ปลัดสธ.ประชุม ผอ.รพช./รพท./รพศ. ทั่วประเทศ ชี้แจงแนวทางการปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ และรับฟังความคิดเห็นด้านการบริหารราชการจากส่วนภูมิภาค พร้อมเดินหน้าปฏิรูประบบสาธารณสุข 3 ด้าน คือ ธรรมาภิบาล การจัดระบบบริการด้วยเขตสุขภาพ และระบบการเงินการคลัง
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมแนวทางการปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ และรับฟังความคิดเห็นด้านการบริหารราชการจากส่วนภูมิภาค โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จังหวัดละ 2 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม จำนวน 150 คน โดยกล่าวว่าวันนี้เป็นการคุยกันแบบพี่-น้อง ถึงสิ่งที่ในส่วนกลางกำลังทำ กำลังคิดและกำลังจะเดินต่อไป ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนเป็น 1ใน 5 เสือของกระทรวงสาธารณสุข เป็นส่วนสำคัญในการจัดระบบสาธารณสุขในอนาคตของประเทศ เรื่องที่อยากจะสื่อสารในวันนี้มี 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่อยากจะให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและอยากได้มุมมองในฐานะที่เป็นกำลังหลักในการจัดบริการในพื้นที่ ตามแนวทางการปฏิรูประบบสาธารณสุขแบบเขตสุขภาพ
เรื่องที่ 1.ธรรมาภิบาลในระบบสาธารณสุข เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาบอกประชาชนว่าอยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทยรวมทั้งในกระทรวงสาธารณสุขด้วย สิ่งที่เริ่มทำคือ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดซื้อยา และเรื่องค่าตอบแทน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ถูกร้องเรียนไปที่ ปปช.มากที่สุด ได้มีการแก้ไข เกิดระบบทั้งการจัดซื้อยาร่วม เกณฑ์จริยธรรมในการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้เงินสวัสดิการ ล่าสุด ครม.ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีมติให้จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ร่วมกันในระดับเขตสุขภาพทั้ง 12 เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารรสุขได้ นอกจากนี้ยังดำเนินการในเรื่องธรรมาภิบาลในการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งมั่นใจว่า กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่นๆในประเทศ
เรื่องที่ 2.การจัดบริการในรูปแบบเขตสุขภาพ เป็นประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าทำมา 3-4 ปีแล้ว เป็นการจัดบริการร่วม เลยไปถึงการบริหารจัดการร่วม สิ่งที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้คือ เราไม่สามารถย้ายคนได้โดยกลไกเงินเดือน โดยย้ายคนไปทำงานในที่ๆ มีเงินได้ ที่ทำได้คือการกระจายงาน จึงเกิดเป็นการจัดบริการร่วมกัน ช่วยกันดูทรัพยากรในเขต โดยมีเป้าหมายที่ประชาชน เช่นที่ จ.สงขลามีโรงพยาบาลที่มีประชากรน้อย ไม่มีผู้ป่วยนอนรักษา คือที่โรงพยาบาลนาหม่อม ได้ปรับเป็นโรงพยาบาลมะเร็ง หรือโรงพยาบาลบางกล่ำ ที่เป็นศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ของจังหวัด หรือที่โรงพยาบาลสันทราย ที่ปรับเป็นหอผู้ป่วยรองรับไอซียูทารกแรกเกิด ช่วยโรงพยาบาลนครพิงค์ เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ประชาชนเชื่อมั่น เข้ามารับบริการ ไม่แออัดในโรงพยาบาลใหญ่ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกมีคุณค่าที่ได้บริการประชาชน
เรื่องที่ 3.ระบบการเงินการคลัง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ สปสช.ให้มีการปรับวิธีการจัดสรร เนื่องจากมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้น จากการทำงานมาในรอบ 12 ปี ทั้งความเหลื่อมล้ำในการจัดบริการประชาชนจากงบค่ารายหัวไม่เพียงพอ ประชากรเบาบาง โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงิน การใช้กลไกการเงินนำการทำงาน การถูกเรียกกลับเงิน โดยข้อเสนอต่อสปสช.ได้แก่ งบเหมาจ่ายรายหัว ให้ดำเนินการบริหารในรูปแบบเขตสุขภาพ, บูรณาการ 9 หมวด เป็น 4 กลุ่ม คือ บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป บริหารระดับจังหวัด บริการผู้ป่วยในทั่วไป บริหารระดับเขต บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริหารระดับอำเภอ โดยใช้กลไกระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ(DHS), การบริหารเงินเดือนระดับเขต และกำหนดตัวชี้วัดเป้าหมายรายเขต
ทั้งนี้ได้รับฟังปัญหาข้อเสนอแนะจากตัวแทนโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ที่สะท้อนปัญหาการจัดสรรเงินและระบบเขตสุขภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในบางพื้นที่กำลังทำลายวัฒนธรรมที่ดีของระบบ มีการทวงถามเรื่องเงินในระหว่างการส่งต่อผู้ป่วยส่งผลให้ความสัมพันธ์ลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลในระยะยาวได้ เป็นต้น ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้จะได้นำมาปรับให้เหมาะสมในการพัฒนาระบบสุขภาพต่อไป
- 5 views