นสพ.มติชน : ในที่สุด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ถูกย้ายพ้นเก้าอี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยใช้เหตุผลเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีไม่สนองนโยบายรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการ สธ. มีผลตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม
นี่อาจเป็นทางออกที่รัฐบาลมองว่าจะยุติปัญหาระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) นำโดย นพ.ณรงค์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มี นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการ สปสช. ที่มีปัญหาร้าวลึก
จากปมจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกองทุนสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ถูกตั้งคำถามว่าจากการบริหารและจัดสรรเงินของ สปสช. ส่งผลให้โรงพยาบาลในสังกัด สธ.กว่า 1,000 แห่ง ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องขั้นวิกฤต หรือเรียกง่ายๆ ว่าขาดทุนกว่า 100 แห่งที่ นพ.ณรงค์ตั้งข้อสังเกต พร้อมทวงถามปัญหาต่อบอร์ด สปสช.มาตลอด
ขณะที่ทางบอร์ด โดย นพ.รัชตะได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานในการตรวจสอบโรงพยาบาลขาดทุน ปรากฏว่า นพ.ณรงค์ไม่เห็นด้วย และไม่เข้าร่วม จน นพ.ยุทธต้องประกาศลาออก
ขณะที่ข้อมูลการบริหารจัดการกองทุนที่ถูกตั้งข้อสังเกตนั้น นพ.รัชตะก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมี นายอัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน แต่ นพ.ณรงค์ใช้สิทธิแย้งว่า นายอัมมารไม่เหมาะสม เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังของบอร์ด สปสช.มาก่อน ถือเป็นเรื่องซ้ำซ้อน
จึงไม่แปลกที่ นพ.ณรงค์จะถูกมองว่าไม่ให้ความร่วมมือ แต่ นพ.รัชตะก็ยืนยันเดินหน้าต่อไป ไม่สนคำแย้งแต่อย่างใด
แม้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกนพ.รัชตะ และ นพ.ณรงค์เข้าหารือ จนนำไปสู่การหารือภายในห้องทำงานแบบสองต่อสองระหว่าง นพ.รัชตะ และ นพ.ณรงค์ แต่ไม่เป็นผล
เพราะปมแตกหักสำคัญอยู่ที่มีผู้เข้าร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้ตรวจสอบการบริหารงานของ สปสช. เนื่องจากบริหารไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ทับซ้อน ส่งผลให้ รพ.ขาดทุนมากมาย
หลังจากมีข่าวการสอบเกิดขึ้นเพียงวันเดียว ปรากฏว่าช่วงเช้าวันที่ 11 มีนาคม มีการส่งข่าวกันว่า ปลัดณรงค์ ถูกย้ายแล้วเป็นที่แน่นอน เรียกว่าย้ายแบบฟ้าผ่าเพราะผู้ที่ให้ข่าวคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลว่า นพ.ณรงค์ สมัครใจย้ายเอง
จึงเกิดคำถามในสังคมว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไร หรือการย้ายปลัดณรงค์ เพื่อยุติปัญหาขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีกับปลัดได้จริงหรือ ?
ถ้าพิจารณาจากคำพูดของ นพ.ณรงค์ที่ย้ำเสมอว่าความขัดแย้งมาจากปมความคิดในเรื่องแนวทางหลักการบริหารจัดการที่แตกต่าง
ดังนั้น หากย้อนไปกว่า 30-40 ปี จะเห็นชัดว่ากระทรวงสาธารณสุขมีปัญหามานาน ไม่ได้เริ่มที่ นพ.ณรงค์เท่านั้น แต่มาจากกลุ่มก๊วนที่มีแนวคิดในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศแบบก้าวหน้า เรียกว่ามองการณ์ไกล และไม่มุ่งแค่การแพทย์ระดับใหญ่เท่านั้น แต่เน้นการบริการปฐมภูมิเป็นสำคัญ
จุดเริ่มของกลุ่มก๊วนที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปมาจนทุกวันนี้คือ กลุ่มสามพราน ซึ่งมี นพ.ประเวศ วะสี เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนหลัก และตามมาด้วย นพ.วิชัย โชควิวัฒน นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ และ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ
กลุ่มสามพรานถือเป็นพี่ใหญ่ในการรวมพลของกลุ่มแพทย์ชนบท ทำงานเพื่อสังคมด้านสุขภาพ มีข้อมูลมากมายในการจับตารัฐบาลทุกยุคที่มีการทุจริต ถูกหยิบยกให้เป็นผู้นำของความเสมอภาค มีนโยบายในการประชุมร่วมกันทุกเดือน ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อนจนปัจจุบันก็ยังคงปฏิบัติ
โดยได้ผลักดันหน่วยงานตระกูล ส. ขึ้น เนื่องจากมองว่ากระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นมีความอ่อนแอ มีจุดอ่อนในทางราชการในการทำงานให้ประชาชน
องค์กรแรกคือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ตั้งขึ้นในปี 2535 จากนั้นศึกษาวิจัยต่างๆ จนเกิดองค์กรใหม่ๆ คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขึ้นในปี 2544 และต่อมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปี 2545 และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในปี 2550 ต่อมาในปี 2551 เกิดสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ขึ้น
จากการเกิดหน่วยงาน ส.ต่างๆ ขึ้นมากมาย จึงไม่แปลกที่กระทรวงสาธารณสุขจะมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝั่ง
ฝั่งแรก มองว่าปัญหาความขัดแย้งมาจากการเกิดหน่วยงานใหม่ๆ และกระทรวงสาธารณสุขถูกลดบทบาทลง อำนาจศักดิ์ศรีในการกำกับดูแลเริ่มน้อยลง โดยเฉพาะมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มี สปสช.เป็นผู้บริหารจัดการทางการเงิน การจัดสรรงบประมาณในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัวให้แก่โรงพยาบาลในสังกัด สธ.กว่า 1,000 แห่ง ทำงานภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สามารถพิจารณากำหนดสิทธิประโยชน์ และแนวทางการจัดสรรเงินต่างๆ ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นปมทำให้เกิดความขัดแย้งมานาน
ขณะที่อีกฝั่งมองว่า ปัญหาไม่ได้มาจากกระทรวงที่ต้องการกู้คืนอำนาจให้ตนเอง แต่เป็นเพราะหน่วยงาน ส. โดยเฉพาะ สปสช. มีอำนาจอิสระมากเกินไป เนื่องจากตัว พ.ร.บ.กำหนดอำนาจที่เป็นอิสระ และยังมีเกณฑ์ในการจัดสรรเงินที่ส่งผลต่อ รพ. ประสบปัญหาขาดทุน ที่ผ่านมาโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) มักพูดเสมอว่า สปสช.จัดสรรเงินให้ รพ.ในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัวที่ไปรวมเงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์ กล่าวคือ เมื่อสำนักงบประมาณอนุมัติงบเหมาจ่ายรายหัวมาจะรวมกับเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ด้วย และเมื่อหักเงินเดือนออกมา ตัวเงินเหมาจ่ายรายหัวก็จะได้น้อยลง
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) เคยให้ความเห็นว่าการบริหารเช่นนี้ ทำให้มีเงินค้างท่ออยู่กับ สปสช. เฉพาะโรงพยาบาลจังหวัด 18,000 ล้านบาท ขณะที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีก 2,500 ล้านบาท เมื่อหาข้อมูลย้อนหลัง จากการที่ สปสช.ต้องแจงข้อมูลกับทาง ครม. จะพบว่าในปี 2551-2553 สปสช.มีเงินค้างท่ออีก 33,900 ล้านบาท นอกนั้น ยังมีวิธีในการโอนเงินไปมาที่แปลกไม่เหมือนที่อื่น เนื่องจากบอกว่าเป็นการโอนเงินล่วงหน้าเพื่อให้โรงพยาบาลได้ใช้ประโยชน์ก่อน แต่ปรากฏว่ามีการเรียกเงินกลับคืนในจำนวนเท่ากัน แบบนี้หมายความว่าอย่างไร สมควรหรือไม่ที่ต้องตรวจสอบ
ซึ่งประเด็นของการบริหารของ สปสช. ไม่ได้เพิ่งมาเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้
แต่มีคนมองเห็นช่องโหว่ของกฎหมายหลักประกันฯ ที่ให้อำนาจบอร์ดมากมายคือ ในสมัย นพ.วัลลภ ไทยเหนือ เป็นปลัด สธ. ก็มีความขัดแย้งระหว่าง สปสช.เกิดขึ้น คือการขึ้นป้าย "30 บาทรักษาทุกโรค" จนนำไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่ง นพ.วัลลภมองว่าระบบไม่ดีพอ คำนึงถึงการเงินมากเกินไป ปราศจากพี่ช่วยน้อง ที่สำคัญมุ่งประชาสัมพันธ์
แต่ระหว่าง นพ.วัลลภมีปัญหากับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการ สธ. คดีคอมพิวเตอร์ สุดท้ายก็มีการสั่งย้าย นพ.วัลลภ ไปสำนักนายกรัฐมนตรี นพ.วัลลภยื่นใบลาออกทันที
สถานการณ์ขณะนั้นดูแล้วไม่แตกต่างกับการย้าย นพ.ณรงค์ แต่ต่างตรงที่ นพ.ณรงค์ไม่มีคดีอะไรที่แน่ชัด
จึงเกิดคำถามว่าข้อหาที่ว่าไม่สนองตอบนโยบายรัฐบาล คืออะไรกันแน่
เพราะก่อนที่จะสั่งย้ายปลัด สธ. มีผู้พบเห็น นพ.รัชตะหารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นมือกฎหมายรัฐบาล จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพราะเหตุนี้หรือไม่ จึงเป็นเหตุให้เกิดคำสั่งย้าย นพ.ณรงค์ ไปสำนักนายกฯ แต่ยังคงตำแหน่งปลัด สธ.อยู่ เรียกว่าให้ 2 ตำแหน่งควบ
ขณะเดียวกัน ก็มีการมองว่าความขัดแย้งครั้งนี้ที่ลุกลามไปถึงระดับบิ๊กรัฐบาล เพราะการสั่งให้สอบ สปสช.มาจาก "บิ๊กต๊อก" พล.ท.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สั่งการให้เลขาธิการ ป.ป.ท. ดำเนินการตรวจสอบ จึงถูกจับโยงว่าเป็นอีกผู้หนึ่งหรือไม่ที่คอยช่วยเหลือนพ.ณรงค์
ขณะที่ นพ.รัชตะก็ถูกมองว่าสนิทชิดเชื้อกับ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กลุ่มมหิดลด้วยกัน และยังมี พล.อ.ประวิตร แม้จะเป็น กลาง แต่ยังถูกมองว่าอยู่ฝั่งเดียวกับ นพ.รัชตะ
จนปมขัดแย้งดังกล่าวกลายเป็นกระแสข่าวสะพัดว่ามีการแบ่งฝ่ายในระดับบิ๊กระดับรัฐบาลชัดเจน ทั้งที่ความจริงอาจไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด เพราะ จริงๆ แล้วเรื่องดังกล่าว หากพิจารณาให้ดีๆ จะพบว่า มาจากปมปัญหาของคนในกระทรวง และควรจะแก้กันเองภายในกระทรวงมากกว่า
โดย นพ.รัชตะต้องแสดงความเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาของทั้งสองฝั่งอย่างประนีประนอม แต่ที่ผ่านมาฝั่งประชาคมสาธารณสุข และแพทย์โรงพยาบาลใหญ่มองว่า นพ.รัชตะตั้งทีมที่ปรึกษาที่ล้วนมาจากกลุ่มก๊วนตระกูล ส. ที่สำคัญคือตั้ง นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็น รมช.สาธารณสุข ซึ่งวงการสาธารณสุขรู้ดีกว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มสามพราน และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
ดังนั่น ถ้าจะแก้ปัญหาให้กระทรวงสาธารณสุขทำงานอย่างเป็นเอกภาพจริงๆ นั้นไม่อยาก เพียงแค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการด้วยความเป็นกลางและยุติธรรม
เพราะปัญหากระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ระบบโครงสร้างตามที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นไว้พร้อมระบุว่า การย้ายปลัดไม่ได้ตอบโจทย์และแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะ นพ.ณรงค์เป็นคนแข็ง ไม่ยอมอ่อนให้รัฐมนตรี เป็นตัวของตัวเอง ถือว่าเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ว่าจะย้ายออกไปแต่รากเหง้าของปัญหายังอยู่
"ต่อจากนี้รัฐมนตรีก็จะทำงานลำบาก เพราะถูกจับจ้อง หากทำงานไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่มีผลงานเท่ากับไม่มีความสามารถ และย้ายครั้งนี้ เป็นการพักปัญหาเท่านั้น" นพ.เจตน์กล่าวทิ้งท้าย
ดังนั้น นับจากนี้คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า นพ.รัชตะจะสามารถโชว์ศักยภาพแก้ปมขัดแย้งได้อย่างลงตัวหรือไม่ แต่หากไม่สามารถแก้ได้ระวังจะกลายเป็นปมที่จะเขย่าเสถียรภาพรัฐบาล
เพราะถ้าเหล่าแพทย์ออกมาเคลื่อนไหวย่อมไม่ธรรมดาเสมอ !!
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 13 มีนาคม 2558
- 4 views