ปลัดสธ.มอบ 4 แนวทางขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพของกระทรวงสาธารณสุข 1.กลไกตรวจสอบระดับชาติ 2.ปรับระบบบริการเป็นเขตสุขภาพ 3.กลไกการบริหารการเงินการคลัง และ 4.ระบบธรรมาภิบาลแก่ นพ.สสจ. ผอ.รพศ./รพท.ทั่วประเทศ พร้อมเร่งขับเคลื่อนเขตสุขภาพให้มีทิศทางและวางแผนให้ชัดเจนยิ่งขึ้นให้เสร็จในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2558) ที่ จ.นครราชสีมา นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวในการประชุมถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อขับเคลื่อนกระทรวงสาธารณสุข แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ ว่า แนวทางปฏิรูปเพื่อขับเคลื่อนระบบบริการกระทรวงสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นมี 4 แนวทาง คือ
1.กลไกการตรวจสอบระดับชาติ โดยให้มีคณะกรรมาธิการสาธารณสุขเพื่อดูแลระบบการติดตามและตรวจสอบ กลไกและทิศทางการดำเนินงานในยุทธศาสตร์ต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
2.ปรับระบบบริการสุขภาพเป็นเขตสุขภาพ ให้เกิดการกระจายการดูแลประชาชนได้ทั่วถึง ลดอัตราการกระจุกตัวของผู้ป่วยไว้ที่ส่วนกลาง พร้อมให้สถานบริการสาธารณสุขสามารถวางแผน วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค และความต้องการที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ได้รวดเร็ว และกำหนดแนวทางการทำงานได้ชัดเจนขึ้น มีการแต่งตั้งโยกย้ายด้วยความเป็นธรรม บริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้ง คน เงิน และทรัพยากร
3.กลไกการเงินการคลัง มี 3 กองทุนใหญ่ คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ โดยเฉพาะในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดูแลประชาชนส่วนใหญ่ เน้นการจัดสรรเงินให้มีธรรมาภิบาลและมีประสิทธิภาพ ไม่แตกเป็นกองทุนย่อยมากเกินไป จนทำให้ขาดประสิทธิภาพ
4.ระบบธรรมาภิบาล ให้มีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยความโปร่งใส ต้องติดตามตรวจสอบการทำงานในทุกส่วน ตั้งแต่ภายในจนถึงระดับจังหวัด โดยผู้บริหารจะต้องวางระบบการตรวจสอบ หากพบความผิดปกติในการทำงานทุกเรื่อง ให้ติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและกล้าที่จะเปิดเผย (voice and watch) ซึ่งมีประชาคมสาธารณสุขเป็นผู้ปกป้องระบบ
นพ.ณรงค์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้เร่งให้เขตสุขภาพแต่ละเขตวางแผนและกระบวนการขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อให้ดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยให้ประธานและเลขาของแต่ละสาขาบริการจัดประชุมร่วมกัน และใช้ข้อมูลบริบทของแต่ละพื้นที่ประกอบการวางแผนการดำเนินงาน แก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้มีความชัดเจน ตรงจุด เช่น สถานบริการสาธารณสุขมีความจำเป็นต้องเพิ่มเตียงนอนผู้ป่วย ก็ให้วางแผนมาให้ชัดเจน อาทิ จำนวนเตียง สถานที่ งบประมาณ บุคลากร และเสนอต่อการประชุมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ พร้อมเริ่มติดตามความก้าวหน้าและตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของเขตสุขภาพในช่วงกลางเดือนเมษายน 2558 นี้เป็นต้นไป สำหรับงบประมาณการดำเนินงานทั้ง 10 สาขา ได้กำหนดเป็นโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างเพียงพอแล้ว
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ ต้องดำเนินการจัดบริการรองรับปัญหาสุขภาพสำคัญของประเทศไทย คือ โรคที่มีอัตราการป่วย ตาย รวมถึงโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง 10 สาขา ได้แก่ 1.หัวใจและหลอดเลือด 2.อุบัติเหตุ 3.ทารกแรกเกิด 4.มะเร็ง 5.ตาและไต 6.ผู้ป่วย 5 สาขาหลัก 7.โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง 8.ทันตกรรม 9.สุขภาพจิตและจิตเวช และ10.บริการปฐมภูมิ และสุขภาพองค์รวม เชื่อมโยงกันทั้งการรักษาพยาบาลและการป้องกันเพื่อลดการเจ็บป่วย
ทั้งนี้ สาขาการบริการที่โดดเด่นมีสาขาหัวใจและหลอดเลือด อุบัติเหตุ มะเร็ง และทารกแรกเกิด รวมถึงบริการปฐมภูมิ ซึ่งขณะนี้ได้ขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับพื้นที่โรงพยาบาล เช่น โรคมะเร็ง ในภาคอีสานจะเน้นการรักษามะเร็งท่อน้ำดีมากกว่ามะเร็งอื่นๆ เนื่องจากอาหารที่ประชาชนบริโภคมีความเสี่ยงให้เกิดโรคได้ง่าย โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยจะได้รับยาและการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันและมีมาตรฐานเหมือนกัน บริการปฐมภูมิเน้นหมอครอบครัวที่ครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้รับบริการที่มีคุณภาพ
- 4 views