาตลอด 2 ปี ทั้งจากครอบครัวและพี่น้องชาวสาธารณสุข ไม่ต้องเป็นห่วง และเชื่อว่านายกฯ จะฟังเราบ้าง
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 13 มีนาคม 2558
- 4 views