นสพ.โพสต์ทูเดย์ : ปิดฉากลงแล้วสำหรับเก้าอี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และให้ย้าย นพ.ณรงค์ ไปเป็น "ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี" ทันที หลังจากเกิดความขัดแย้งในการทำงานร่วมกับฝ่ายการเมือง อันนำโดย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มายาวนาน

อันที่จริงก่อนหน้านี้ ชื่อของ นพ.ณรงค์ เป็นหนึ่งในแคนดิเดตที่จะขึ้นนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ด้วยซ้ำ เพราะชื่อชั้นโดดเด่นจากการประกาศตัวมา "เป่านกหวีด" ร่วมกับ กปปส. ไม่เอารัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

แต่สุดท้ายก็พลาดหวัง เมื่อ คสช.ตัดสินใจเลือก ศ.นพ.รัชตะ ซึ่งเวลานั้นเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็น รมว.สธ. โดยมีพี่ใหญ่ของแพทย์ชนบท ศิษย์ก้นกุฏิของ นพ.ประเวศ วะสี รายล้อมเป็น มันสมองในทีมที่ปรึกษา และยังมีมือขวาของหมอประเวศ อย่าง นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็น รมช.สธ.

แววความขัดแย้งเริ่มฉายขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น เพราะแนวทางการปฏิรูประบบสาธารณสุขของ นพ.ณรงค์ นั้น ไปคนละทางกับ "ลัทธิประเวศ"

จุดแตกหักเริ่มเมื่อปลัด สธ. ส่งสัญญาณ ไม่เอาการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ของ สปสช. ที่หมอรัชตะนั่งเป็นประธานโดยหมายมั่นปั้นมือให้กันงบประมาณไปลงที่ "เขตบริการสุขภาพ" ของกระทรวงแทน รวมถึงให้ยุบเลิกกองทุนบริหารจัดการหมวดเฉพาะ

แม้ รมว.สธ. จะตั้งคณะทำงานเจรจา 2 ฝ่าย ลากยาวมานาน 5 เดือน แต่ก็ยังเกิดปรากฏการณ์ ดื้อแพ่งจากหมอณรงค์ และฝ่ายข้าราชการประจำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกหนังสือโดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. ขอให้ข้าราชการไม่เข้าร่วมประชุมกับ สปสช. การรวมตัวของผู้ตรวจราชการ สธ. ขอให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ สปสช. การประกาศของชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ว่าจะไม่ส่งข้อมูลผู้ป่วยให้กับ สปสช. เรื่อยไปจนถึงการประกาศ "ไม่รับทำบัตรทอง" ของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวง

ขณะที่คณะกรรมการคนกลางที่รัฐมนตรีตั้งมาแก้ปัญหาอย่าง คณะกรรมการแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน ที่ให้ นพ.ยุทธ โพธารามิก อดีตรองปลัด สธ. และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ที่ให้ ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน ก็ล่มตั้งแต่ยังไม่เริ่ม เนื่องจากปลัดสธ. ปฏิเสธส่งคนเข้าร่วมทั้งคู่

ในที่สุดเผือกร้อนก็ถูกส่งต่อไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อหาทางออกให้กระทรวงหมอหลุดจากวังวนของความขัดแย้ง โดยหมอรัชตะตั้งเงื่อนไขผ่านเอ็มโอยูให้ปลัด สธ. ต้องยอมรับคณะกรรมการทั้งสองชุด และให้ปฏิบัติตามมติของบอร์ด สปสช.โดยไม่มีข้อแม้

หมอณรงค์ขอเวลาตัดสินใจ  1 สัปดาห์ ก่อนปฏิเสธลงนามในเอ็มโอยู เพราะหากยอมรับก็เท่ากับว่าเป็นการทำลายหลักการที่ต่อสู้มา ในที่สุดรัฐมนตรีจึงเสนอวาระ "ย้ายปลัด" เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา

แต่เรื่องดังกล่าวถูกเบรกโดยนายกรัฐมนตรี โดยบิ๊กตู่ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง ไม่ให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องศาลปกครองจนกลายเป็นชนักติดหลัง และนายกฯ ยังย้ำอีกว่า หลังจากนี้จะดูแลเรื่องของปลัด สธ.ด้วยตัวเอง ไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรีอีก

ผ่านมา 2 สัปดาห์ ในที่สุดหมอรัชตะก็ได้เวลายืมมือนายกฯ ย้ายปลัดณรงค์ หลังจากประเมินภายในทีมงานรัฐมนตรีแล้วว่า แรงกระเพื่อมที่กลัวกันก่อนหน้านี้ ไม่น่าจะมีมาก

เพราะต้องไม่ลืมว่าการตัดสินใจขั้นสุดท้าย คือการตวัดปากกาลงนามของ "บิ๊กตู่" หาใช่ตัว ศ.นพ.รัชตะ การเคลื่อนไหวเพื่อต้าน คำสั่งดังกล่าว ก็เท่ากับเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาล ซึ่งมีกฎอัยการศึกค้ำคอไม่ให้ก่อม็อบอยู่อีกชั้น การปลุกม็อบหมอออกมาต่อต้านจึงศึกค้ำคอไม่ให้ก่อม็อบอยู่อีกชั้น การปลุกม็อบหมอออกมาต่อต้านจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

และต้องไม่ลืมว่า กระทรวงหมอถือเป็นหนึ่งในกระทรวงที่น่าจะสร้างผลงานชิ้นโบแดงให้รัฐบาลได้ แต่ข่าวคราวที่ผ่านมากลับกลายเป็นกระทรวงที่มีแต่ข่าวความ ขัดแย้งระหว่างคนดีกับคนดี จนบิ๊กตู่ต้องเปรยขึ้นมาลอยๆ ว่า

"การที่ผลงานรัฐบาลไม่ออก อาจมาจากความขัดแย้งในกระทรวง มากกว่ารัฐมนตรีไม่มีความสามารถ"

ฉะนั้น จากนี้ได้เวลาทดสอบฝีมือของฝ่ายการเมืองแล้วว่า เมื่อไม่มีปลัด สธ. ผลงานของรัฐมนตรีจะออกมาอย่างที่โฆษณาไว้หรือไม่

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 มีนาคม 2558