หมอมงคลชี้ ข้อเสนอปรับบทบาทโรงพยาบาลชุมชนเป็นสาขาโรงพยาบาลจังหวัด เป็นแค่ 1 ในตัวอย่างสะท้อนว่า สธ.จำเป็นต้องปรับโครงสร้างให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม เผยโครงสร้างสธ.ปัจจุบันใช้มานานถึง 50 ปีแล้ว งานบางอย่างก็ไม่มีความจำเป็นกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ด้านหมอโกมาตรแจง ข้อเสนอถูกบิดเบือน กลายเป็นดราม่ายุบ รพช. แจงหลักการ ไม่ได้ยุบทิ้ง แต่ปรับระบบเพื่อพัฒนาศักยภาพ รพช.ให้เต็มที่ แนะ สธ.รื้อโครงสร้างครั้งใหญ่ ออกแบบระบบใหม่ โดยเฉพาะระบบส่งต่อผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข (สธ.) และ อดีต ปลัดกระทรวงสธ. เปิดเผยว่า ข้อเสนอการปรับเปลี่ยนโรงพยาบาลอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชน ให้เป็นสาขาของโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลจังหวัด โดยรับเฉพาะผู้ป่วยนอกและส่งต่อผู้ป่วยในให้โรงพยาบาลใหญ่ ที่เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ยกมาให้เห็นว่า สธ. ต้องมีการปรับโครงสร้างการทำงานเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคปัจจุบัน

นพ.มงคล กล่าวว่า โครงสร้างสธ.ปัจจุบัน เป็นโครงสร้างที่ใช้มานานถึง 50 ปีแล้ว และงานบางอย่างก็ไม่มีความจำเป็นในปัจจุบัน เช่น กองแผนงาน ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่คอยออกแบบสิ่งก่อสร้าง เพราะปัจจุบันสามารถจ้างเอกชนออกแบบอาคารแทนได้ หรือกองซ่อมบำรุง ถามว่ายังจำเป็นต้องมีหน่วยงานไว้คอยซ่อมตู้เย็น ซ่อมรถ ซ่อมอุปกรณ์หรือไม่ รวมทั้งศูนย์วิชาการของแต่ละกรมซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ทุกวันนี้ก็ทำงานน้อยลง ทำหน้าที่แค่ไปเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลหรือสาธารณสุขจังหวัดเท่่านั้น ไม่ได้มีการสร้างสรรค์ทางวิชาการเหมือนสมัยก่อน

แม้แต่เรื่องโรงพยาบาลชุมชนเอง ในอดีตมีเกณท์ว่าต้องมีโรงพยาบาลทุกอำเภอ แต่เมื่อมีอำเภอใหม่ๆแตกแขนงออกไปเรื่อยๆ หากใช้เกณฑ์ 1 อำเภอ 1 โรงพยาบาล ก็ทำให้โรงพยาบาลชุมชนที่ตั้งใหม่ มีจำนวนประชากรสำหรับเหมาจ่ายรายหัวน้อย

"เมื่อก่อนมีแค่ 700 กว่าอำเภอ แต่ปัจจุบันมีประมาณ 1,300-1,400 อำเภอ โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง ตกบ่ายมางานก็ไม่ค่อยมีแล้ว งานไปกองที่โรงพยาบาลศูนย์กับโรงพยาบาลทั่วไปหมด ก็ต้องมาดูกันว่าโครงสร้างที่เหมาะสมเป็นอย่างไร โรงพยาบาลชุมชนบางแห่งก็ต้องดูว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน อาจจะปรับเป็น OPD ของโรงพยาบาลใหญ่ เพราะถ้าจะตั้งโรงพยาบาลเต็มที่ก็ต้องมีการเซ็ทอัพชุดใหญ่ตั้งแต่หมอไปจนถึงภารโรง แต่ถ้ายุบเป็นโรงพยาบาลสาขา ก็ไม่ต้องมีวอร์ด ก็จะลดจำนวนคนทำงาน แล้วเอางานในวอร์ดลงไปทำในชุมชน จัดทีมแพทย์ลงไปดูแลแทน"นพ.มงคล กล่าว

ด้าน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสธ. กล่าวว่า ประเด็นเรื่องโรงพยาบาลชุมชนกลายเป็นดราม่าว่าจะยุบทิ้งซึ่งเป็นการบิดเบือนเพื่อให้เกิดการต่อต้าน เพราะโดยหลักการแล้วไม่ใช่การยุบทิ้งแต่เป็นการปรับระบบเพื่อใช้ศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนให้ได้เต็มที่

ทั้งนี้ หากจับกระแสในเรื่องนี้จะพบว่ามี 2 แนวคิด คือ1.ปรับโรงพยาบาลชุมชนให้เป็น OPD รับเฉพาะผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยฉุกเฉินให้โรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งก็สมเหตุผลเพราะเมื่อเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก มีประชากรในพื้นที่น้อย มี 10-30 เตียง ก็ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาประจำ อัตรากำลังของแพทย์มีไม่กี่คน คนไข้ก็ไม่นิยม พากันไปโรงพยาบาลใหญ่ๆหมด แต่หากปรับใช้้เป็นรูปแบบนี้แล้วให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวียนกันออกมาตรวจ จะทำให้โรงพยาบาลให้บริการแก่ประชาชนได้สะดวกขึ้น

แนวที่คิด 2. คือการทำโรงพยาบาลชุมชนให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง เช่น โรงพยาบาลใหญ่ๆ จะมีแผนกต่างๆ อาทิ แผนกรังสีรักษา เป็นต้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือที่โรงพยาบาลสงขลาซึ่งมีโรงพยาบาลชุมชนรายล้อมอยู่รอบๆ หลายแห่งและประชาขนก็ไม่นิยมไปใช้บริการ แต่แผนกรังสีรักษาของโรงพยาบาลสงขลากลับมีผู้ไปใช้บริการจนคนแน่นไปหมด ต่อมาก็มีการปรับโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงให้เป็นศูนย์รังสีรักษา ประชาชนก็ไปรักษาที่ใหม่มากขึ้น ช่วยลดความแออัดที่โรงพยาบาลสงขลาลง

นอกจากนี้การปรับโรงพยาบาลชุมชนให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง ก็ทำให้วิธีการรับเงินค่ารักษาเปลี่ยนไป จากเดิมที่รับแบบเหมาจ่ายรายหัวก็เปลี่ยนมาเป็นรับตามคุณภาพการรักษา ช่วยลดปัญหาการเงิน และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็มีความสุข รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ไม่ได้อยู่เฉยๆ เหมือนเดิม

"2 แนวคิดนี้ดีทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับทางเขตหรือจังหวัดจะมองภาพรวมอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่"นพ.โกมาตร กล่าว

ขณะเดียวกัน ในประเด็นเรื่องการปรับโครงสร้างสธ.ให้สอดคล้องกับภาวะสังคมในปัจจุบัน นพ.โกมาตรมองว่า จำเป็นต้องมีการออกแบบระบบการส่งต่อผู้ป่วยใหม่ ให้มีประสิทธิภาพไร้รอยต่อกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่นบางประเทศ ผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชนจะทราบเลยว่าต้องไปนอนรักษาที่ตึกไหน แพทย์คนไหนเป็นคนรักษา แล้วญาติที่มาเฝ้าไข้จะนอนที่ไหน มีการออกแบบถึงขั้นมีระบบจิตอาสารอบๆ พื้นที่โรงพยาบาลให้ญาติผู้ป่วยสามารถไปนอนพักในบ้านชาวบ้านในพื้นที่ได้ แต่เมื่อดูเมืองไทย แค่เรื่องญาติผู้ป่วย เวลาถูกส่งต่อไปโรงพยาบาลใหญ่ ส่วนใหญ่จะเห็นญาติที่มาเฝ้าไข้ต้องไปนอนที่ระเบียงเพราะไม่มีการออกแบบระบบไว้ เป็นต้น

นพ.โกมาตร กล่าวว่า สธ.จำเป็นต้องมีการปรับระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้ดีขึ้น ซึ่งถ้าต้องทำให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ก็ต้องรื้อโครงสร้างครั้งใหญ่ ทั้งระบบการบริหาร ระบบการเงินการคลังหรือแม้แต่ระบบการแชร์ทรัพยากรหรือบุคลากรร่วมกัน

"มันต้องออกแบบระบบใหม่ ถ้าไปมองที่ฐานคิดแบบเดิมมันก็เถียงกันไปแบบนี้ ผมไม่อยากให้ต่อความยาวสาวความยืดเรื่องวาทกรรมยุบหรือไม่ยุบโรงพยาบาลชุมชนเพราะมันไม่มีประโยชน์ เอาเวลาไปออกแบบระบบดีกว่า"นพ.โกมาตร กล่าว