ในการให้บริการสุขภาพในเซียงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากถึง 24 ล้านคน โรงพยาบาล People’s Number One ดำเนินการคล้ายกับเป็นสายการผลิตบริการสุขภาพ ภาพโดย: Xiaoyang Liu/Corbis
The Guardian : ประชาชนที่อยู่ในสหราชอาณาจักรมีความภูมิใจอย่างมากในระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ หรือ National Health Service (NHS) ประมาณ 70% ของประชาชนเลยทีเดียวที่บอกว่าระบบบริการสุขภาพ (NHS) คือหนึ่งในระบบบริการสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก
แต่บางครั้งความภูมิใจในตัวเอง ก็กลายเป็นสิ่งที่กลับมาครอบงำความคิดของเราเองได้ เช่น ในการที่จะทำการพัฒนาหรือปรับปรุงระบบอาจทำให้เกิดกรณีเส้นผมบังภูเขา มองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง หรือให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภายในระบบมากจนเกินไป ทำให้มองไม่เห็นวิธีการอื่นๆ ที่ประเทศอื่นเขาทำกันและทำได้ดีด้วย ซึ่งจะดูได้จากผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพที่ดีขึ้น ทำให้ต้องกลับมาทบทวนตนเองหลังจากที่กลับจากการดูงานที่เซียงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งที่นั่นต้องให้บริการแก่ผู้ป่วยมากกว่า 3 ล้านรายการ (ขั้นตอนการรักษาตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการรักษาจนถึงขั้นตอนการจำหน่ายผู้ป่วย) ต่อปี
ในขณะที่โลกตะวันตกอย่างเรายังคงมองว่าประเทศจีนกำลังเล่นวิ่งไล่จับกันอยู่ แต่ตอนนี้เซียงไฮ้ได้กลายเป็นเมืองที่ทันสมัยไปแล้ว และอาจจะพูดได้ว่าเซียงไฮ้เหมือนเป็นโลกแห่งอนาคตไปแล้วด้วย ลองนึกภาพดูว่าใต้ดินมีระบบปรับอากาศ มีตึกระฟ้าสูงสวยงามมากมาย และคนที่นั่นก็เสพติดการใช้สมาร์ทโฟนเป็นอย่างมาก
ระบบการให้บริการด้านสุขภาพในเซียงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรสูงถึง 24 ล้านคน จะอยู่ภายใต้การจัดการของโรงพยาบาล Shanghai People’s Number One ซึ่งจากการไปดูงานครั้งนี้ทำให้เห็นว่า การให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้ป่วยจำนวนมากๆ ที่ไม่มีระบบบริการปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นอย่างไร
เพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ให้ลองคิดว่า โรงพยาบาลนี้เปรียบเสมือนสายการผลิตสำหรับระบบสุขภาพ ที่นั่นมีบริการห้องสุดหรูพร้อมกับการติดกล้องไว้สำหรับติดตามผู้ป่วย ซึ่งแต่ละห้องก็จะมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยมากกว่าโรงพยาบาลในสหราชอาณาจักรถึงสองเท่าเลยทีเดียว คนไข้ที่มาที่โรงพยาบาลจะได้พบแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า แล้วเข้าสู่กระบวนการรักษาซึ่งใช้เวลารอไม่นาน ในห้องที่เรียกว่า มีความหรูหราระดับน้องๆ โรงละครเลยทีเดียว ซึ่งครอบครัวของผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่จะนั่งรอในห้องรับรองขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ติดกับห้องผู้ป่วย
ตอนนี้ดิฉันไม่ได้อยู่ที่สหราชอาณาจักรแล้ว แต่เราอาจจะสามารถนำวิธีการของเซียงไฮ้มาใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยได้ วิธีการนี้เป็นวิธีที่ช่วยทำให้เซียงไฮ้สามารถจัดการกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ได้ นั่นคืออัตราผู้ป่วยต่อแพทย์ที่ค่อนข้างสูงมากนั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว ประเทศจีนยังมีอะไรที่ทำให้ดิฉันรู้สึกประหลาดใจได้อีก ตัวอย่างเช่น มีการใช้ระบบบันทึกข้อมูลผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อรับมือกับปัญหาของจำนวนผู้ป่วยที่มีอยู่อย่างมหาศาล ซึ่งนี่ก็ยังเป็นเรื่องที่สหราชอาณาจักรเองยังคงเผชิญปัญหาอยู่พร้อมๆ กับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ซึ่งประเทศจีนไม่ใช่ประเทศเดียวเท่านั้นที่แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาของพวกเขาต่อสายตาของประเทศอื่นๆ แต่ยังมีอีกหลายตัวอย่าง เช่น กรณีของประเทศเดนมาร์ก ในประเทศเดนมาร์กมีการจัดทำมาตรฐานสำหรับเทคโนโลยีด้านสุขภาพและการปรับโครงสร้างโรงพยาบาล ประเทศออสเตรเลียกับวิธีการปรับรูปแบบกองทุนใหม่ ซึ่งเป็นการทำให้มีการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างถ้วนหน้า และการเข้าไปจัดการระบบประกันสุขภาพภาคเอกชนเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบต่อผู้ประกันตนที่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่ป่วยอยู่ก่อนหน้าที่จะทำประกันสุขภาพ หรือกรณีวิธีการของชาวนอร์เวย์ ที่มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบการแบ่งปันข้อมูลด้านสุขภาพและระบบการลงทะเบียนของผู้ประกันตน
จุดประสงค์ของการเขียนครั้งนี้ เพื่ออยากจะชี้ให้เห็นว่า มีตัวอย่างมากมายทั่วโลกที่พร้อมให้เราได้เรียนรู้ เราเองก็ควรจะมองออกไปจากนอกสหราชอาณาจักรเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด หรือเรื่องตัวยาใหม่ๆ เราอ่านวารสาร เอกสารต่างๆ ที่เรามีความรู้ความเชี่ยวชาญจากทั่วทุกมุมโลก อย่างไรก็ตาม มันเป็นเรื่องที่หาได้ยากที่จะมีผู้นำด้านสุขภาพในโรงพยาบาลของเรา ซึ่งไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางด้านสุขภาพโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น ผู้อำนวยการและคณะกรรมการการเงินการคลัง คณะผู้บริหาร เหล่านี้เป็นต้น ที่จะเข้ามานั่งถกเถียงถึงประเด็นต่างๆ และตัดสินใจกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระดับประเทศ และก็จะเห็นว่าไม่ค่อยมีการนั่งพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนมุมมองกันเลยระหว่างแพทย์และผู้บริหารโรงพยาบาล
ที่คลินิคของ นพ.ฟอสเตอร์ เราได้จัดทำระบบเครือข่ายของผู้บริหารและแพทย์จากกลุ่มโรงพยาบาลที่มีความก้าวหน้าจากทั่วโลก เรียกว่า “Global Comparators” ซึ่งสามารถเปรียบเทียบและตรวจสอบข้อมูลด้านผลลัพธ์สุขภาพระหว่างกลุ่มเครือข่ายได้ เพื่อนำไปประกอบการปฏิบัติงานด้านคลินิกและด้านนโยบาย
ที่กล่าวมานั้นถือว่าเป็นการสร้างความร่วมมือในการทำการวิจัยระหว่างประเทศ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้มีข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับความแตกต่างของแต่ละระบบว่าเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ในงานสัมมนาครั้งล่าสุดที่ผ่านมาที่ลอนดอน เราได้รับรู้จาก เปรม ชนา (Prem Chana) จากศูนย์เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและคุณภาพการบริการ (the Centre for Patient Safety and Service Quality) จาก วิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน ที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการผ่าตัดฉุกเฉินทางหน้าท้อง ซึ่งเป็นการเจาะผ่านเข้าไปทางช่องท้องเพื่อทำการผ่าตัดอวัยวะภายในช่องที่มีความเสี่ยงสูง ผลการศึกษาของเขา พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมากในอัตราการตายใน 30 วัน ระหว่างอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย โดยที่อังกฤษมีผลที่ถือว่าแย่ที่สุด และสิ่งนี้เองที่ทำให้ค้นพบว่าจริงๆ แล้วระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินของสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียนั้นมีประสิทธิภาพกว่าระบบของอังกฤษอย่างมาก
ในขณะเดียวกัน การดูแลโรคหลอดเลือดสมอง ศาสตราจารย์จิม มู ลี จากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัย
วอชิงตัน บอกกับเราว่า ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่มีอัตราการตายที่สูงที่สุดในปี 2005 (พ.ศ.2548) พบว่ามีการลดลงของอัตราการตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีอย่างมากอย่างที่ไม่เคยเห็นในประเทศอื่น
ดังนั้น ในขณะที่เรากำลังมองไปยังทิศทางข้างหน้าของระบบบริการสุขภาพ NHS และเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยภายใต้การใช้ทรัพยากรทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เราควรจะเปิดโลกทัศน์ของเราบ้าง เพราะเป็นอย่างที่รู้ว่าไม่มีระบบสุขภาพของประเทศใดจะสมบูรณ์แบบไปทั้งหมด แต่จะมีของดีๆ บางอย่างที่รอให้เราไปหยิบจับมาใช้ในการพัฒนาระบบของเราได้ ซึ่งเราก็จำเป็นต้องหาให้เจอ
ถ้าเราหาสิ่งนั้นเจอแล้ว เราอาจจะไม่ต้องเสียแรงในการมาคิดค้นอะไรใหม่ให้เสียเวลา เราสามารถนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้
- 728 views