ASTVผู้จัดการรายวัน – ประชาคมสธ. เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ 25 มี.ค. จี้เร่งสอบหมอณรงค์ คืนความเป็นธรรม พร้อมจับตา "นพ.สมชายโชติ" หนึ่งใน คกก.สอบ สปสช. หวั่น "ยงยุทธ" ลำเอียง ระบุเพราะเป็นเครือข่ายแพทย์ชนบท พร้อมยกเลิกแต่งดำ และเตรียมปลดป้ายลง เหตุไม่อยากเป็นปัญหาให้รัฐบาลต้องส่งทหารไปคุ้ม ด้าน "หมอวินัย" ลั่นพร้อมให้ทุกองค์กรตรวจสอบ เผยยังไม่มีหนังสือจากหน่วยงานให้ไปชี้แจง
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ
วานนี้ (22 มี.ค.) พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์ โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวถึงกรณีที่นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการสอบ สปสช. ว่า จากการหารือกันของประชาคมสาธารณสุข ได้มีมติร่วมกันว่า โรงพยาบาลทั่วประเทศจะยกเลิกการแต่งดำ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 และจะทำการปลดป้ายลงเพราะไม่อยากเป็นปัญหาของรัฐบาลที่ต้องคอยส่งทหารไปคุม
นอกจากนี้ ประชาคมจะมีการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี คาดว่ากรรมการของประชาคมสาธารณสุขจะไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ ภายในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ ในหนังสือที่จะยื่นให้นายกฯ นั้น จะเป็นการเร่งรัดในผลการสอบ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเร็วๆ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ปลัด สธ. และขอตั้งข้อสังเกตคณะกรรมการที่จะมาสอบสวนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) โดยเฉพาะ นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ที่มานั่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการในการสอบ สปสช.ครั้งนี้ เนื่องจาก นพ.สมชายโชติ เป็นกลุ่มเดียวกับแพทย์ชนบทและตระกูล ส ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ สปสช.
พญ.ประชุมพร กล่าวอีกว่า สำหรับข้อสังเกตที่ 2 คือคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบ สปสช.ระบุว่าการสอบข้อเท็จจริงดำเนินการสอบสวนเพื่อให้นำข้อเท็จจริงไปประกอบการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 70/2558 ต่อไป ดังนั้น หมายความว่าจะนำผลการสอบ สปสช.ที่ได้ไปประกอบการสอบ ปลัด สธ.อีก ซึ่งอาจเป็นการยื้อเวลา และคนสั่งก็ยังเป็นนายยงยุทธ ที่เราตั้งข้อสังเกตว่าอาจเอียงไปทาง สปสช.เพราะเคยออกมาบอกว่า สปสช.ผิดนิดเดียว เราจึงไม่วางใจ ด้วยเหตุนี้ทางประชาคมจึงมองเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบ สปสช.ว่าเพื่อลดกระแสเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ประชาคมอีกส่วนจะทำจดหมายเปิดผนึก ไปยื่นให้กับคณะกรรมการสอบปลัด สธ.ให้เร่งดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับปลัด สธ.โดยเร็ว และตามโรงพยาบาลต่างๆ จะมีการเชิญชวนให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปส่งจดหมายถึง 111 ประเด็นปลัด สธ.ไม่ได้รับความเป็นธรรม และให้ตรวจสอบ สปสช. และหากใครมีเฟซบุ๊กก็จะให้นำข้อความดังกล่าวไปโพสบนเฟซบุ๊กด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการกันภายในสัปดาห์นี้
วันเดียวกัน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. พร้อมให้ตรวจสอบทุกองค์กร และมีรายละเอียดในการชี้แจงทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น สตง. คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ป.ป.ท. หรือคณะกรรมการชุดล่าสุด ทาง สปสช.ก็พร้อมให้ข้อมูล แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือให้ไปชี้แจงใดๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับการตรวจสอบของ สตง.นั้น มีการตรวจสอบ สปสช.เป็นประจำทุกปี แต่ที่เป็นประเด็น คือ การตรวจสอบรายงานการเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีงบประมาณ 2554 และ 2555 ซึ่งทาง สตง.พบว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในฐานะ สปสช.สาขาจังหวัดขณะนั้น ในบางพื้นที่มีการดำเนินการที่ไม่มีกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์รองรับ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนด และพบปัญหาใน 8 จังหวัด ที่มีการใช้เงิน 560 ล้านบาทที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์
"เรื่องนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2557 ที่ผ่านมา สธ. กับ สปสช. ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ที่มีผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน โดย 1 ปีที่ผ่านมาจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์นั้น ส่วนใหญ่มาจากงบค่าเสื่อม ยกตัวอย่าง มีการนำเงินไปใช้ในเรื่องปรับปรุงอาคาร บ้านพักของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยทาง สตง.มองว่าผิดวัตถุประสงค์ เพราะต้องใช้ในการบริการสุขภาพ แต่ทางสปสช.มองว่าสามารถใช้ได้ โดยได้แจงข้อมูลว่า การนำไปใช้เพื่อบ้านพักของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นสิ่งจำเป็น เพราะในพื้นที่ต่างจังหวัดจะเดินทางไปกลับคงลำบากในการมาให้บริการสุขภาพประชาชนได้ ฯลฯ โดยทั้งหมดได้เสนอที่ประชุมบอร์ด สปสช.แล้ว และอยู่ระหว่างจัดส่งข้อมูลต่างๆ ให้ สตง.ต่อไป ขณะเดียวกันในการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมามีมติตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ในระดับพื้นที่ด้วย เพื่อให้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกขั้นตอนหนึ่ง" นพ.วินัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่เป็นข่าวว่าสร้างความเสียหายให้ รพ. 10 แห่งเป็นเงิน 2,000 ล้านบาท นพ.วินัย กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่า ข้อมูลเป็นอย่างไร แต่เท่าที่ทราบ สตง.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบครั้งแรกเมื่อปี 2554-2555 ข้อมูลที่ถูกตั้งข้อสังเกตและทาง สปสช.ทราบมีจำนวนเงิน 560 ล้านบาท ส่วนที่เป็นข่าวนั้นอาจมาจากกรณี สตง.ตรวจสอบการใช้งบดุลของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯปี 2556 แต่กรณีนี้ยังไม่ได้รับรายงานงบดุลจาก สตง.แต่อย่างใด
"ยงยุทธ" หาคนสอบปัญหา รพ.ขาดทุน
นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อมีปัญหา เกิดการกล่าวหากัน ไม่ลงรอยกัน แต่ทั้งนี้ต้องแยกเรื่องคือ สอบความไม่ชอบมาพากล การใช้งบประมาณ สปสช.กับสอบปลัดกระทรวงสาธาณสุข ไม่สามารถทำงานกับทีมการเมืองออกจากกัน ห้ามปนกัน และยังมีอีก 2 เรื่องที่ต้องดำเนินการควบคู่ คือ การตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีข้อมูลนำเสนอที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณ สปสช. ที่มี นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นประธาน และการสอบปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน ที่ก่อนหน้านี้มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) แต่นพ.ยุทธ ได้ลาออก เพราะไม่ได้รับความร่วมมือ ตอนนี้กำลังหาคนใหม่มาสอบ
เมื่อถามว่า หากผลสอบออกมาไม่ว่าทางใด หวั่นหรือไม่ว่าความขัดแย้งของกลุ่มแพทย์จะบานปลายออกไป นายยงยุทธ กล่าวว่า แพทย์แบ่งกลุ่มกัน ตนว่าเป็นธรรมชาติของคนที่มีความคิดความอ่านสูง เป็นตัวของตัวเอง แข็งๆ กันทั้งนั้น ซึ่งตนเคารพทุกฝ่ายค่อยๆ ทำไป แต่ก็หวังว่าแพทย์ทุกคนมีวิจารณญาณ พิจารณาได้ว่าอะไรที่ถูกต้อง อะไรที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ตนมองโลกในแง่ดี โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ มีไอคิวสูง เพราะฉะนั้นเรื่องต่างๆ พอออกมาคงพอเข้าใจกันได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 23 มีนาคม 2558
- 5 views