นสพ.มติชน : นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงแนวทางการทำงานด้านสาธารณสุขร่วมกันระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เนื่องจากเกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 หน่วยงาน กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งโยกย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ไปปฏิบัติงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี ฐานไม่สนองนโยบายรัฐบาล แต่ถูกบุคลากรในสังกัดจำนวนหนึ่งต่อต้านในรูปแบบอารยะขัดขืน
จะสร้างความเข้าใจกับผู้ใต้บังคับบัญชาที่เห็นต่างอย่างไร ?
นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งดังกล่าว สืบเนื่องจากรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ ยุทธวงศ์) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในประเด็น สป.สธ.ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่สนองนโยบายรัฐบาลและรัฐมนตรี นี่คือประเด็นหลัก เพื่อให้การสอบสวนราบรื่นขึ้นจึงต้องโยกย้าย นพ.ณรงค์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสอบฯ แต่มีการเชื่อมโยงว่าเกิดความขัดแย้งระหว่าง สป.สธ.และ สปสช. ตรงนี้ผมก็จะแก้ปัญหา โดยให้ทุกฝ่ายคุยกันมากขึ้น
ประเด็นที่เห็นต่างคือ ?
ความเห็นต่างที่ปรากฏในสื่อเป็นระยะๆ คือ กลไกการเงิน การจัดสรรงบประมาณลงไปที่หน่วยบริการหรือโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ทั่วประเทศ
สป.สธ.อยากให้ปรับการจัดส่งงบประมาณลงไปในบางกลไกให้คล่องตัวขึ้น เรื่องการจัดสรรงบประมาณปี 2558 ขณะนั้น ผมเข้ารับตำแหน่งในช่วงที่จะเริ่มปีงบประมาณใหม่อีก 10 วัน ซึ่งไม่สามารถปรับได้ทัน แต่ก็รับฟังข้อเสนอ และขอเวลา 2 เดือน โดยใช้กลไกของ สปสช. คือ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเงินการคลัง มีกรรมการทุกภาคส่วนร่วมพิจารณา แต่หลังจาก 2 เดือน ก็ยังตกลงกันไม่ได้ สป.สธ.จึงเสนอมาอีกในต้นเดือนธันวาคม 2557 แต่กรรมการมองว่ายังตัดสินใจไม่ได้ทันที จึงขอให้ไปดูข้อมูลและจำลองสถานการณ์การเงินก่อนว่า หากทำจริงจะเป็นอย่างไร และจุดนี้จึงทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันขึ้น จริงๆ เรื่องนี้เราต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงก่อน แต่ในที่สุดใช้เวลาอีก 1 เดือน ก็มีการเสนอเข้าบอร์ดฯ และตกลงกันได้
แต่ที่เป็นประเด็นคือ สป.สธ.รายงานว่าโรงพยาบาลขาดทุน เพราะส่วนหนึ่งมาจากการจัดสรรงบฯ ของ สปสช. และยังมีประเด็นอื่นๆ อีกที่เกี่ยวกับข้อมูลของทั้ง 2 องค์กร ที่ไม่ตรงกัน เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สป.สธ.กลับไม่ตอบสนอง
หมายความว่าปลัด สธ.ไม่ให้ความร่วมมือ ?
เมื่อผมแต่งตั้ง นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน หรือแม้แต่กรณี ปลัด สธ.เสนอข้อมูลอีกชุด เรื่องการบริหารจัดการและการจัดสรรเงิน ซึ่งไม่ตรงกับข้อมูลของ สปสช. บอร์ดฯ สปสช.จึงมีมติให้ตั้งคณะกรรมการกลางตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมี ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก สป.สธ. ผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ โดยคณะกรรมการชุดหลัง ปลัด สธ.ได้ทักท้วงว่า ศ.อัมมารไม่เหมาะสมเพราะเคยเป็นกรรมการใน สปสช.แต่ผมเรียนว่า ศ.อัมมาร ขณะนี้ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับ สปสช. ไม่ได้เป็นกรรมการใดๆ ที่สำคัญคือ ท่านมีความรู้ มีประสบการณ์เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ ดังนั้น ผมเห็นว่าคนจะมาดูปัญหาเรื่องนี้ควรมีความรู้พื้นฐานเป็นอย่างดี ซึ่งผมจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อ โดย ศ.อัมมารจะมาช่วยเรื่องนี้ ส่วนคณะกรรมการแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างทาบทามคนใหม่ เพราะ นพ.ยุทธได้ลาออกไปก่อนหน้านี้
จะทำอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายคุยกันได้ ?
ต้องสร้างบรรยากาศความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ผมได้พูดคุยกับหัวหน้าผู้ตรวจราชการฯ และผู้ตรวจราชการหลายคนให้ช่วยรวบรวมประเด็นปัญหาต่างๆ ว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นผมจะเชิญผู้บริหาร สปสช.มานั่งพูดคุยกันว่า เมื่อติดขัดเช่นนี้ จะแก้ปัญหาอย่างไร โดยปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากทั้ง สปสช.และ สป.สธ.พูดคุยกันน้อยไป และไม่ค่อยเข้าใจกันอย่างถ่องแท้ ดังนั้น เราอยากให้เริ่มต้นใหม่ ให้ สปสช. และ สป.สธ.พูดคุยกันมากขึ้น ติดขัดตรงไหนก็มาพูดคุยกัน มาคุยบนโต๊ะเจรจาดีกว่าไปคุยนอกห้อง ผมจะเป็นผู้ประสานเอง เพราะอยู่ดีๆ จะให้มาคุยกันเองคงยาก ผมจะกระตุ้น จะจัดประชุมและนั่งหัวโต๊ะประชุมทั้งสองฝ่าย โดยจะมีกระบวนการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะเราก็เป็นกลุ่มแพทย์เหมือนกัน ผมในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ได้มอบนโยบายว่า สปสช.ควรรับฟังความคิดเห็นอย่างเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ทำสำรวจความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศ จะเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไรให้ดียิ่งขึ้น
แต่โยกย้ายปลัด สธ.มีกระแสต่อต้าน ?
ผมอยากให้เข้าใจว่า การที่โยกย้ายปลัด สธ. เพราะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้น และการสอบ เพราะ สป.สธ.ไม่สนองนโยบาย และไม่สร้างความเป็นเอกภาพและสมานฉันท์ ปัญหาของ สปสช.เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ปัญหาทั้งหมด แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไร ให้รอผลสอบข้อเท็จจริงจะดีกว่า แต่ผมอยากให้บุคลากรในสังกัด สป.สธ.มั่นใจว่า เราจะพยายามคลี่คลายปัญหาที่ยังกังวลต่อ สปสช. หากประชาคมสาธารณสุขมองเห็นว่า เราไม่ได้ละทิ้งปัญหานี้ และเรามีความพยายามจะจัดการปัญหา ซึ่งผมในฐานะเป็นรัฐมนตรี และเป็นประธานบอร์ด สปสช. จะพยายามสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย และขอเชิญชวนให้ชาว สธ.ร่วมกันทำงาน และรีบผลักดันงานนโยบายของเรา เพราะเวลาของรัฐบาลมีจำกัด เราต้องใช้เวลาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รัฐบาลชุดนี้แตกต่างจากรัฐบาลอื่น เพราะไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง จึงต้องใช้จุดแข็งนี้ในการเดินหน้านโยบายที่เป็นประโยชน์ เพราะหากทำในเวลาปกติ อาจติดขัดปัญหาที่นักการเมือง ทำให้การทำงานบูรณาการยาก แต่รัฐบาลนี้ไม่มี ยิ่งปัญหาด้านสาธารณสุขด้วยแล้ว ยิ่งต้องทำงานร่วมกันหลายกระทรวงเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม
ลบความรู้สึกข้าราชการถูกรังแกอย่างไร ?
เท่าที่ทำมาตลอด คือ ผมจะยึดเอางานเป็นตัวตั้ง ผมลงไปสัมผัสกับผู้ปฏิบัติงานตามเขตสุขภาพต่างๆ เกือบ 10 เขต ภาพที่ผมเห็นในระดับผู้ปฏิบัติงาน ก็ตั้งใจทำงานดี ผมลงพื้นที่ไป เขาก็ชื่นชม และให้ความร่วมมือทำงานดี เช่น การผลักดันทีมหมอครอบครัว ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของเรา เพราะเรามีระบบหลักประกันสุขภาพที่เข็มแข้ง แต่ตัวเชื่อมระบบเป็นสิ่งสำคัญ นั่นคือ ทีมหมอครอบครัว และส่วนใหญ่ก็ไปได้ดี แต่เราจะขยายให้ทั่วมากกว่านี้
สรุปแล้วท่านขัดแย้งกับปลัด สธ.หรือไม่ ?
ผมไม่ได้ขัดแย้งกับปลัด สธ. ผมเพิ่งเคยทำงานร่วมกับ ปลัด สธ. ดังนั้น ยืนยันได้ว่าไม่มีปัญหาส่วนตัวแน่นอน ประเด็นนี้เกี่ยวเนื่องกับไม่สนองนโยบาย แต่ผมอยากให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมากกว่า ไม่อยากพูดไปก่อน
ปลัด สธ.บอกว่า แม้ตัวไม่อยู่ ปัญหายังคงอยู่ ?
ปัญหาของระบบสุขภาพ ไม่ใช่ปัญหาของบุคคลคนเดียว หรือคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องมองดูในภาพใหญ่ ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วย แต่สิ่งสำคัญคือ วิธีคิดในการทำงานร่วมกัน วิธีการมอง การปฏิสัมพันธ์ที่ดี หากมีวิธีคิดเชิงบวกก็เดินหน้างานไปได้
แสดงว่างานล่าช้าเพราะปลัด สธ. ?
ไม่ถึงกับล่าช้า หรือไม่เดินหน้า เพียงแต่มีความติดขัดเกิดขึ้น อย่างที่ผมบอกแล้วว่าท่านไม่สนองนโยบาย ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไร ขอให้รอผลการตรวจสอบนะครับ
ปลัด สธ.จะกลับมาก่อนเกษียณอายุราชการหรือไม่ ?
เรื่องนี้ผมไม่ทราบ อย่างที่ย้ำตลอดว่า ขอให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสอบฯ เพราะขณะนี้มีการตรวจสอบหลายเรื่อง และ สปสช.เอง ก็ถูกตั้งกรรมการสอบเช่นกัน
ภาพประนีประนอมของท่านหายไปหลังย้าย นพ.ณรงค์ ?
รัฐบาลชุดนี้มีเวลาจำกัด ผมอยากใช้เวลาทุกนาทีให้เกิดประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมา การทำงานร่วมกับ สป.สธ.ก็พยายามมาตลอดให้เกิดความก้าวหน้า ไม่ใช่ผมไม่พยายาม เราทำแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ก็ต้องเปลี่ยนแนวทาง
นับจากนี้งานจะเดินหน้าแน่นอน ?
หวังเช่นนั้นครับ ผมได้คุยกับ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ. ซึ่งขณะนี้ให้รักษาการแทนปลัด สธ. ก็เห็นสอดคล้องกับทิศทางงานที่เดินร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทีมหมอครอบครัว เพื่อคนไทยทุกคน หรือการแก้ปัญหาเด็กและวัยรุ่น รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ทุกอย่างต้องเดินหน้า ผมยืนยันว่าความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ ผมเติบโตในวัฒนธรรมที่มีความเห็นแตกต่างมาตลอด โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการก็คุ้นเคยดีกับความเห็นต่าง เพียงแต่ถ้ามีการเปิดรับฟัง มีกระบวนการในการรับฟังที่ดี ทุกอย่างก็ไปด้วยกันได้
นพ.รัชตะย้ำทิ้งท้ายว่า “ผมไม่ใช่นักการเมือง เข้ามาทำงานก็มุ่งหวังให้ชาติบ้านเมืองเดินหน้า ตลอด 6 เดือนที่รับตำแหน่ง แม้การทำงานจะไม่เต็มที่ เหนื่อยแต่ไม่เคยคิดท้อถอย”
ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 23 มี.ค. 2558
- 16 views